8 ขั้นตอนเพิ่มเสน่ห์ด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดี มีการฟังอย่างลึกซึ้ง เข้าใจผู้ร่วมสนทนามากขึ้น เปิดหูให้กว้าง ใช้ใจในการฟัง
การฟังอย่างลึกซึ้ง Deep Listening คือ การฟังที่ใส่ใจฟังผู้พูดอย่างแท้จริง ผู้ฟังต้องตั้งใจฟัง ใส่ใจ เข้าใจ ในเรื่องที่ฟัง โดยปราศจากการตัดสิน ให้มองจากมุมมองหรือประสบการณ์ของผู้พูด ฟังด้วยใจที่เป็นกลาง ฟังอย่างลึกซึ้งจนเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการของผู้พูด และ ฟังให้ลึกกว่าแค่คำพูด ให้ได้ยินแม้ในสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้พูด หมายถึง การรับฟังความหมาย ความต้องการ ความรู้สึกของผู้พูดที่ไม่ได้พูดออกมา เช่น ความรู้สึก อารมณ์ ความต้องการ คุณค่า ความเชื่อ ผู้ฟังต้องจับประเด็นสำคัญและทบทวนเรื่องราวที่ฟังได้
การฟังอย่างลึกซึ้งจะช่วยให้ผู้พูดเปิดเผยตัวเองมากขึ้น เล่าเรื่องราวลึกขึ้น และยังช่วยในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี (building rapport) ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งนั้นต้องฝึกฝน ต้องมีสติ (Mindfulness) ต้องฝึกฝนสติอย่างต่อเนื่อง เพราะการฟังอย่างลึกซึ้งไม่ใช่แค่ฟังเสียง แต่ต้องฟังภาษาร่างกาย ซึ่งเป็นภาษาที่ไร้คำพูด
8 ขั้นตอนเพิ่มเสน่ห์ด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดี ควรทำอย่างไร
1.ฟังด้วยความสนใจใคร่รู้ มีความสนใจใคร่รู้เพื่อทำความเข้าใจผู้พูดมากขึ้น เปิดกว้างไม่ตัดสิน ไร้อคติ เข้าใจเรื่องราวตามความเป็นจริง เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตแตกต่างกัน มีความเชื่อ ทัศนคติ ให้คุณค่าในสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน การฟังด้วยความสนใจใคร่รู้จึงจะรับรู้ตามความเป็นจริงได้
2.ฟังด้วยสติ อยู่กับผู้พูดตลอดเวลา ทั้งกาย ใจ สมอง ไม่เผลอคิดเรื่องอื่น ไม่คิดแทนว่า ‘เขาควร...’ หรือ ตัดสินการกระทำของผู้พูดว่าควรทำอย่างไร และ การมีสติจะช่วยให้เรารู้เท่าทันตนเองว่าเผลอคิด เผลอตัดสิน หรือ มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรขณะที่ฟัง เช่น อึดอัด เศร้า ไม่เห็นด้วย แล้วสามารถดึงตนเองกลับมาให้เป็นกลางในการรับฟัง อยู่กับผู้พูดอย่างแท้จริง
3.ฟังด้วยตา ระหว่างฟังสบตาผู้พูดเป็นระยะ แต่ไม่ใช่จ้องหน้าตาเขม็ง อาจยิ่งทำให้ผู้พูดรู้สึกเกร็ง ไม่กล้าพูดสิ่งที่อยู่ในใจเพียงแค่คอยสังเกตภาษากายของผู้พูด เช่น สีหน้า แววตา ท่าทาง ตอนเริ่มสนทนาเป็นอย่างไร? ระหว่างที่สนทนามีภาษากายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง? ควรหยุดทำกิจกรรมอื่นขณะฟัง เช่น เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือ สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากเกินไป ผู้ฟังที่ดีควรต้องโฟกัสผู้พูดเสมอ
4.ฟังด้วยหู สังเกตน้ำเสียงของผู้พูดว่ามีจังหวะการพูดอย่างไร เช่น ช่วงแรกพูดเร็ว น้ำเสียงบ่งบอกถึงความกังวลใจ เมื่อคุยไปสักพักจังหวะการพูดช้าลง น้ำเสียงมั่นใจมากขึ้น เป็นต้น
5.ฟังด้วยใจ เปิดใจในการรับฟัง ด้วยประสาทสัมผัสทุกส่วนในร่างกาย ทั้งหู ตา จมูก ปาก เพราะผู้พูดสามารถรับรู้ได้ถึงความใส่ใจของเรา ใช้ใจรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้พูด
6.ฟังด้วยภาษากาย ระหว่างที่ฟังพยักหน้าเป็นระยะ แสดงให้ผู้พูดรู้ว่ากำลังสนใจฟัง ผู้พูดจะเปิดใจที่จะพูดมากขึ้น
7.ไม่พูดแทรก แม้ว่าในบทสนทนานั้นอยากแสดงความคิดเห็นออกไปในทันที แต่ควรรอให้ผู้พูดเล่าเรื่องให้จบก่อน แล้วค่อยขอพูดแทรก ถือเป็นการให้เกียรติผู้พูด
8.ฟังอย่างจับประเด็นพร้อมกับคิดภาพตาม ฟังว่าผู้พูดต้องการจะสื่ออะไร เล่าถึงประเด็นใด อยากให้เราในฐานะผู้ฟังเข้าใจเขาอย่างไร พยายามนึกภาพตามให้ออก อย่าเพิ่งคิดถึงหนทางแก้ปัญหา แต่ให้โฟกัสเรื่องเล่าตรงหน้า เพราะผู้พูดบางคนอาจแค่ต้องการระบายความในใจ ต้องการแค่ใครสักคนมารับฟัง แต่ไม่ได้ต้องการคนมาแก้ปัญหา หรือ ต้องการความช่วยเหลือใด
อ้างอิงจาก:https://th.jobsdb.com/th/career-advice/article/deep-listening-ฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง
https://www.workwithpassiontraining.com/17282288/6-
%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%
B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AD
%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B6%E0%B
8%81%E0%B8%8B%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%87-deep-listening
https://www.manarom.com/blog/deep_listening.html















