5 อาการอกหัก อกหักสายไหน เสี่ยงโรคหัวใจ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่ากัน
เมื่อเกิดความรักร่างกายจะผลิตสารแห่งความสุข เช่น ฟีนีไทลามีน (Phenylethylamine) โดพามีน(dopamine) เอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) สารเหล่านี้จะทำให้มีความสุข รู้สึกร่าเริง กระปรี้กระเปร่า แต่ในทางตรงกันข้าม หากอกหัก สมองจะสั่งไม่ให้หลั่งสารเหล่านี้ออกมาอย่างฉับพลัน ทำให้รู้สึกหมดกำลังใจ ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไร นอกจากนี้ร่างกายจะมีปริมาณฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ไม่อยากทำอะไร อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางกาย เพราะเมื่อเกิดความเครียด ย่อมส่งผลต่อหลอดเลือดของหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้น้อยลง
การอกหักเป็นความไม่สมหวัง ความผิดหวัง ส่งผลให้เกิดความเสียใจ แต่จะเสียใจนานแค่ไหน หรือ มีพฤติกรรมหลังอกหักอย่างไร ขึ้นกับประสบการณ์ของแต่ละคน อกหักสายไหน เสี่ยงโรคหัวใจ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่ากัน
1.อกหักสายกิน (แหลก)
สายนี้บรรเทาความเครียด ความผิดหวังด้วยการกิน ทั้งของที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ แม้อาการช่วงแรกที่มีผลมาจากความเครียดอาจกินอะไรไม่ค่อยลง จากนั้นไม่นาน จะเริ่มมีอาการอยากกิน จนกลายเป็นคนกินจุ มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตามมาได้
เพราะเมื่อเกิดความเครียด ระดับฮอร์โมนคอติซอลที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ระดับอินซูลินสูงขึ้นตาม ทำให้ร่างกายอยากของหวานมากขึ้น นอกจากนั้นในบางรายที่นอนดึก นอนไม่หลับ จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนความหิว เกรลิน ออกมามากผิดปกติ ทำให้อยากกินน้ำตาล อาหารไขมันสูง อาหารรสเค็ม มากเป็นพิเศษ
หากไม่ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย โรคอ้วนจะตามมาได้ เมื่อมีภาวะอ้วน จะส่งผลให้เกิดการอักเสบซ่อนเร้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ
2.อกหักสายเมา (มาย)
สายนี้ถ้าปล่อยให้ อกหักดื่มแอลกอฮอล์ ที่มี เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) หรือ เอทานอล (Ethanol) เป็นสารที่แปรรูปด้วยการกลั่นและหมักจากข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ผลไม้ โดยความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเบียร์ อยู่ที่ประมาณ 5% ไวน์ประมาณ 12% สุรากลั่นประมาณ 40%
แอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเป็นประสาทที่ควบคุมความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งหากดื่มเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้มีอาการง่วงซึม ขาดสติได้
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณสูงติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เลือดข้นเหนียวขึ้น จับตัวกันเป็นลิ่มและอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่หัวใจและสมอง นอกจากนี้ คนที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงเป็นเวลานานจะทำให้ระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL) หรือไขมันดี ในเลือดลดต่ำลงด้วย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับอ่อนอักเสบได้
3.อกหักสายร้องไห้ (ฟูมฟาย)
สายนี้เมื่อบอกโดนเลิกปุ๊บ จะมีอาการเสียใจอย่างรุนแรงจนร้องไห้หนักมาก บางคนร้องข้ามวันข้ามคืน เสียใจไปหลายเดือน ใครที่เคยมีเพื่อนอยู่สายนี้จะเข้าใจเป็นอย่างดี สายฟูมฟายนี้ หากปล่อยไว้นานจนเกินไปจะเสี่ยงต่อการเกิด Broken Heart Syndrome ภาวะหัวใจสลาย มากกว่าสายอื่น เพราะเป็นสายที่ไม่สามารถยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลย
ภาวะหัวใจสลาย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Stress-induced Cardiomyopathy หรือ Takotsubo Cardiomyopathy หรือ Apical ballooning syndrome คือ ภาวะที่ความสามารถในบีบตัวของหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน โดยสาเหตุของโรคยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ทางการแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมน Catecholamine ที่สูงขึ้นเฉียบพลันจากความเศร้าเสียใจหรือความเครียดอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
4.อกหักสายไม่ (เคย) ว่าง
สายนี้แม้จะมีอาการเสียใจ แต่มักจะหาใครมาแทนที่ได้ทันที เพราะสายนี้จะมีอาการเหงาหรือฟุ้งซ่านตลอดเวลา บางรายจะไปเที่ยวตามสถานบันเทิง เล่นแอพหาคู่เพื่อหาเพื่อนคุยแก้เหงา มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด จนกว่าจะทำใจได้ สายนี้แม้จะไม่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ แต่หลายรายติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เนื่องจากไม่ได้ป้องกันและมีคู่นอนหลายคน จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย
5.อกหัก สายชิลล์
สายนี้เสียใจ ร้องไห้ได้ไม่นาน หลายคนเข้าวัด ฟังธรรม หรือ มีเพื่อนคอยเตือนสติจน ตกผลึกปัญหาจนผ่านไปได้อย่างเข้มแข็ง บางรายมีประสบการณ์อกหักมาหลายครั้ง สุดท้ายเมื่อตั้งสติ เรียนรู้จากอดีต จะค่อย ๆ เห็นตัวเอง ปลอบใจตัวเอง ยอมรับความจริง ไม่โกรธ จนในที่สุดก็สามารถผ่านปัญหานี้ไปได้ เช่นกัน ซึ่งจัดว่าเป็นสายที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพใด ๆ
การดูแลตนเองจากอาการ “อกหัก”
หากอกหักจนมีความเครียดสะสมนานเกินไป นอกจากจะทำให้สุขภาพจิตไม่ดี ระยะยาวส่งผลให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และ โรคหัวใจ ดังนั้น การลดความเครียดคือทางออกที่ดีที่สุด
- พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เครียด ให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น ยอมรับความจริง ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาใดในชีวิต การอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงจะทำให้สามารถรับรู้ เข้าใจปัญหาจนสามารถก้าวผ่านมันไปได้ ตัดใจ ปล่อยวาง อย่าจมปลักนาน ลุกขึ้นมาก้าวต่อไป
- เลิกหมกมุ่น ไม่หมกมุ่นกับปัญหา หรือเก็บเอาปัญหามาคิดซ้ำ ๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะยิ่งทำให้ทุกข์ใจหนักกว่าเดิม เก็บสิ่งที่ทำให้นึกถึงวันเก่า ๆ ออกไปให้พ้นสายตา หมั่นออกกำลังกายบ่อย ๆ ลดอาการฟุ้งซ่าน (ควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน)
- กลับไปใช้ชีวิต ดำเนินกิจวัตรประจำวันเหมือนเดิม เพื่อกระตุ้นให้สมองกลับมาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มกระตุ้นประสาท
- พูดคุย หาที่ปรึกษาที่ดี การจมปลักอยู่กับปัญหาเพียงคนเดียวอาจจะทำให้หาทางออกไม่เจอ การพบปะ ขอคำปรึกษาจากคนอื่นจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้ได้เห็นมุมมองอีกด้านหนึ่ง ซึ่งอาจจะกลายเป็นทางออกของปัญหาที่เผชิญ
- จัดการสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ เช่น จัดบ้าน โต๊ะทำงานให้ผ่อนคลาย ปลูกต้นไม้เล็ก ๆ หรือ แจกันดอกไม้สร้างความสดชื่น
- ดูภาพยนตร์/อ่านหนังสือ ตลกหรือสนุกสนาน
- ไม่ปิดกั้นใจกับความรักครั้งใหม่ หากวันใดวันหนึ่งคุณได้เจอคนใหม่ที่อาจจะดีกว่า
สร้างพลังใจให้ตัวเอง รักตัวเอง มองให้เห็นคุณค่าในตัวเอง วิธีที่กล่าวมาจะไม่มีผลเลยหากคุณยังเห็นว่าตัวเองด้อยค่า ไม่หันมาดูแลตนเอง และมอบความรักให้กับตัวเอง

















