หัวเราะบำบัด สุขภาพดี ด้วยเสียงหัวเราะ “Laughing Therapy” 7 กระบวนท่าในการหัวเราะ
หัวเราะบำบัด หรือ Laughing Therapy คือ การบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ใช้การหัวเราะเพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูสุขภาพทางกายและสุขภาพทางใจ อีกหนึ่งแนวทางการบำบัดรักษาแบบไม่ต้องใช้ยา (non-pharmacological treatment)
การหัวเราะบำบัดจะเกิดขึ้นจากภายใน โดยผู้หัวเราะจะคอยควบคุมเส้นประสาทสรีระกายตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ รวมทั้งกระบวนการหายใจให้ขยับ ขับเคลื่อน เลียนแบบอาการยามที่หัวเราะ โดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งเร้าให้เกิดอารมณ์ขันก็ได้ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการแสร้งหัวเราะ เพื่อแฮกร่างกายให้หลั่งสารสื่อประสาทต่าง ๆ ที่เป็นผลดีออกมา เป็นการผสมผสานระหว่างการหัวเราะและการควบคุมลมหายใจเข้าด้วยกัน และกำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศไม่น้อย เนื่องจากสามารถทดแทนการบำบัดด้วยการใช้ยาคลายเครียด และยาแก้ปวดได้เลยทีเดียว
การหัวเราะยังช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อเราหัวเราะ ร่างกายก็เพิ่มระดับความเข้มข้นของแอนติบอดี้ (Immunoglobulin) ที่เป็นสารภูมิต้านทานโรคถึง 3 เท่า และอินเตอร์เฟียรอน (Interferon) ที่มีฤทธิ์ขัดขวางการเพิ่มจำนวนของไวรัสถึง 200 เท่า รวมทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว (Natural Killer Cell) ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น
ด้านสุขภาพจิต การหัวเราะสามารถช่วยลดระดับความเครียดได้ โดยจะกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ที่จะหลั่งออกมาเพื่อให้อารมณ์ดี มีความสุข ช่วยลดระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดและอารมณ์ด้านลบ อย่างเช่น ความวิตกกังวล ความโกรธ และภาวะซึมเศร้า รวมถึงช่วยทำให้นอนหลับดีขึ้น และลดภาวะสมองเสื่อมได้อีกด้วย
7 กระบวนท่าหัวเราะ
การฝึกหัวเราะบำบัดมีหลากหลายท่า และแต่ละท่ามีจุดประสงค์และประโยชน์ที่แตกต่างกัน ยกหลัก ๆ มาด้วยกัน 7 ท่า ที่สามารถทำตามได้ไม่ยากนัก ดังนี้
1.ท่าท้องหัวเราะ (เปล่งเสียง ‘โอ’)
การฝึก ยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย กำมือให้อยู่ในระดับท้อง หายใจเข้าเปล่งเสียง “โอ” จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกพร้อมออกเสียง “โอะ”
ประโยชน์ ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร บรรเทาปัญหาท้องผูก ท้องเสีย
2.ท่าอกหัวเราะ (เปล่งเสียง ‘อา’)
การฝึก ยืนตัวตรง กางขา และกางแขนออกเหมือนกระพือปีก แต่ให้หงายมือขึ้น ตามองตรง สูดลมหายใจแล้วกักไว้ ค่อย ๆ เปล่งเสียง “อา” จากนั้นให้ปล่อยลมหายใจออก พร้อมกับกระพือแขนขึ้นลง
ประโยชน์ ช่วยบริหารหัวใจ ปอด เพิ่มการสูบฉีดของเลือด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและความดัน
3.ท่าคอหัวเราะ (เปล่งเสียง ‘อู’)
การฝึก ยืนตัวตรง กางขา และเอาแขนแนบลำตัว แล้วค่อย ๆ ยกตั้งฉากไปข้างหน้า งอนิ้วทำท่ายิงปืน จากนั้นสูดลมหายใจลึก ๆ แล้วค่อย ๆ ปล่อยออกมา พร้อมเปล่งเสียง “อู”
ประโยชน์ ช่วยคลายอาการเจ็บคอ คออักเสบ เหมาะสำหรับผู้ใช้เสียงมาก
4.ท่าใบหน้าหัวเราะ (เปล่งเสียง ‘เอ’)
การฝึก ปล่อยตัวยืนตามสบาย แล้วค่อย ๆ ยกมือขึ้นมาขยับทุกนิ้วพร้อมสูดหายใจลึก ๆ ระหว่างนั้นให้เปล่งเสียง “เอ” ไปเรื่อย ๆ
ประโยชน์ ช่วยบริหารสมอง ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่นิ้วมือ คลายความเครียด ลดปวดศีรษะ
5.ท่าตาหัวเราะ (ทำเสียง ‘อ่อย’)
การฝึก เพียงกะพริบตาถี่ ๆ กรอกตาขึ้นลงเป็นวงกลม แล้วเปล่งเสียง “อ่อย” ไปเรื่อย ๆ สลับกับมองซ้ายทีขวาที
ประโยชน์ ช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้น ผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบ ๆ
6.ท่าจมูกหัวเราะ (ทำเสียง ‘ฮึ’)
การฝึก เพียงแค่ย่นจมูกขึ้นและทำเสียง “ฮึ” คล้ายพ่นลมออกจากจมูก
ประโยชน์ ช่วยไล่สิ่งสกปรกในจมูก บรรเทาอาการภูมิแพ้และโรคไซนัส
7.ท่าไหล่หัวเราะ (เปล่งเสียง ‘เอ-เอะ’)
การฝึก ยืนตรง ส่ายไหล่ไปมา คล้ายกำลังว่ายน้ำด้วยไหล่ พร้อมเปล่งเสียง “เอ-เอะ” ไปเรื่อย ๆ
ประโยชน์ ช่วยเรื่องการบริหารไหล่ ลดอาการปวด