เดิน-วิ่ง ถอยหลัง ดีต่อสุขภาพ ช่วยพัฒนาสมอง
งานวิจัย การเดินถอยหลัง ต่อสุขภาพกายและสมอง
เจเน็ต ดูเฟก (Janet Dufek) ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวกลศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเนวาดาในสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวถอยหลังมานานกว่า 20 ปี พบว่า ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาหญิง 10 คน การเดินถอยหลังเพียง 10-15 นาทีต่อวัน เป็นเวลาติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลังต้นขาของพวกเธอได้
การเดินถอยหลังยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลังที่ทำหน้าที่ควบคุมความมั่นคงและความยืดหยุ่นของกระดูกสันหลังได้
งานวิจัยหนึ่งของดูเฟก ที่ศึกษานักกีฬา 5 คนโดยให้พวกเขาลองเดินถอยหลัง พวกเขาบอกว่า อาการปวดหลังส่วนล่างลดลงหลังจากเดินถอยหลังมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง “การเดินถอยหลังมีประโยชน์ทางอ้อมต่ออาการปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากคุณกำลังยืดกล้ามเนื้อหลังต้นขา เพราะบ่อยครั้งที่อาการปวดหลังส่วนล่างมักเกิดจากกล้ามเนื้อหลังต้นขาตึง” ดูเฟกอธิบายเพิ่มเติม
กีฬาประเภททีมและกีฬาประเภทแร็กเกต ต้องอาศัยความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ถอยหลัง และไปด้านข้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งการวิ่งถอยหลังจะ ‘ช่วยลดแรงกดที่ข้อเข่า’ และเสริมสร้างความแข็งแรง จึงมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันนักกีฬาจากการบาดเจ็บด้วย
สำหรับคนทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาว คนอ้วน ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีความบกพร่องในการเดิน หรือแม้แต่ผู้ที่เพิ่งผ่าตัดหรือมีปัญหาเกี่ยวกับเข่า การเดินถอยหลังก็มีประโยชน์ในการช่วยบริหารร่างกายโดยไม่ทำให้บาดเจ็บ แถมยังเผาผลาญแคลอรีได้มากกว่าการเดินไปข้างหน้า
อีกงานวิจัยที่บอกว่า จริง ๆ แล้วแค่การดูคลิปเดินถอยหลัง การดูวิดีโอการเดินทางด้วยรถไฟแบบถอยหลัง หรือแม้กระทั่งแค่จินตนาการถึงการเคลื่อนที่ถอยหลัง ก็ช่วยเพิ่มความสามารถของผู้เข้าร่วมในการจดจำข้อมูลได้
ดร. แจ็ค แมกนามารา ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาการออกกำลังกายระดับคลินิก ที่มหาวิทยาลัยอีสต์ลอนดอนของสหราชอาณาจักร ได้เขียนอธิบายประโยชน์ที่คาดไม่ถึงของการเคลื่อนตัวถอยหลัง ในบทความที่ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ The Conversation ไว้ดังนี้
การเดินตัวตรงด้วยสองขานั้น ใช้กำลังและการประสานงานของอวัยวะต่าง ๆ มากกว่าที่เราคิด นอกจากจะใช้กล้ามเนื้อขาแล้ว ยังใช้ประสาทสัมผัสและสมองหลายส่วน เพื่อการทรงตัวและรับรู้ตำแหน่งของร่างกายในพื้นที่ว่าง
เมื่อเดินหรือวิ่งถอยหลัง สมองจะต้องทำงานหนักขึ้นและประมวลผลนานขึ้นกว่าเก่า ซึ่งความท้าทายนี้จะเพิ่มประโยชน์ต่อสุขภาพให้มากขึ้น ยิ่งกว่าการเดินหรือวิ่งไปข้างหน้าโดยอัตโนมัติตามที่เราคุ้นชิน
งานวิจัยหลายชิ้นในอดีต พบว่า การเดินหรือวิ่งถอยหลังช่วยปรับปรุงทักษะการทรงตัวให้มีเสถียรภาพ จะทำให้เราเดินและวิ่งไปข้างหน้าได้ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนวัยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีอยู่แล้ว และผู้ที่มีปัญหาโรคกระดูกพรุนที่เข่า (knee osteoporosis)
การเดินหรือวิ่งถอยหลังทำให้เราต้องก้าวครั้งละสั้น ๆ และก้าวถี่มากขึ้น จึงเป็นการเพิ่มพูนความแข็งแกร่งทนทานของกล้ามเนื้อน่อง รวมทั้งลดภาระการรับน้ำหนักของข้อเข่าและข้อเท้า ช่วยลดอาการเจ็บปวดที่ส้นเท้าได้อีกด้วย
ประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การได้ใช้กล้ามเนื้อหลายมัดมากขึ้นมารองรับกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar spine) ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการแก่ผู้ที่ปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง และผู้ที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาทควบคุมกล้ามเนื้อหลังป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)
มีงานวิจัยที่ พบว่า การเดินถอยหลังทำให้ร่างกายเผาผลาญใช้พลังงานมากกว่าปกติเกือบ 40% เมื่อเทียบกับการเดินไปข้างหน้าด้วยความเร็วเท่ากัน งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง พบว่า ผู้หญิงที่ฝึกเดินหรือวิ่งถอยหลังเป็นเวลา 6 สัปดาห์ มีปริมาณของไขมันในร่างกายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ














