พฤติกรรมความรุนแรง เป็นอาการทางจิตเวชหรือไม่ ?
พฤติกรรมความรุนแรง หมายถึง การแสดงออกทางความคิด ความรู้สึก คำพูด การกระทำ ส่งผลให้บุคคลหรือทรัพย์สินเกิดความเสียหาย ซึ่งบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนใหญ่มักมีความบกพร่องในการปรับอารมณ์และจิตใจในวัยเด็ก ทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปในทางก้าวร้าวในช่วงวัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งอาจร้ายแรงกลายเป็นอาชญากรได้
พฤติกรรมความรุนแรง เป็นอาการทางจิตเวชหรือไม่ ?
พฤติกรรมความรุนแรง แสดงออกถึงความก้าวร้าว เช่น ด่าทอ เสียดสี ทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงการก่ออาชญากรรม อาจไม่ใช่อาการทางจิตเวชเสมอไป ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของพฤติกรรมส่วนบุคคล ต้องพิจารณาหลายด้านประกอบกัน แต่พฤติกรรมความรุนแรงบางประเภทก็มีสาเหตุมาจากอาการทางจิตเวชได้
พฤติกรรมความรุนแรง มีสาเหตุจากอะไรบ้าง ?
1.ภาวะทางอารมณ์ จากการถูกกดดัน หรือ ถูกรบกวนทางอารมณ์ ทำให้เกิดภาวะโกรธ หงุดหงิด บางรายอาจแสดงพฤติกรรมความรุนแรงออกมา ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดจากสาเหตุนี้มักมีเป็นครั้งคราวไม่ใช่ทุกครั้ง และ การแสดงออกไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกายผู้อื่น จึงไม่เป็นอันตราย สามารถเกิดได้กับคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรค
2.โรคทางจิตเวช ผู้ป่วยทางจิตเวชบางรายแสดงพฤติกรรมความรุนแรงออกมาได้ในบางกรณี อาจมีสาเหตุมาจากการขาดยา ทำให้มีอาการหวาดระแวง ประสาทหลอน หรือ ในบางรายมีปัญหาทางด้านอารมณ์บางอย่าง เช่น อารมณ์หงุดหงิด อารมณ์ซึมเศร้า หากมีอาการมาก ๆ อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงได้
3.โรคสมาธิสั้น ที่อาจทำให้เกิดความหงุดหงิด และ ยับยั้งชั่งใจได้ยาก จึงแสดงออกในรูปแบบของพฤติกรรมความรุนแรง แต่โรคจิตเวชก็ไม่ได้ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมความรุนแรงเสมอไป
4.โรคทางกาย ยกตัวอย่าง ผู้ใช้สารเสพติด ได้รับสารที่ไปกระตุ้นอารมณ์ให้เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ อาจทำให้เกิดอาการคล้ายโรคทางจิตเวช เช่น ประสาทหลอน ทำให้มีพฤติกรรมความรุนแรงเกิดขึ้น หรือ อาจเกิดจากโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคทางระบบประสาท ลมชักบางชนิด ที่ทำให้มีอาการพฤติกรรมความรุนแรง
5.ครอบครัวส่งผลต่อพฤติกรรมรุนแรง หากเติบโตในครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวมักใช้ความรุนแรงอยู่เสมอ เด็กที่เติบโตในครอบครัวนั้นอาจมีพฤติกรรมความรุนแรงเช่นกัน เด็กกลุ่มนี้อาจเลือกใช้พฤติกรรมความรุนแรงในการปรับตัวให้เข้ากับสังคม เลือกใช้กำลังแก้ไขปัญหา แต่ก็อาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเด็กบางคนที่เติบโตในครอบครัวที่มีพฤติกรรมความรุนแรง ก็อาจหลีกเลี่ยงการใช้พฤติกรรมนี้
6.สังคมภายนอก เช่น โรงเรียน อิทธิพลของสื่อ โซเชียลมีเดีย ที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าถึงเนื้อหาที่หลากหลาย ซึ่งเยาวชนโดยเฉพาะเด็กเล็ก สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ โดยที่ไม่สามารถไตร่ตรองได้ว่าถูกหรือผิด นำไปสู่พฤติกรรมลอกเลียนแบบที่อันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
การแสดงออกของพฤติกรรมความรุนแรง
1.การใช้วาจาที่รุนแรง หยาบคาย ด่าทอ เสียดสี รวมถึงการเขียนแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เพื่อทำให้อีกฝ่ายเกิดความทุกข์ใจ
2.การใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญหรือกดดัน ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกกดดันทางจิตใจ
3.การใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเกิดอันตรายถึงชีวิต
พฤติกรรมความรุนแรงจะเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง ?
