ทำไมถึงเกิดกิเลสแรงในวันพระ
ทำไมถึงเกิดกิเลสแรงในวันพระ
โดยเฉพาะวันพระที่เป็นวันเพ็ญ
บางทีก็ห้ามใจจากกิเลสผิดๆไม่ไหว
ประสบการณ์ส่วนตัวของหลายๆคน
ทำให้สงสัยเช่นนั้น
การพูดถึงแบบลอยๆ
ตลอดจนศึกษาวิจัยจริงจัง
เกี่ยวกับผลกระทบของ
คืนวันพระจันทร์เต็มดวงนั้น มีมานาน
ส่วนใหญ่ออกแนวลือกันว่าอย่างนั้นอย่างนี้
ไม่ใช่งานวิจัยจากการเก็บสถิติกันเป็นเดือนเป็นปี
ที่น่าเชื่อถือหน่อย
ก็มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กในสวีเดน
เจาะจงเฉพาะพฤติกรรมในการนอนหลับ
ช่วงคืนวันเพ็ญ ของคนจำนวน ๔๗ คน
ช่วงอายุ ๑๘ ถึง ๓๐ ปรากฏว่า
คืนวันเพ็ญนอนหลับกันน้อยลง ๒๐ นาที
ซึ่งหมายความว่า
วันเพ็ญมีอิทธิพลกับพฤติกรรมมนุษย์จริง
อย่างน้อยก็ในแง่การหลับนอน
ซึ่งถึงปัจจุบันข้อมูลเท่าที่มี คือ
สมองจะไวต่อสิ่งรบกวนรอบตัวมากขึ้น
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
จุดใหญ่ใจความอยู่ตรงนี้
ถ้าสมอง (ซึ่งทางพุทธไม่ใช่จิต)
มีความอ่อนไหวต่อสิ่งเร้ามากขึ้น
ก็แปลว่า
เรามีสิทธิ์เกิดราคะผิดๆมากขึ้น
เกิดโทสะแรงๆง่ายขึ้น
ธรรมเนียมนิยม
ในการ ‘ตัดไฟแต่ต้นลม’ แบบพุทธ
คือ ตั้งใจเก็บตัวรักษาศีล ๘ ที่วัดไปเลย
เพราะถ้าตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่า
จะงดเว้น จะออกห่างจากแหล่งกิเลส
ฟังธรรม เจริญสตินั่งสมาธิเดินจงกรม
โอกาสที่กิเลสจะสำแดงเดชก็แทบไม่เหลือ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
แม้ปัจจุบัน ฆราวาสส่วนใหญ่
ไม่สะดวกจะถือศีล ๘ วันพระ
อย่างน้อย แค่ตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่า
จะถือศีล ๕
ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน
ให้สะอาด (ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้)
ตกกลางคืน
สวดอิติปิโสเต็มปากเต็มคำสัก ๓ จบ
เท่านี้ ก็เรียกว่า
ประพฤติธรรมน้องๆถือศีลอุโบสถแล้ว
หลังจากเอาชนะกิเลสวันแรงได้
จะไปยี่หระอะไรกับกิเลสวันเบา
ถ้าหากว่า‘ทำบุญขึ้น’ ในวันพระ
สามารถถอนใจออกมา
จากหล่มกิเลสวันแรงได้
จะไปยี่หระอะไรกับกิเลสวันเบา
นี่จึงเป็นอุบายประกอบความเข้าใจ
สำหรับผู้ที่ต้องการเอาชนะกิเลสหยาบๆ
ชนะบาปและความร้ายกาจของตนเองให้ได้ว่า
เราจะถือปฏิบัติพรหมจรรย์ในช่วงวันพระ
ไปเพื่ออะไร!