ใช้ชีวิตด้วยการบอกลา 6 มะเร็งสุดฮิต
มะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุส่วนใหญ่มาจากไหน ?
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการถ่ายทอดเชื้อมะเร็งจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งเสมอไป
- เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย อย่างเช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภาวะทุพโภชนาการ ที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายได้รับอาหารผิดสัดส่วนทั้งขาดและเกิน ส่งผลให้ร่างกายเกิดความไม่สมดุล
- การสัมผัส หรือ ได้รับสารก่อมะเร็ง เช่น
-ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราเป็นประจำ
-การได้รับเชื้อราที่มักจะปนเปื้อนมากับอาหารประเภทอัลฟาท็อกซิล การกินอาหารที่มีไขมันสูง การกินที่ใส่ดินประสิวเป็นประจำ
-ผู้ที่ชอบกินอาหารรสเค็มจัดและอาหารส่วนที่ไหม้เกรียม
-ผู้ที่โดนแสงแดดจัดและได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานานและเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังได้
6 โรคมะเร็งที่พบบ่อย
เพศชาย
- อันดับ 1 มะเร็งปอด
แม้ตัวเลขผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดในประเทศไทยนั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ แต่จำนวนของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากคนไทยจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นประจำ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ในทุกช่วงวัย อย่างไรก็ตาม หากลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ลงได้ และ ระมัดระวังอาหารประเภท ปิ้ง ย่าง อาหารที่โดนความร้อนสูง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ค่อนข้างมาก
- อันดับ 2 มะเร็งตับ
สาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุดมาจากโรคไวรัสตับอักเสบ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าเป็น เพราะโรคนี้จะไม่ค่อยแสดงอาการ ทำให้คนที่เป็นไวรัสตับอักเสบ มีโอกาสที่จะเป็นตับแข็งได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จนกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด ฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่ามีประวัติครอบครัวเคยเป็นไวรัสตับอักเสบ ควรไปตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ
- อันดับ 3 มะเร็งท่อน้ำดี
ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพญาธิใบไม้ จะพบได้ในเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมชอบกินของดิบ เช่น ปลาร้า ปลาดิบที่เป็นปลาน้ำจืด วิธีป้องกันนั้นง่ายกว่ามะเร็งชนิดอื่น คือ เปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ให้ปรุงสุกก่อนทุกครั้ง
เพศหญิง
- อันดับ 1 มะเร็งเต้านม
ปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม มาจากการได้รับฮอร์โมนเพศหญิงในปริมาณมากเป็นเวลานาน เช่น การรับกินยาคุมกำเนิด การฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตกสำหรับผู้หญิงที่มีบุตรยาก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านพันธุกรรมอีกด้วย มะเร็งเต้านมนั้นสามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ โดยการใช้มือคลำ หรือ ไปตรวจที่โรงพยาบาลเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
- อันดับ 2 มะเร็งปากมดลูก
เมะเร็งปากมดลูกเคยเป็นมะเร็งที่ผู้หญิงไทยเป็นเยอะที่สุด แต่ปัจจุบันมีจำนวนของผู้หญิงไทยที่เป็นโรคนี้ลดลง เพราะมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น ทำให้หลายคนเปิดใจ มีความกล้าที่จะไปตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีวัคซีนที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ที่สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-12 ปี ซึ่งวัคซีนตัวนี้จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ในอนาคต
- อันดับ 3 มะเร็งลำไส้
ผลการวิจัยพบว่า คนที่กินผัก ผลไม้ มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้น้อยกว่าคนที่ชอบกินอาหารฟาสต์ฟู้ด คนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจอุจจาระเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่ามีเลือดปนมากับอุจจาระหรือไม่ นอกจากการตรวจหาเลือดในอุจจาระแล้ว การส่องกล้องลำไส้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถตรวจหามะเร็งลำไส้ได้ดี
พฤติกรรมที่ควรทำ และ ควรเลี่ยง เพื่อห่างไกลโรคมะเร็งร้าย
1.งดสูบบุหรี่และอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
2.กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการอย่างสมดุล โดยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกผักผลไม้ที่หลากหลาย เน้นการกินอาหารประเภทธัญพืช และ อาหารที่มีเส้นใยมากขึ้น ลดการกินอาหารที่มีไขมันสูง
3.อย่ากินอาหารที่หมดอายุ หรือ มีเชื้อรา
4.ลด ละ หรือ งดเว้น อาหารจำพวกปิ้ง ย่าง และหมักดอง
5.หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด หรือ อยู่ในที่มีแสงแดดจัดเป็นเวลานาน ๆ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องหาอุปกรณ์เพื่อช่วยป้องกันร่างกายหรือผิวหนังจากแสงแดด ควรทาครีมกันแดดทั้งผิวหน้าและผิวกาย
6.ออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
7.ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอของร่างกายในแต่ละวัน
8.หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความเครียด
9.ตรวจร่างกายประจำปีเป็นประจำทุกปี หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการปกติซึ่งเป็นอาการของโรคมะเร็งควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที