ผลการวิจัยของสหรัฐพบว่า อาหารทะเล แทบทุกชนิดปนเปื้อนไปด้วยไมโครพลาสติก โดยฝังอยู่ในเนื้อ ยากที่จะกำจัดออก
เป็นการวิจัยจากห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาชายฝั่งประยุกต์ของ มหาวิทยาพอร์ตแลนด์สเตท นำโดยเอลีส แกรเน็ก ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการจัดการ ทำการตรวจสอบไมโครพลาสติกในปลามีครีบและสัตว์จำพวกกุ้งที่บริโภคกันทั่วไป 9 ชนิดในรัฐออริกอน พบอนุภาคต้องสงสัย 1,806 รายการใน 180 ตัวอย่างจากทั้งหมด 182 ตัวอย่าง โดยมีเส้นใยจากเสื้อผ้าสังเคราะห์สูงถึง 82% รองลงมาคือเศษไมโครพลาสติกอยู่ที่ 17% และอีก 0.7% มาจากฟิล์ม กุ้งสีชมพู (Pink Shrimp) มีความเข้มข้นของไมโครพลาสติกอยู่ในเนื้อ ซึ่งเป็นส่วนที่นำมาประกอบอาหารมากที่สุด เพราะกุ้งชนิดนี้กรองอาหารใต้ผิวน้ำ
ขณะที่ปลาแซลมอนชินุกมีปริมาณอนุภาคไมโครพลาสติกน้อยที่สุดและมีความเข้มข้นต่ำที่สุด รองลงมาคือ ปลากะพงดำและปลาลิงคอด การศึกษาวิจัยอื่น ๆ พบว่ามีพลาสติกในปริมาณสูงในบริเวณที่แพลงก์ตอนสัตว์อาศัยอยู่ และมีลักษณะคล้ายกับแพลก์ตอน ด้วยเหตุนี้ทำให้กุ้งและปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาเฮอริง ที่กินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร จึงเผลอกินอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจะมาจากร้านค้าหรือจากเรือประมง ต่างก็มีไมโครพลาสติกที่เกิดจากมนุษย์อย่างน้อย 0.3 อนุภาคต่อเนื้อเยื่อที่กินได้ 10 กรัม
แต่สัตว์ทะเลที่ซื้อจากร้านค้ามีไมโครพลาสติกมากกว่าปลาที่ซื้อจากเรือประมงโดยตรง ซึ่งบ่งชี้ว่าสัตว์ทะเลปนเปื้อนมากขึ้น หลังจากขึ้นน้ำไปจนถึงมือผู้บริโภค ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้สรุปว่า ทุกคนควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารทะเล เพราะไมโครพลาสติกมีอยู่ทุกที่ในสิ่งแวดล้อม ในอาหารชนิดอื่น ๆ ทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด เกลือ เบียร์ น้ำผึ้ง เนื้อวัว ไก่ เบอร์เกอร์ผัก และเต้าหู้ ดังนั้นแค่งดกินอาหารทะเล ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายอยู่ดี