นักวิจัยจากสกอตแลนด์สุดเจ๋ง สร้างกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้งานได้จริงแต่ราคาไม่แพง จากเครื่องพิมพ์สามมิติ
โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ในสกอตแลนด์ ได้สร้างกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้งานได้จริง ด้วยเงินเพียง 60 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,000 บาท) โดยใช้เครื่องพิมพ์แบบสามมิติ (3D Printing) และออกแบบตามแบบโอเพนซอร์สของ OpenFlexure ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทีมวิจัยใช้คอมพิวเตอร์จิ๋วอย่าง Raspberry Pi ในการควบคุมระบบภายในตัวกล้อง มีการเพิ่มกล้องและแหล่งกำเนิดแสงเข้าไป กล้องจุลทรรศน์ตัวนี้ถือเป็นกล้องจุลทรรศน์แบบ 3D-printed ตัวแรกของโลกที่สามารถถ่ายภาพทางจุลพยาธิวิทยาได้จริง ด้วยน้ำหนักเพียง 3 กิโลกรัม และใช้เวลาสร้างเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนที่น่าทึ่งที่สุดคือเลนส์ที่ใช้ก็ทำจากพลาสติกที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติเช่นกัน โดยใช้เรซินใสที่แข็งตัวด้วยแสง ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในการพิมพ์ 3 มิติแบบหนึ่ง เลนส์นี้ถูกออกแบบมาให้มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับเลนส์แก้วราคาแพงที่ใช้กันทั่วไปในกล้องจุลทรรศน์ ทีมนักวิจัยได้ทดสอบกล้อง ด้วยการนำเลือดและเนื้อเยื่อไตของหนูมาส่อง กล้องจุลทรรศน์ตัวนี้สามารถแสดงรายละเอียดระดับเซลล์ได้อย่างชัดเจน ด้วยความละเอียดระดับ 5 ไมโครเมตร ทำให้เห็นถึงรายละเอียดทางกายวิภาคในระดับเซลล์ย่อย เช่น ท่อไต ซึ่งนี่ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญจากกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้ Raspberry Pi ที่ผ่านมา นักวิจัยและผู้ที่ชื่นชอบงาน DIY ทั่วโลกได้ประกอบกล้องจุลทรรศน์โดยใช้แบบของ OpenFlexture ในกว่า 50 ประเทศ แต่กล้องเหล่านั้นยังต้องใช้เลนส์แก้วราคาแพง ทำให้ไม่เหมาะสำหรับหลายๆ การใช้งานทีมจากมหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์จึงได้พัฒนาวิธีแก้ปัญหานี้โดยการใช้เรซินพิมพ์เลนขึ้นมา ซึ่งช่วยให้ลดต้นทุนได้อย่างมาก ทำให้กล้องจุลทรรศน์เข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับนักวิจัยที่มีงบประมาณจำกัด ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าการออกแบบที่ปฏิวัติวงการนี้จะปูทางไปสู่กล้องจุลทรรศน์รุ่นที่ล้ำสมัยยิ่งขึ้น พร้อมเลนส์ที่มีกำลังขยายสูงขึ้นในอนาคต