หนังสือ เลี้ยงลูกเชิงบวกวิถีเดนมาร์ก
เลี้ยงลูกเชิงบวกวิถีเดนมาร์ก
ครอบครัวแสนสุข ลูกแสนแฮปปี้ The Danish Way of Parenting
เขียนโดย Jessica Joelle Alexander และ Iben Dissing Sandahl
แปลโดย พญ.นันธ์ชนัน จรัสจรุงเกียรติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
สำนักพิมพ์ ซีเอ็ด
หนังสือเล่มนี้ช่วยแนะนำวิธีเลี้ยงลูก วิธีปรับแนวคิด และการปฏิบัติตัวที่ดีตามแนวทางของชาวเดนมาร์ก ผู้ซึ่งมีความเข้าใจลึกซึ้งถึงการเลี้ยงเด็กให้มีจิตใจมั่นคง มีความสุข ปรับตัวได้ไว และฟื้นตัวได้เร็วเมื่อพบอุปสรรคในชีวิต หลักสำคัญของการเลี้ยงลูกสไตล์เดนมาร์กไม่ยุ่งยากซับซ้อนเลย แค่เพียงเราเปิดใจ รู้จักปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดให้เป็นบวก ไม่ตัดสินถูกผิด แต่ใช้คำพูดเสริมกำลังใจแทนการตำหนิ เหยียดหยาม หรือลงไม้ลงมือ รวมถึงรับฟังและเข้าใจความรู้สึกของลูก
"เด็กที่มีความสุขจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข และผู้ใหญ่ที่มีความสุขก็จะเลี้ยงลูกของเขาให้มีความสุข เป็นเช่นนี้ต่อๆไป"
PARENT การเป็นพ่อแม่
P Play การเล่น
"การเล่นนั้นดูเสมือนเป็นการผ่อนคลายจากการเรียนที่เคร่งเครียด แต่สำหรับเด็กๆแล้ว การเล่นคือการเรียนรู้ที่จริงจัง"
กล่าวโดย เฟรด.โรเจอรส์
การเล่นในที่นี้ หมายถึงการที่เด็กๆได้เล่นคนเดียว หรือเล่นกับเพื่อนอย่างอิสระได้นานเท่าที่เขาต้องการ
"การเล่นอิสระช่วยให้เด็กวิตกกังวลน้อยลง" สอนให้เด็กฟื้นตัวจากปัญหา ความสามารถในการฟื้นตัวจากปัญหานี้เองที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำนายความสำเร็จเมื่อเป็นผู้ใหญ่ การมีความยืดหยุ่น ควบคุมอารมณ์ และจัดการความเครียดได้ เป็นลักษณะสำคัญของผู้ใหญ่ที่เก่งและมีสุขภาพดี
สิ่งสำคัญที่สุดอย่างแรกคือ เด็กควรได้เป็นเด็กและได้เล่น
หัวใจศาสตร์การเลี้ยงลูกแบบชาวเดนมาร์กอยู่ที่หลักการที่ชื่อว่า "พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ" คือเด็กควรได้รับอิสระในระดับที่พอเหมาะที่จะเรียนและเล่นในพื้นที่ที่เหมาะสม และได้รับการช่วยเหลือในระดับพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป
เชื่อว่าพื้นฐานแล้ว เด็กต้องการอิสระและความไว้วางใจให้ทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง ก่อและแก้ปัญหาได้เอง สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กภูมิใจในตัวเอง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง เพราะมันเกิดจากพลังใจในตัวเด็กเอง ไม่ใช่จากภายนอก
A Authenticity การเป็นตัวของตัวเอง
"ไม่มีสิ่งใดที่คุณจะให้ลูกหรือที่ลูกจะทิ้งไว้ให้แก่โลกได้ยิ่งใหญ่ไปกว่า ความซื่อสัตย์"
กล่าวโดย วิลเลียม เชกสเปียร์
การเป็นตัวของตัวเองเริ่มต้นจากการรู้จักอารมณ์ของตัวเอง
ถ้าเราสอนเด็กๆให้รู้จักและยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองไม่ว่าจะด้านดีหรือร้าย และสอนให้ทำสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเอง เมื่อนั้นความยากลำบากและอุปสรรคในชีวิตจะไม่สามารถทำอะไรพวกเขาได้
การเป็นตัวของตัวเองคือการมองเข้าไปภายในใจ ค้นหาสิ่งที่ใช่สำหรับตนเองและครอบครัว ไม่กลัวที่จะทำตามสิ่งที่อยู่ในใจ อนุญาตให้ตัวเองได้สัมผัสความต้องการของตัวเองและทำตามนั้น มากกว่าฝังมันไว้หรือละเลยไป
