รีวิวอย่างไรไม่ติดคุก ? คู่มือฉบับสมบูรณ์สำหรับนักรีวิวมือโปร
เมื่อเราซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ แล้ว ผู้ซื้อจำนวนมากมักจะเขียนรีวิว โดยเฉพาะเมื่อผู้ใช้รู้สึกผิดหวังกับสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ตนเองประสบพบเจอมา อารมณ์เกรี้ยวกราดจึงบรรเลงผ่านตัวหนังสือ บางครั้งก็เกินเลยกับคำว่า “ติชม” หลายต่อหลายเคสลงเอยด้วยการขู่ฟ้องจากเจ้าของกิจการหรือผู้ให้บริการ ดังเช่นช่าวจากเว็บไซต์มติชนรายงานเมื่อปี 2566 ว่า “หนุ่ม สุดงง! รีวิวสินค้าตามจริง-ไม่ได้ใส่ร้าย กลับถูกร้านฟ้อง เจอหมายศาลติดหน้าบ้าน” นี่ก็เป็นตัวอย่างว่าบางทีการรีวิวก็อาจจะนำมาสู่ความเสี่ยงขึ้นโรงขึ้นศาลก็ได้ ดังนั้นแม้การรีวิวจะเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคดิจิทัล ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ทุกอย่าง เพราะการเขียนรีวิวที่ไม่ระมัดระวังอาจนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายได้
บทความนี้จะมาเจาะลึกให้สายรีวิวมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการรีวิวอย่างมืออาชีพว่าจะรีวิวอย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น ขณะเดียวกันก็ไม่เกิดความเสี่ยงด้านคดีความด้วย ก่อนอื่นเรามารู้ก่อนนะครับว่า รีวิวอย่างไรที่สายรีวิวควรหลีกเลี่ยง ไม่เช่นนั้นอาจจะมีหมายศาลส่งมาถึงบ้านก็เป็นไปได้
รีวิวที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท เป็นการรีวิวที่กล่าวหาหรือใส่ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ต้องการให้ร้าย หรือสนุกรีวิวจนเลยบขอบเขตของการรีวิว เช่น ใช้คำรุนแรง มุ่งเน้นที่ตัวเจ้าของหรือผู้ประการแทนที่จะเป็นสินค้าหรือบริการของเรา ก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งอาจทำให้ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
รีวิวที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นการนำภาพหรือวิดีโอของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตแทนที่ภาพ หรือวิดีโอที่ใช้ประกอบการรีวิวนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เราบันทึกมาเอง หากกระทำเช่นนี้ก็ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
รีวิวที่เป็นการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
รีวิวที่เป็นการข่มขู่คุกคาม การคุกคามหรือข่มขู่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ขาย หรือผู้บริโภคคนอื่นๆ
การกล่าวหาโดยไม่มีมูล รีวิวที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน กล่าวหาว่าสินค้าหรือบริการมีคุณภาพต่ำ หรือพนักงานให้บริการไม่ดี แต่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน
นี่เป็นตัวอย่างของการรีวิวที่เสี่ยงคุกเสี่ยงตารางที่สายรีวิวไม่ควรเอาตัวเองไปเสี่ยง อย่าคิดว่าทำไปเพื่อเรียกยอดไลท์ หรือยอดวิว แล้วเราจะรีวิวอย่างไรก็ได้ เพราะเมื่อใดที่เราไปละเมิดผู้อื่นก่อน เขาก็อาจจะตอบโต้เราด้วยข้อกฎหมายก็ได้ การรีวิวจึงต้องมีขอบเขตที่ต้องเริ่มจากเจตนาที่บริสุทธิ์ เพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่างแท้จริง และก็ไม่ทำอย่างที่นำเสนอไปเมื่อสักครู่นี้
คราวนี้มาดูกันว่า จะเขียนรีวิวอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น และไม่เสี่ยงสำหรับสายรีวิว ซึ่งเว็บไซต์ของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำ ดังนี้
รีวิวจากประสบการณ์ของผู้รีวิวโดยตรง การแสดงความคิดเห็นหรือให้คะแนนเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นั้นมาจากการที่ผู้เขียนได้สัมผัสหรือใช้สิ่งนั้นๆ ด้วยตัวเอง ไม่ได้ผ่านการถ่ายทอดจากคนอื่น หรือมะโนเอาเอง ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้รับข้อคิดเห็นที่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นข้อมูลที่ได้มาจากผู้บริโภคจริง ไม่ใช่แค่คำโฆษณาหรือข้อมูลที่ถูกแต่งเติม
- รีวิวร้านอาหารก็มาจากที่ผู้เขียนได้ไปทานอาหารที่ร้านนั้นเอง และรู้สึกประทับใจกับรสชาติอาหาร บริการ และพนักงาน
- รีวิวผลิตภัณฑ์ก็ต้องมจากประสบการณ์ของผู้รีวิวโดยตรง คือ ได้ทดลองใช้ครีมตัวนั้นเอง และเห็นผลลัพธ์ตามที่ระบุ
