เทรนด์ใหม่มาแรง 2025 Under Consumption! ยุคใหม่ไม่ติดแกรม เลิกช้อปตามกระแส จ่ายน้อย แต่สุขเยอะ
Under Consumption คืออะไร? ทำไมกำลังจะมาแรงในปี 2025
ในยุคที่คนติด FOMO (Fear of Missing Out) ทุกอย่างในโซเชียลมีเดียดูเหมือนต้องมี ต้องได้ ต้องมีเทส ต้องติดแกรม ชีวิตเรากลายเป็นการแข่งขันกับคนอื่นแบบเงียบ ๆ หลายคนช้อปกระจายตามกระแส ซื้อสิ่งที่อาจไม่ได้จำเป็นจริง ๆ เพียงเพื่อความ “ทันเทรนด์” แต่ปี 2025 นี้ มีแนวโน้มว่าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผู้บริโภคเริ่มปรับตัวเข้าสู่ยุค Under Consumption หรือการบริโภคน้อยลง มีการคิดและไต่ตร่องมากขึ้นก่อนซื้อสินค้า และเห็นคุณค่าของคุณภาพผลิตภัณฑ์มากขึ้น
ทำไมผู้บริโภคถึงเปลี่ยนพฤติกรรม?
1.เหนื่อยกับการตามกระแส
ทุกวันนี้โลกออนไลน์เต็มไปด้วยคอนเทนต์ “ป้ายยา” ตั้งแต่รีวิวสินค้าจนถึงคลิป unboxing ปักตระกร้า โปรโมท แจกโค้ดกันกระจาย หลายคนห้ามใจซื้อสินค้าตัวใหม่ไม่ได้เพราะกลัวตกเทรนด์ แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่า “มันไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริงเลย” หรือ "ใช้จริงไม่ได้กี่ครั้ง"
2. ลงทุนในด้านอื่นแทนการเอามาช้อปกระจาย
ความมั่นคงทางการเงินกลายเป็น priority หลายคนเริ่มตั้งเป้าหมายใหญ่ ยิ่งในเศรษฐกิจแบบนนี้ การเก็บเงินไว้ ซื้อบ้าน ลงทุนในสุขภาพ หรือท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคำนึงถึง ซึ่งต่างจากการใช้เงินจ่ายของฟุ่มเฟือยในอดีต
3.ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม
Gen Z และ Millennials มีความสนใจด้าน sustainability การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดขยะที่ไม่จำเป็นกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์
แนวคิดแบบ Underconsumption ใช้ให้น้อยสุขให้เยอะ
เทรนด์นี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้อง “ตัดทุกอย่าง” แต่เน้นให้ซื้อสิ่งที่ “สำคัญจริง ๆ” เช่น
•เลือกซื้อสินค้าที่ใช้ได้นาน คุณภาพดี แทนสินค้าตามแฟชั่นที่เปลี่ยนบ่อย
•สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นหรือสินค้า eco-friendly
•ใช้เทคนิค “Pause Before Purchase” หยุดคิดก่อนช้อปว่ามันคุ้มค่าและตอบโจทย์ชีวิตเราจริงไหม
โลกออนไลน์ยังสำคัญ แต่ต้องเลือกเสพ
หลายคนเริ่มเลือกติดตามครีเอเตอร์ที่เน้นให้คุณค่า เช่น คอนเทนต์สร้างแรงบันดาลใจ การเงิน การพัฒนาตัวเอง หรือการใช้ชีวิตแบบ minimal ไม่ใช่แค่รีวิวของแพง ๆ
ปี 2025 จะเป็นจุดเปลี่ยนของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่ได้เน้นการตามกระแสอีกต่อไป การใช้ชีวิตแบบ Under Consumption ไม่เพียงช่วยประหยัดเงิน แต่ยังสร้างสุขที่แท้จริงให้ชีวิตเรา ถ้าคุณเหนื่อยกับการไล่ตาม “สิ่งที่คนอื่นบอกว่าดี” อาจถึงเวลาเริ่มถามตัวเองว่า “อะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับเรา?”