การเรียนรู้ที่จะทำตาม"เป้าหมายในใจ" เช่น พัฒนาความสัมพันธ์ ทำงานอดิเรกที่ชอบ มากกว่าที่จะทำตาม"เป้าหมายภายนอก" เช่น ซื้อรถใหม่ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยสร้างความผาสุกที่แท้จริง
คำชมแบบเดนมาร์ก
คุณค่าของการเป็นคนถ่อมตนคือรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยคนอื่นมาทำให้ ชาวเดนมาร์กจึงพยายามไม่ให้คำชมแก่เด็กๆมากเกินไป แต่มักจะให้ความสนใจผลงานมากกว่า ช่วยให้เด็กเน้นความสำคัญของตัวงาน ชมในความพยายามหรือกระบวนการทำงาน ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาสามารถทำสิ่งต่างๆได้ดี เป็นวิธีที่ดีกว่าการให้เด็กรู้สึกว่าเขาเก่งและทำได้แล้ว เป็นการวางรากฐานที่มั่นคง เพื่อให้เด็กใช้ในการพัฒนาและเติบโตต่อไป สิ่งนี้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งภายในและการฟื้นตัวจากอุปสรรค "วิธี"ที่เราให้คำชมแก่ลูกๆมีผลอย่างมาก
ทำให้เด็กเห็นว่าเขาทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จในปัจจุบัน และต้องทำอะไรอีกเพื่อความสำเร็จในอนาคต
การชมเด็กว่าฉลาด มีพรสวรรค์ เขาจะเริ่มมีความคิดแบบตายตัว เขาจะไม่พยายาม ในทางกลับกันสอนเด็กว่าสติปัญญาของพวกเขาพัฒนาได้ด้วยการเรียนรู้และฝึกฝน จะมีความคิดแบบเติบโต จะให้ความสำคัญกับความพยายามมากกว่าสติปัญญา เมื่อเผชิญกับความล้มเหลวจะพยายามมากขึ้น และมองหาวิธีการใหม่ๆ แทนที่จะยอมแพ้ นี่คือตัวอย่างการฟื้นตัวจากอุปสรรค
R Reframing การมองมุมใหม่
"หิมะยังตกอยู่เลย" อียอร์บ่นเสียงหงอย
"ใช่ หิมะยังตกอยู่"
"และมันก็หนาวมากๆด้วย"
"อย่างนั้นรึ"
"ใช่" อียอร์ตอบ "แต่ถึงอย่างนั้น..." อียอร์พูดพร้อมสีหน้าที่สดใสขึ้นเล็กน้อย "เราก็ไม่ได้มีแผ่นดินไหวมาสักพักแล้วนะ"
กล่าวโดย เอ.เอ.มิลน์,วินนี-เดอะ-พูห์
คำพูดแบบเดนมาร์กมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมันทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ไม่ได้เป็นการเสแสร้งว่าเรื่องแย่ๆไม่ได้มีอยู่จริง แต่แค่ชี้ชวนให้ลองดูอีกด้านหนึ่งที่เราไม่เคยนึกถึง ใช้คำพูดเสริมกำลังใจ
การมองโลกในแง่ดีตามจริง
สอนทักษะการปรับมุมมองที่มีต่อสถานการณ์เคร่งเครียด การเรียนรู้ที่จะปรับมุมมองตั้งแต่อายุน้อยๆ ช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถปรับมุมมองต่อสิ่งต่างๆได้อย่างเป็นธรรมชาติ และสิ่งนี้เองเป็นพื้นฐานสำคัญในการฟื้นตัวจากปัญหา
คำพูดนั้นทรงพลังมาก มันคือกรอบที่เราใช้มองตัวเองและโลกรอบตัว ความจริงที่เรารับรู้ขึ้นอยู่กับคำพูดที่เราใช้ จะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตได้ก็ต่อเมื่อเปลี่ยนคำพูดที่ใช้ ปัญหาจะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อมันถูกเรียกว่าปัญหา
ในฐานะผู้ใหญ่เรามีหน้าที่บอกทาง ช่วยชี้ให้เด็กเห็นสิ่งที่เป็นบวกและอ่อนโยนมากขึ้น
E Empathy การเห็นอกเห็นใจ
"สิ่งที่สวยงามและสิ่งที่ดีที่สุดบนโลกนี้ ไม่อาจมองเห็นด้วยตาหรือรับรู้ด้วยการสัมผัส แต่รับรู้ได้ด้วยใจ"
กล่าวโดย เฮเลน เคลเลอร์
พ่อแม่มีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการเป็นแบบอย่างแสดงความเห็นอกเห็นใจ ไม่ว่าด้วยท่าทางหรือคำพูดก็ตาม เนื่องจากเด็กๆ สนใจพ่อแม่ตลอดเวลาและมักเลียนแบบสิ่งที่พ่อแม่ทำ ดังนั้นสิ่งที่เด็กเรียนรู้ในบ้านจะกลายเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจในชีวิตต่อไป
พ่อแม่มีหน้าที่ถนอมจิตใจลูก มากกว่าให้ความบันเทิงหรือความรู้เพียงอย่างเดียว รวมทั้งส่งเสริมให้ลูกมีความเห็นอกเห็นใจด้วย ถ้อยคำที่พ่อแม่ใช้หรือเรื่องที่เล่าเกี่ยวกับคนอื่น สำคัญมากต่อการสอนลูกให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา (เลือกใช้ถ้อยคำดีๆ เพื่อวางรากฐานให้มองเห็นข้อดีของผู้อื่น)
การส่งเสริมเรื่องความเห็นอกเห็นใจ ไม่ล้อเลียนหรือทำให้ผู้อื่นอับอาย กล้าเปิดเผยด้านที่อ่อนแอ และเป็นตัวของตัวเองเมื่ออยู่กับครอบครัว จะช่วยให้คุณและลูกๆเป็นคนไม่ตัดผู้อื่นจากภายนอก
การสอนเรื่องความเห็นอกเห็นใจแก่เด็กในช่วงแรกของชีวิต จะช่วยให้เขาพัฒนาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบข้างได้ในอนาคต ซึ่งเราต่างก็รู้ดีว่าความสัมพันธ์ที่ดีเป็นรากฐานของความสุขที่แท้จริงในชีวิต
N No Ultimatums การไม่ยื่นคำขาด
"ชนะตัวเองดีกว่าชนะศึกนับพันครั้ง"
กล่าวโดย พระพุทธเจ้า
เราต่างเคยเห็นเพื่อนและพ่อแม่คู่อื่นๆ จำนวนมากตะคอกหรือตีเด็กๆ ซึ่งสาเหตุมาจากความหงุดหงิดที่ลูกไม่ยอมทำตามแม้จะยื่นคำขาด เช่น "ถ้าลูกไม่หยุดเดี๋ยวนี้ เจอดีแน่" เมื่อยื่นคำขาดออกไปและไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว พ่อแม่จะรู้สึกว่าต้องทำตามสิ่งที่พูด เพื่อแสดงถึงความมีอำนาจและควบคุมลูกได้ ซึ่งสุดท้ายจะจบลงด้วยการลงไม้ลงมือ
ความจริงที่โหดร้ายเกี่ยวกับการตี งานวิจัยต่างๆเกือบ 80 ชิ้น ไม่พบข้อดีหรือประโยชน์จากการทำโทษลูกทางร่างกายเลย แต่สิ่งที่พบคือ เด็กที่ถูกตีจะซึมเศร้าและรู้สึกตัวเองด้อยค่า การทำโทษรุนแรงนอกจากไม่เกิดผลดีแล้วยังทำให้เกิดผลเสียด้วย เพราะปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้ที่จะโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษ ทำให้เด็กมีปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ดื่มสุราและใช้สารเสพติด
สาเหตุที่พ่อแม่ตีลูกเพราะเข้าใจว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ แต่มันได้ผลเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่ได้ผลอีกเลย
ความหนักแน่นและความเมตตาที่พ่อแม่มีสามารถแทนที่อารมณ์โกรธได้ ทำให้ไม่ถลำไปกับการแย่งชิงอำนาจระหว่างตัวเองกับลูก และไม่ยื่นคำขาดใดๆออกไป การหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้จะทำให้ครอบครัวมีบรรยากาศที่สงบ ปลอดภัย
วิธีเลี้ยงลูก 4 แบบ
1) เลี้ยงลูกแบบเผด็จการ พ่อแม่ดุ ชอบออกคำสั่ง แต่จะไม่ตอบสนองความต้องการของลูก พวกเขาต้องการการเชื่อฟังและมีมาตรฐานสูง เด็กที่มีพ่อแม่ลักษณะนี้จะประสบความสำเร็จด้านการเรียน แต่จะมีปัญหาเรื่องขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึมเศร้า และขาดทักษะทางสังคม
2) เลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่ พ่อแม่กลุ่มนี้มักใช้เหตุผล ให้ความอบอุ่น และตอบสนองความต้องการของลูก ถึงแม้เขาจะคาดหวังในตัวลูกสูง แต่จะคอยให้กำลังใจและฝึกระเบียบวินัย ลูกของพ่อแม่กลุ่มนี้จะฉลาด จิตใจดี มีทักษะทางสังคมดี และมีระเบียบวินัย
