จริงหรือไม่ การร้องไห้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น? หากกลั้นน้ำตาไว้ไม่ร้องไห้ออกมาเลยจะเกิดผลเสียอย่างไร ?
เคยมีคนกล่าวกันว่าการปลดปล่อยอารมณ์ด้วยการร้องไห้จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า
ผู้เข้าร่วมการทดลองเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ มีอารมณ์ดีขึ้นหลังจากร้องไห้
ผู้เข้าร่วมการทดลองเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกเหมือนเดิม
ผู้เข้าร่วมการทดลองเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกแย่ลงกว่าเดิม
งานวิจัยนี้ยังได้ให้ผู้เข้าร่วมทดสอบอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล ซึ่งพบว่าผู้ที่มีคะแนนดังกล่าวสูงมีแนวโน้วจะรู้สึกแย่ลงหลังจากร้องไห้ จึงอาจเป็นไปได้ว่าผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลมากกว่าปกติอาจตอบสนองต่อการร้องไห้ต่างจากคนทั่วไป
แต่อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาในปีต่อมาชี้ว่าอิทธิพลรอบข้างอาจส่งผลต่ออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลังร้องไห้ หากได้รับการปลอบโยนจากคนใกล้ชิด เป็นการร้องไห้เนื่องจากความปีติยินดี หรือ การร้องไห้นั้น ๆ นำไปสู่การแก้ปัญหา หรือ ทำให้เข้าใจสาเหตุ
แต่ในกรณีที่การร้องไห้ทำให้รู้สึกอาย ไม่ได้รับการปลอบใจจากคนรอบข้าง หรือ ร้องไห้เพราะเห็นความทุกข์ยากของคนอื่น ผู้ร้องไห้จะรู้สึกแย่ลง
นอกจากนี้ ผลสรุปโดยรวมพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองมีแนวโน้มจะรู้สึกดีขึ้นมากกว่าเมื่อได้ร้องไห้คนเดียว หรือ ร้องไห้กับใครคนหนึ่ง แต่จะรู้สึกแย่หรือรู้สึกเหมือนก่อนร้อง หากอยู่กับคนอื่น ๆ ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
ผลเสียของการกลั้นน้ำตา
การร้องไห้เป็นการปลดปล่อย ผ่อนคลายอารมณ์อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะร้องไห้เพราะความเศร้า ความเครียด หรือ ความสะเทือนอารมณ์จากการดูภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวเองและส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ส่วนการฝืนกลั้นไม่ให้ร้องไห้หรือไม่เคยร้องไห้ อาจส่งผลต่อทั้งทางสุขภาพกายและใจ โดยเฉพาะในผู้ชายไทยที่มีค่านิยมเกี่ยวกับการร้องไห้ในเชิงลบ ตีความว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอ ทั้งที่จริงแล้วเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่สิ่งที่ควรหรือไม่ควร แต่เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์
รับมือกับน้ำตาของคนรอบข้างอย่างไร ?
หลายคนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คนรอบข้าง คนใกล้ชิดร้องไห้ อาจรู้สึกไม่สบายใจ ไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่างไร การปลอบประโลมอย่างเหมาะสม และ พยายามรับฟังอย่างใส่ใจ อาจช่วยให้ผู้ที่กำลังสะเทือนอารมณ์รู้สึกดีขึ้น ทำได้ดังนี้
- รับฟัง ให้กำลังใจอย่างเหมาะสมด้วยความตั้งอกตั้งใจ หากอยู่ในระดับที่สนิทกันมากอาจกอดปลอบ หรือ จับมือ
- หากสนิทกันน้อยเท่าไรก็ยิ่งควรระวังไม่ให้ก้าวก่ายเกินขอบเขตมากเท่านั้น เพราะอาจทำให้ผู้ที่กำลังอยู่ในอารมณ์เศร้าเสียใจรู้สึกแย่ลงและต่อต้าน อาจเริ่มจากการสอบถามว่าตนพอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
- พยายามอย่าเพิกเฉย เพราะอาจทำให้ผู้ที่ร้องไห้รู้สึกแย่ลงกว่าเดิมได้
- การร้องไห้ต่อหน้าคนกลุ่มใหญ่อาจทำให้รู้สึกอึดอัดมากกว่าร้องไห้ต่อหน้าคนสนิทเพียงไม่กี่คน แต่อย่างไรการปลอบใจก็เป็นสิ่งพึงกระทำเพื่อช่วยให้ผู้ร้องรู้สึกดีขึ้น
บางครั้งหลายคนอาจเผชิญสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้ร้องไห้ ในกรณีนี้ควรพยายามกลั้นความรู้สึกในขณะนั้นแล้วปลีกตัวออกมาร้องไห้ในที่เหมาะสม หากไม่สามารถออกจากสถานการณ์นั้นได้ อาจลองเบี่ยงความสนใจของตัวเองด้วยการคิดเรื่องอื่น ดูวิดีโอตลก อ่านหนังสือที่ช่วยให้ผ่อนคลายขึ้น เมื่อได้โอกาสแล้วค่อยร้องไห้ปลดปล่อยอารมณ์ในตอนนั้นออกมาภายหลัง แต่อย่าปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยไม่ได้ระบายออกมาตามที่ต้องการ

