1.สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย วัยรุ่นอาจมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีความอยากลองทำอะไรเสี่ยง ๆ หรือ อยากเป็นตัวของตัวเอง และมีการควบคุมหรือยับยั้งชั่งใจต่ำ
2.กลุ่มคนที่มีความกดดันทางจิตใจบางอย่าง มักสะท้อนออกมาว่า ณ เวลานั้นมีความกดดันเกิดขึ้น และ อยากต่อสู้หรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงความอันตราย เหมือนเป็นการปกป้องตัวเอง
3.กลุ่มคนที่เป็นโรคหรือภาวะบางอย่าง ทำให้สูญเสียการควบคุมทางอารมณ์
หากไม่ได้รับการรักษาพฤติกรรมความรุนแรงจะเป็นอย่างไร ?
1.ผลเสียด้านร่างกาย มีอันตรายต่อการใช้ชีวิต เป็นภัยต่อตนเอง ต่อผู้อื่น
2.ผลเสียด้านสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจ อาจมีความกดดันเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกระทั่งมากขึ้น รวมถึงตัวโรคที่ไม่ได้รับการรักษา
3.ผลเสียด้านกฎหมาย อาจทำให้กลายเป็นคนที่มีคดีติดตัว อันเกิดจากการกระทำที่รุนแรงของตนเอง
4.ผลเสียด้านสังคม สังคมไม่ยอมรับหรือเกลียดชัง
ป้องกันแก้ไขพฤติกรรมความรุนแรงอย่างไร ?
- พ่อแม่ต้องปรับปรุงการเลี้ยงดูลูกให้เหมาะสม มีกฎกติกาในบ้านที่ชัดเจน ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ไม่ตามใจหรือเข้มงวดมากเกินไป
-ครอบครัวมีส่วนร่วม มีการแสดงความเห็นร่วมกัน สอบถามความเห็น ความรู้สึกของกันและกัน พูดคุยด้วยเหตุผล และไม่ตอบสนองลูกตามอารมณ์ของพ่อแม่ ไม่ออกคำสั่งเชิงลบเปลี่ยนไปใช้คำพูดเชิงบวก เช่น จากการตะโกนออกคำสั่งให้เด็กไปทำการบ้านเดี๋ยวนี้ ให้ใช้น้ำเสียงปกติ บอกเด็กว่าตอนนี้คือเวลาทำการบ้าน เมื่อทำเสร็จแล้วจะได้มากินข้าวเย็นร่วมกันทั้งครอบครัว
-เมื่ออีกฝ่ายเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวให้เข้าไปกอดปลอบด้วยความอ่อนโยน ให้เขาค่อย ๆ สงบลง จากนั้นชี้แจ้งให้เข้าใจสาเหตุ ด้วยคำอธิบายที่สั้น ชัดเจน และ บอกถึงเหตุการณ์ที่เกิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้อารมณ์ เหตุการณ์นี้ก็สามารถผ่านไปได้โดยง่าย
-เลี่ยงใช้คำตำหนิที่ทำให้เกิดปมด้อยเมื่ออีกฝ่ายแสดงความก้าวร้าว เช่น ไอ้คนเกเร ก้าวร้าว อันธพาล แนะนำเขาให้ควบคุมอารมณ์ บอกเขาว่าคนเราสามารถเกิดความโกรธได้ แต่ ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง คำพูดก้าวร้าว ด่าท้อ ทำลายข้าวของ ให้เขาค่อย ๆ พูดออกมาว่าสาเหตุของความก้าวร้าวมาจากเรื่องใด ให้เขาค่อย ๆ ลำดับความเพื่อให้ตัวเขาเท่าทันอารมณ์ตนเอง ฝึกให้เขารับมืออารมณ์ด้วยเหตุผล
-ให้รับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำ เมื่ออีกฝ่ายแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาแล้วกระทบต่อผู้อื่น ให้เขากล่าวคำขอโทษต่อบุคคลนั้น หากข้าวของเสียหายก็ให้เขาชดใช้ ให้ใช้น้ำเสียงที่หนักแน่นจริงจัง ไม่ควรใช้น้ำเสียงก้าวร้าวคืนในระดับที่เขาทำ เพราะจะกระตุ้นให้เขาแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกว่าเดิม
ถึงแม้จะทราบสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่การจะทำให้ความรุนแรงหมดไปจากสังคม ยังเป็นไปได้ยาก เพราะปัญหาจากการท้องไม่พร้อม ความไม่สมบูรณ์ของครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และ สาเหตุอีกมากมายที่ทำให้หลายคนเติบโตมาอย่างไม่มีคุณภาพ ดังนั้น เราสามารถเริ่มต้นได้จากการดูแลตนเองและครอบครัวให้ไกลจากความรุนแรง ให้พูดคุยกันด้วยเหตุผลและความอ่อนโยน อีกทั้งการที่พยายามหลีกเลี่ยงบุคคลที่มีพฤติกรรมรุนแรง หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิต เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนใกล้ชิด ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่มีคนแสดงพฤติกรรมรุนแรงได้