ปวดสะโพกร้าวลงขา
ปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica Pain) คือ อาการปวดในบริเวณช่วงเอว หรือ สะโพก ที่ปวดร้าวจนส่งผลกระทบไปยังช่วงขาด้านหลัง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการร้าวไปถึงบริเวณ น่อง หรือ เท้า
อาการปวดหลังร้าวลงสะโพก หรือ ปวดสลักเพชรร้าวลงขา เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทกระดูกสันหลังส่วนเอว หรือ กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดลงไปยังขาข้างใดข้างหนึ่ง บางรายอาจมีอาการชา หรือ ขาอ่อนแรง
สาเหตุอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
1.พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
อาการปวดสะโพกร้าวลงขา มักจะเป็นอาการที่สะสมเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน จนร่างกายไม่สามารถทนไหว จึงเริ่มแสดงอาการออกมา ได้แก่
- การยกของหนัก หรือ ยกของผิดจังหวะ ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่หลัง เมื่อผ่านไปนาน ๆ อาจเกิดพังผืดเข้าไปยึดเกาะบริเวณที่บาดเจ็บนี้ จนไปรบกวนหมอนรองกระดูกสันหลัง
- การนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการบาดเจ็บเมื่อกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่าง บริเวณสะโพก ก้น ถูกแรงกดทับอย่างต่อเนื่อง จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวเกิดการเกร็งตัว และ เกิดปม trigger point ขึ้น ส่งผลให้มีอาการปวดในบริเวณหลัง หรือ ก้นตามมา และหากปม trigger point ไปหนีบหรือไปรบกวนเส้นประสาท Sciatic จะส่งผลเกิดอาการปวดก้นร้าวลงต้นขาด้านหลัง หรือ ที่เรียกว่าอาการกล้ามเนื้อก้นหนีบเส้นประสาทได้
- การบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย หรือ อุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น การหกล้มก้นกระแทก การได้รับแรงกระแทกบริเวณสะโพกโดยตรง
2.เกิดจากโรคที่เป็นสาเหตุ
- โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท มักจะมีการกดทับเส้นประสาท Sciatic ผู้ป่วยจึงมีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดสะโพก ปวดร้าวลงขา มีอาการขาชา และ ชาปลายเท้า ร่วมด้วย
- โรคกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากความเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้มีกระดูกงอก หรือ เคลื่อนมาทับเส้นประสาท
- โรคกระดูกหลังเคลื่อน เป็นภาวะที่มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังข้อหนึ่งไปด้านหน้า หรือ ด้านหลังมากกว่าปกติ โดยส่วนมากมักพบการเคลื่อนของกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 และข้อที่ 5 เนื่องจากข้อกระดูกสันหลังส่วนนี้จะรับน้ำหนักส่วนใหญ่ของร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขาได้
- โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก เส้นเอ็น และ ข้อต่อ เมื่อมีการเสื่อมอวัยวะเหล่านี้จะขยายขนาดขึ้นก็จะทำให้โพรงประสาทที่มีเส้นประสาทอยู่ด้านในถูกเบียด หรือ กดทับ
3.อาการปวดที่ไม่ได้เกิดจากบริเวณหลัง
- กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis) เกิดจากกล้ามเนื้อก้นชั้นลึก เกิดการเกร็งตัวจนไปบีบรัดทางเดินของเส้นประสาท ที่ลอดผ่านใต้มัดกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อเกร็งตัวมาก จึงไปกดเบียดทางเดินของเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาททำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้มีอาการปวดสะโพก ปวดก้น ปวดร้าวสะโพกร้าวลงขา หรือ อาจมีอาการชาขาร่วมด้วย
- โรคของข้อกระดูกเชิงกรานอักเสบหรือเสื่อม เป็นการอักเสบของข้อต่อ ซึ่งเป็นข้อต่ออุ้งเชิงกราน ที่อยู่บริเวณก้นกบกับสะโพก ส่งผลให้เกิดพังผืดยึดเกาะบริเวณข้อต่อนี้ ทำให้ข้อยึดล็อค และ เกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขาได้
การบรรเทาอาการด้วยตัวเองเบื้องต้น
- การประคบร้อน-เย็น
ประคบอุ่นบริเวณสะโพกที่มีอาการปวดเป็นระยะเวลาประมาณ 15-20 นาที ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด จะทำให้มีความรู้สึกอุ่นสบาย คลายอาการปวดสะโพกร้าวลงขาลงได้ ส่วนการประคบเย็นจะช่วยบรรเทาอาการปวดบวมที่เกิดจากอาการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน
- การบริหารร่างกาย
การบริหารร่างกายสามารถบรรเทาอาการปวดเส้นสลักเพชรได้ โดยให้ผู้ป่วยยืดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ท่านอนไขว่ห้าง นั่งไขว้ห้างก้มตัว ท่านอนหงายยกสะโพก ท่านอนตะแคงยกเข่า เป็นต้น
การป้องกันไม่ให้ ปวดสะโพกร้าวลงขา
- หลีกเลี่ยงการวิ่งขึ้น หรือ ลงที่ลาดชันมาก ๆ
- เลี่ยงการนั่งท่าไขว่ห้าง
- เลี่ยงการนั่งบนพื้นแข็ง ๆ เก้าอี้แข็ง ๆ
- ยืดเหยียดบริหารร่างกายบ่อย ๆ
- ไม่นั่งนานเกิน 30 นาที ควรเปลี่ยนอริยาบท เช่น เดินไปเข้าห้องน้ำ ไปหาน้ำดื่มเพิ่มความสดชื่น
- หลีกเลียงการยกของหนัก
- ออกกำลังกายให้ถูกท่า ไม่ให้สะโพกบิดอย่างรวดเร็ว หรือ ผิดท่า
- ยืดเส้นยืดสาย ก่อน และ หลัง ออกกำลังกายเสมอ
- หากต้องการเพิ่มความเข้มข้นของการออกกำลังกาย ควรค่อย ๆ เพิ่ม อย่าเพิ่มเร็วเกินไปจนกล้ามเนื้อปรับตัวไม่ทัน
- ไม่สูบบุหรี่ นิโคตินในบุหรี่จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกระดูกน้อยลง
หากมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ควรหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ทันที แล้วสังเกตอาการว่าเป็นอย่างไร ถ้าพักสักระยะหนึ่งแล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น หรือ ถ้าปวดมากร่วมกับรู้สึกว่ามีการชา หรือ อ่อนแรงของขาร่วมด้วย แนะนำว่าควรไปพบแพทย์