ความเชื่อโบราณ "ความฝันสำคัญไฉน"
ความเชื่อโบราณ
ความฝันสำคัญไฉน...
คนไทยมีความเชื่อเรื่องความฝันว่าเป็นเครื่องบอกเหตุล่วงหน้าได้เมื่อจะเกิดเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งจะมีการตีความหรือทำนายฝันให้เข้ากับเหตุการณ์ เช่น ฝันว่าฟันหักญาติผู้ใหญ่จะเสียชีวิต ฝันว่าถูกงูรัดจะได้คู่ ฝันว่าเหาะเหินเดินอากาศจะมีชื่อเสียง ฝันเห็นปูงวดหน้าหวยจะออกเลข 8 เป็นต้น
ตามแนวความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ความฝันมี 3 ลักษณะ คือ
1) ความฝันที่เป็นกุศล คือ ความฝันที่จิตใจอยู่ในภาวะที่ดี เช่น ฝันว่าได้พบผู้ทรงศีล ได้พบผู้มีบุญ ได้ฟังธรรมะ
2) ความฝันที่เป็นอกุศล คือ ความฝันที่จิตใจอยู่ในสภาพไม่สบาย เช่น ฝันว่าตกต้นไม้ ถูกสัตว์ร้ายกัด ถูกทำร้ายร่างกาย
3) ความฝันที่เป็นอพยากฤต คือ ความฝันที่ไม่อยู่ในลักษณะ 1 และ 2 ที่กล่าวมา
พระพุทธศาสนากล่าวถึงสาเหตุของการฝันว่ามีอยู่ 4 เหตุ คือ
1) ธาตุโขภะ คือ ความวิปริตแปรปรวนของธาตุต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดฝันขึ้น ความฝันประเภทนี้จึงเป็นอิทธิพลทางกายภาพ เช่น ความไม่ปกติของเลือดลมและกระเพาะอาหาร มีการอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ หรือปวดท้อง เวลานอนจะเกิดความฝัน ซึ่งถือเอาเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้
2) อนุภูตบุพพะ คือ ความฝันที่เกิดขึ้นจากการที่จิตใจยังวิตกกังวลถึงสิ่งที่เคยได้เห็นได้ฟังมาก่อนนั้นแล้วเก็บเอาไปฝัน บางทีเรียกว่าจิตนิวรณ์อันเป็นลักษณะของจิตที่จดจ่อในเรื่องนั้นๆ
3) เทวโตสังหรณ์ อธิบายว่า จิตของผู้ฝันติดต่อกับโอปปาติกะซึ่งเป็นสภาะการเกิดแบบหนึ่ง เช่น พวกเทวดา โดยจะมีทั้งดีและไม่ดี จึงทำให้ความฝันจากสาเหตุนี้ทั้งไร้สาระและมีสาระ เป็นเรื่องที่เทวดามาเข้าฝันบอกเรื่องราวต่างๆ ในบางครั้งเป็นการเข้าฝันของผีปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติผู้ใหญ่
4) ปุพพนิมิต อธิบายว่าเกิดจากบุญหรือบาป กรรมดี กรรมชั่วที่ได้ทำไว้จะมาปรากฏเป็นสัญลักษณ์ว่าจะมีสาเหตุดีหรือสาเหตุร้ายในความฝัน เป็นวิบากกรรมที่สั่งสมอยู่ในภวังค์แสดงในทางการฝัน
พระพุทธศาสนาได้จำแนกบุคคลตามระดับกิเลสที่อยู่ในใจ ได้แก่ ในระดับปุถุชน โสดาบัน สกทาคามี และอรหันต์ซึ่งสิ้นกิเลสแล้ว ในเรื่องความฝันเป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจที่เกิดกับผู้มีกิเลสเท่านั้น ดังนั้น บุคคลประเภทเดียวที่ไม่ฝันคือพระอรหันต์ ในเรื่องความฝันนี้มีกล่าวเชื่อมโยงไปถึงพระพุทธเจ้าด้วย คือ ความกล่าวถึงความฝันของพระพุทธเจ้าไว้ในพระไตรปิฎกซึ่งน่าจะแต่งขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแล้ว นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงความฝันไว้ในนิทานชาดกและวรรณคดีในสมัยต่อๆ มาด้วย
ตัวอย่างความเชื่อเรื่องความฝันในสังคมไทย
1) ความฝันของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ในหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนที่พระนเรศวรทรงกู้ชาติ ก่อนที่พระองค์จะทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชของพม่านั้น พระองค์ก็ทรงพระสุบิน ดังมีความบันทึกไว้ว่า
“ราตรีนั้น แรม 11 ค่ำ เดือนนี่ อากาศหนาว สมเด็จพระนเรศวนทรงบรรทมหลับอยู่ที่ค่ายหลวง ตำบลมะม่วงหวาน ทรงพระสุบินว่า น้ำท่วมป่ามาแต่ทิศตะวันตก พระองค์ทรงลุยน้ำไปพบจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่ง ได้ต่อสู้และทรงประหารกุมภีล์ร้ายสิ้นชีวิต
รุ่งเข้าทรงเรียกพระโหราธิบดีมาทำนาย โหรทำนานว่า การศึกครั้งนี้จะได้รบกับข้าศึกเป็นมหายุทธสงคราม ถึงได้ทำยุทธหัตถีชนช้างกันแล้วพระองค์จะมีชัย” และความนั้นก็เป็นจริงดังโหรทำนายไว้
2) ความฝันของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ในหนังสือพระราชพงศาวดาร บันถึงถึงการกู้เอกราชของพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อทรงเข้ายุดกรุงศรีอยุธยาได้ว่า
“พระยาตากได้เห็นความพินาศย่อยยับของกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ ให้เกิดความสลดใจเป็นอันมาก ปราสาทมณเฑียร วัดวาอารามถูกไฟไหม้และหักพังลงอย่างน่าสังเวช เลยคิดทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เป็นอย่างเก่าก่อน
แล้วในคืนวันหนึ่ง พระยาตากได้เข้านอนที่พระที่นั่งทรงปืน เมื่อหลับไปได้ฝันว่า พระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ มาขับไล่ไม่ให้อยู่ พอรุ่งเช้าพระยาตากจึงได้ประชุมปรึกษากับข้าราชการทั้งหลาย แล้วเล่าเรื่องความฝันให้ฟัง ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะย้านเมืองหลวงเสียใหม่ จึงจะเป็นมงคล ดังนั้นพระยาตากจึงอพยพมาตั้งมั่นอยู่เมืองธนบุรีตั้งแต่บัดนั้น”
ภาพ : Pixabay
















