เมื่อคนใกล้ชิดติดจอ จนเป็นปัญหาส่งผลต่อการใช้ชีวิต ‼
เมื่อคุณเรียกชื่อคนใกล้ตัวเพื่อพูดคุย เขาก็ตอบแค่ “อืม เออ” ชวนไปเที่ยวก็ไม่อยากไป มักหมกก้มหน้าก้มตาจ้องจอโทรศัพท์
พฤติกรรมเสพติดเหล่านี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากคนที่สร้างโปรแกรม แอพพลิเคชั่นต่างๆ ทั้งเกม โซเชียลมีเดีย ล้วนเรียนรู้มาแล้วว่าทำอย่างไรให้คนสนใจ เป็นลักษณะของการเข้าไปจัดการกับระบบการให้รางวัลของสมอง หรือ รีวอร์ดซีสเต็ม (Reward system) เปรียบเสมือนการเล่นการพนัน
เมื่อเล่นอยู่ ณ เวลาหนึ่งจะมีความสุข หลังจากนั้นไม่นานจะเริ่มไม่เป็นสุข จึงต้องเพิ่มปริมาณ เพิ่มเงิน เพิ่มเวลามากขึ้น เนื่องจากระบบให้รางวัลนี้ หากเล่นนานๆ จะมีอาการดื้อ ต้องเพิ่มปริมาณเพื่อให้มีความสุขเท่าเดิม ส่งผลให้เกิดการสูญเสียมากขึ้น การติดจอ เกม หรือ โซเชียล ดังนั้นควรหันมาตระหนักถึงภัยเงียบที่กำลังคุกคามคนใกล้ชิด และ แม้แต่ตัวของคุณเอง
นอกจากเสียสุขภาพทางกายยังเสียสุขภาพใจ !!!
นอกเหนือจากสุขภาพร่างกายทรุดโทรมเนื่องจากพักผ่อนน้อย สายตาเสียเพราะต้องจ้องจอเล็ก ๆ แสงจ้า การติดจอยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจด้วย
การจดจ่อกับจอนานๆ ร่างกายจะหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) สารที่ทำให้เกิดความสุข แต่หากร่างกายสารหลั่งโดพามีนติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 2-3 ชั่วโมง จะแปรเปลี่ยนเป็นความเครียด ส่งผลต่ออารมณ์
จะสังเกตได้ว่าผู้ที่ติดเกมทั้งเด็กและผู้ใหญ่มักเป็นคนอารมณ์ดี แต่พอเล่นไปนานๆ จนกลายเป็นความเครียดรู้สึกว่าต้องจดจ่อหรือเอาชนะให้ได้ เหมือนเข้าไปอยู่ในโลกคู่ขนานจนละเลยโลกความจริง เมื่อถูกขัดจังหวะ จะแสดงออกด้วยความก้าวร้าว หงุดหงิด เช่นเดียวกับปัญหาการเสพยาบ้า ซึ่งกระตุ้นการหลั่งสารโดพามีนให้มีความสุข แต่เมื่อหลั่งมากเกินไป จนเปลี่ยนเป็นความเครียด ความก้าวร้าว หากยังคงเสพต่อเนื่องจะกลายเป็นหูแว่วและประสาทหลอนในที่สุด
เด็ก VS ผู้ใหญ่ ติดจอต่างกันอย่างไร ?
เมื่อเด็กและผู้ใหญ่ต่างติดหน้าจอ ปัญหาและความเสียหายอาจไม่แตกต่างกัน เพราะทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีระบบสมองแบบเดียวกัน แต่ผู้ใหญ่ยังมีสติ มีความเข้าใจ หรือ อาจมีหน้าที่การงานและความรับผิดชอบมากกว่า ส่วนเด็กๆ เป็นวัยที่สนุกสนาน มีความรับผิดชอบน้อย โอกาสที่จะเสพติดจอได้ง่ายกว่า
หากเด็กติดเกมย่อมสร้างความลำบากใจให้พ่อแม่ แต่หากเด็ก ๆ ยังมีความรับผิดชอบ ไปโรงเรียนสม่ำเสมอ มีผลการเรียนที่ดี ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามผู้ปกครองยังไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ดูจอไม่ว่าจะเป็นจอแบบใด เนื่องจากเด็กเล็กยังอยู่ในช่วงพัฒนาสมอง เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่าย
แนวทางแก้ไขปัญหาคนใกล้ชิดติดหน้าจอ
1.การติดหน้าจออาจเกิดจาก ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองทำให้ติดง่าย หรือ โรคบางชนิด เช่น สมาธิสั้น อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า ไบโพลาร์ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งอื่นได้เลยนอกจากสิ่งที่ชอบ ไม่สามารถบังคับใจให้เลิกเล่นได้ การพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติของร่างกายจึงมีความจำเป็น เพื่อทำการรักษาด้วยการใช้ยา ทำการบำบัดให้หายเป็นปกติ สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้
2.สิ่งแวดล้อมดีมีส่วนสำคัญ การออกไปพบปะเพื่อนฝูง หากิจกรรมใหม่ ๆ นอกบ้าน ออกกำลังกายจะช่วยให้ห่างไกลจอได้ และ ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีอีกด้วย



