“เมารถ” มีวิธีแก้ง่าย ๆ หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ “แค่ใส่แว่นกันแดด” !
เมารถ Carsick เป็นอีกหนึ่งในปัญหาความทรมานที่ผู้เดินทางหลาย ๆ ท่านมักพบเจอ โดยอาการเมารถไม่ได้มีเพียงแค่การเดินทางด้วยรถเท่านั้น เรือ หรือ เครื่องบิน สามารถเกิดอาการนี้ขึ้นได้เช่นกัน
สาเหตุของอาการเมารถ
เกิดจากประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวของหูชั้นใน มีการทำงานที่ไม่สัมพันธ์กันกับภาพที่ดวงตามองเห็น สมองจึงสับสนเพราะ ได้รับสัญญาณภาพที่ขัดแย้งกัน ส่งผลให้เกิดเป็นอาการเมารถในที่สุด โดยอาการเมารถนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากการนั่งยานพาหนะที่มีการเคลื่อนที่แบบโคลงเคลง เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา หรือ คดเคี้ยวเป็นระยะเวลานาน
อาการเมารถเป็นอย่างไร ?
- เวียนหัว หรือ ปวดศีรษะ
- เหงื่อออก
- รู้สึกไม่สบายท้อง มีอาการคลื่นไส้ อยากอาเจียน
- หายใจตื้น สูญเสียการทรงตัว
- อาจหน้าซีด เหนื่อยล้า หรือ รู้สึกเบื่ออาหาร
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการเมารถ
- เด็กที่มีอายุระหว่าง 2 - 12 ปี
- สตรีตั้งครรภ์
- สตรีที่มีการทานยาคุมกำเนิด หรือ มีประจำเดือน
- บุคคลที่มีประวัติการเป็นไมเกรน
- บุคคลที่อาจจะถูกพิจารณาว่าเป็นโรคพาร์กินสัน
การป้องกัน หรือ บรรเทาอาการเมารถ
- กินยาแก้เมารถ ทั้งนี้หากเป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะ การกินยา ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วงขึ้นได้
- ควรเลือกนั่งรถเบาะหน้า หากเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบิน หรือ เรือ ให้เลือกที่นั่งบริเวณตรงกลาง เพื่อลดแรงเหวี่ยง หรือ ลดการโคลงเคลงของยานพาหนะลง
- พยายามอย่าอ่านหนังสือ หรือ เล่นโทรศัพท์ขณะยานพาหนะกำลังเคลื่อนที่ โดยให้มองไปที่ไกล ๆ แทน และ อย่าจ้องมองวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ภายนอกนาน ๆ
- หากมีการแวะตามจุดพักระหว่างทาง ให้ลงไปสูดอากาศบริสุทธิ์ภายนอกเพื่อผ่อนคลายอิริยาบถ
- กินอาหารมื้อเล็ก งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนออกเดินทาง
- การดมยาดม หรือใช้น้ำมันหอมระเหย จะสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการเมารถได้
- การหลับตา หรือ ใส่แว่นกันแดด อาจจะช่วยให้บรรเทาอาการเมารถลงได้ แว่นกันแดดที่มีสีเข้มจะทำให้การมองเห็นถูกปิดกั้นในระดับหนึ่ง ทำให้ร่างกายสับสนน้อยลง และ สีเลนส์ที่เข้มจะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้อาการเมารถนั้นลดน้อยลงตามไปได้
อาการเมารถ เป็นความทรมานที่หลายท่านมักพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยรถ เรือ หรือ เครื่องบิน ต่างล้วนเจอปัญหานี้ได้ โดยอาการเมารถแม้ไม่มีวิธีการรักษา มีเพียงวิธีการบรรเทาอาการให้ดีขึ้นเท่านั้น หากท่านใดที่รู้สึกว่าตนเองเมารถทุกครั้งที่มีการเดินทางด้วยยานพาหนะ ให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการเกิดอาการขึ้น