3) เลี้ยงลูกแบบตามใจ พ่อแม่กลุ่มนี้จะตอบสนองต่อความต้องการของลูก และตามใจลูกมากจนแทบจะไม่วางกฎระเบียบหรือให้คำแนะนำที่เหมาะสม ปล่อยให้ลูกรับผิดชอบการกระทำของตน เด็กที่มีพ่อแม่ลักษณะนี้มักมีปัญหาที่โรงเรียนและมีปัญหาพฤติกรรมทั่วไป
4) เลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย พ่อแม่กลุ่มนี้จะไม่สนใจเลี้ยงดูลูก ไม่อบรมสั่งสอนและไม่ตอบสนองต่อความต้องการของลูก เด็กที่มีพ่อแม่ลักษณะนี้จะไม่ประสบความสำเร็จและมีปัญหาในทุกๆด้าน
วิธีเลี้ยงลูกแบบชาวเดนมาร์กมีความเป็นประชาธิปไตยมาก คล้ายกับการเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ พวกเขาจะตั้งกฎเกณฑ์ให้ลูกปฏิบัติตาม แต่ก็จะอธิบายและตอบคำถามลูกเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่างๆด้วย ชาวเดนมาร์กมองว่า"โดยเนื้อแท้แล้วเด็กเป็นคนดี" และจะปฏิบัติต่อเด็กด้วยความเห็นใจ
หากมองพวกเขาเป็นผ้าขาวบริสุทธิ์และทำตามวัยที่ธรรมชาติกำหนดมา คุณจะตอบสนองด้วยความรัก เอ็นดู ให้อภัยได้ง่ายและจะช่วยเหลือพวกเขามากกว่าลงโทษ คุณจะอดทนได้มากขึ้นถ้ามองเห็นความดีงามและเจตนาที่ไม่มีพิษภัยของเด็กที่มักถูกมองว่าน่ารำคาญ
(จงตระหนักว่าไม่ใช่ตัวเด็กที่ไม่ดี แต่การกระทำของเด็กต่างหากที่ไม่ดี การแยกสิ่งเหล่านี้ออกจากกันให้ได้สำคัญมาก)
T Togetherness and Hygge ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและฮุกกะ
"ทีมที่ดีจะกลายเป็นทีมที่ยอดเยี่ยม เมื่อสมาชิกในทีมเชื่อใจกันและกันมากพอ จนเปลี่ยนจาก"ฉัน" เป็น "พวกเรา" "
กล่าวโดย ฟิล แจ็กสัน
ฮุกกะ (hygge) แปลว่า "การอยู่ร่วมกันอย่างสบายใจ" เป็นวิถีชีวิตของชาวเดนมาร์ก การจุดเทียนด้วยกัน เล่นเกมด้วยกัน รับประทานอาหารดีๆด้วยกัน ชิมเค้กและดื่มชาด้วยกัน หรืออยู่เป็นเพื่อนกันในบรรยากาศที่อบอุ่นสบายๆ ล้วนเป็นฮุกกะ
มันเป็นทั้งความรู้สึกและวิถีชีวิต เป็นการละทิ้งความวุ่นวายสับสนแล้วเลือกมีความสุขในช่วงเวลาที่มีความหมายกับคนสำคัญที่สุดในชีวิต ซึ่งก็คือ ลูก คนในครอบครัว และเพื่อนๆ
การทำให้เกิดช่วงเวลาที่อบอุ่นสบายใจ มีความเรียบง่าย บรรยากาศเป็นบวก ทิ้งปัญหาไว้ข้างหลัง ต้องการที่จะอยู่และเลือกอยู่ในช่วงเวลาที่มีค่าเหล่านั้น ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในครอบครัว เปรียบเหมือนการทำงานกลุ่มที่ทุกคนต้องช่วยกันทำงานเพื่อเป้าหมายที่มีร่วมกัน ซึ่งแตกต่างไปจากปัจเจกบุคคล ถ้าพวกเราทุกคนช่วยกันทำให้เวลาที่อยู่ด้วยกันเป็นเวลาที่อบอุ่น ก็จะช่วยให้บรรยากาศการรวมญาติดีขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะเดียวกันเราก็มีความสุขมากขึ้นด้วย
สำหรับชาวเดนมาร์กแล้ว การมีประสบการณ์ที่อบอุ่นและเปี่ยมไปด้วยความรักร่วมกัน เป็นจุดมุ่งหมายสุดท้ายและเป็นตัวอย่างที่ดีที่ควรส่งต่อแก่ลูกๆ "การมีความรู้สึกร่วมกับผู้อื่นนั้น ทำให้ชีวิตเรามีความหมาย"
สำหรับท่านใดที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านจากเล่มนี้ได้นะคะ ภายในเล่มแนะนำเกร็ดเล็กๆน้อยๆไว้อีกอย่างเช่นวิธีพูดกับลูก ดีมากๆเลยค่ะ