รีวิวต่อตัวสินค้าหรือบริการโดยตรง หมายถึงการแสดงความคิดเห็นหรือให้คะแนนเกี่ยวกับ ตัวสินค้าหรือบริการนั้นๆ โดยเฉพาะ ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่บุคคลหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องในทางเสียหาย การรีวิวต่อตัวสินค้าหรือบริการโดยตรง เป็นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต หากเราทุกคนร่วมกันเขียนรีวิวที่ดี มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ จะช่วยให้สังคมออนไลน์เป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
- มุ่งเน้นไปที่คุณสมบัติต่าง ๆ ของสินค้าหรือบริการว่าตรงตามที่ระบุไว้หรือไม่ ทำงานได้ดีแค่ไหน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างไร
- บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้งานจริง เช่น ความสะดวกสบายในการใช้งาน, ประโยชน์ที่ได้รับ, ปัญหาที่พบเจอ (ถ้ามี) และวิธีการแก้ไข
- สามารถเปรียบเทียบกับสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่เคยใช้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
- ไม่ควรโจมตีบุคคลหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องในทางเสียหาย เช่น ด่าทอ พูดจาหยาบคาย หรือกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐาน
รีวิวต้องมีหลักฐาน เมื่อเราเขียนรีวิวเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการใด ๆ เราควรจะสามารถนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงหรือหลักฐานมาสนับสนุนความคิดเห็นของเราได้ เช่น ภาพถ่าย วิดีโอ ใบเสร็จ หรือประสบการณ์ที่จับต้องได้อื่น ๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เราพูดนั้นเป็นความจริง หลักฐานมีอะไรบ้าง
- ภาพถ่าย เช่น ภาพถ่ายสินค้าที่เสียหาย ภาพถ่ายใบเสร็จ ภาพถ่ายการเปรียบเทียบสินค้า
- วิดีโอ เช่น วิดีโอสาธิตการใช้งานสินค้า วิดีโอรีวิวสินค้า
- ใบเสร็จ ใบเสร็จการซื้อสินค้า ใบรับประกัน
- เอกสารอื่น ๆ เช่น ผลการทดสอบ บทความวิจัย
ตัวอย่างการเขียนรีวิว แทนที่จะเขียนว่า "ครีมตัวนี้ดีมาก ช่วยให้ผิวขาวใสขึ้น” ควรเขียนว่า "ครีมตัวนี้ช่วยให้ผิวขาวใสขึ้นจริงค่ะ ภายใน 2 สัปดาห์ รอยดำจากสิวจางลงอย่างเห็นได้ชัด (แนบภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังใช้)"
อีกส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาด้วยก็คือการเปิดหรือปิดให้แสดงความคิดเห็นเมื่อต้องเผยแพร่การรีวิวของเราเอง โดยเฉพาะประเด็นในเชิงลบ การตัดสินใจว่าจะปิดคอมเมนต์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเป้าหมายและสถานการณ์ของนักรีวิวเอง ไม่มีกฎตายตัวที่ว่าควรทำหรือไม่ทำ แต่สิ่งสำคัญคือคุณควรพิจารณาข้อดีข้อเสียของทั้งสองทางเลือกอย่างรอบคอบ และเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับคุณที่สุด
หากคุณเลือกปิดคอมเมนต์หมายความว่ารีวิวของคุณมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว หรืออาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของบุคคลอื่น การปิดคอมเมนต์อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด บางครั้งการรีวิวของคุณอาจก่อให้เกิดการโต้เถียงที่รุนแรง หรือมีแนวโน้มที่จะลุกลามบานปลาย หากคุณได้เขียนรีวิวที่สมบูรณ์แล้ว และไม่ต้องการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม การปิดคอมเมนต์ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งการปิดคอมเมนต์ ก็อาจจะทำให้คุณพลาดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้อ่านคนอื่นๆ ซึ่งอาจมีมุมมองที่แตกต่างและเป็นประโยชน์
แต่หากคุณต้องการเปิดให้มีคอมเมนต์ก็หมายความว่านักรีวิวต้องการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อ่านและสร้างชุมชนออนไลน์ ต้องการรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นหรือประสบการณ์ที่แตกต่างจากเรา เมื่อเปิดคอมเมนต์ เราก็ควรเตรียมตัวรับมือกับความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งบวกและลบ
การเขียนรีวิวเปรียบเสมือนการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และหากเป็นรีวิวที่ดี รีวิวนั้นก็เปรียบเสมือนเข็มทิศที่ช่วยให้ผู้บริโภคค้นหาสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของตนเอง และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย มาร่วมกันสร้างรีวิวที่ดีด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของเพื่อนผู้บริโภคและผู้ประกอบการสินค้าและบริการต่าง ๆ