นักวิจัยของจีน ค้นพบวิธีกำจัดไมโครพลาสติกที่ปะปนอยู่ในน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงถึง 99.8% เลยทีเดียว
เป็นการรายงานข่าวมาจากสำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อวานนี้ (2 ธันวาคม 2567) ว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ของจีนพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ในการกำจัดไมโครพลาสติกหรืออนุภาคพลาสติกขนาดเล็กในน้ำ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในมลพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และสร้างความกังวลแก่ผู้บริโภคมากที่สุด โดยผลการศึกษาในวารสารไซแอนซ์ แอดวานซ์ส อธิบายถึงโฟมชนิดใหม่ที่สามารถใช้ซ้ำและย่อยสลายทางชีวภาพ ซึ่งสามารถดูดซับไมโครพลาสติกในน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงถึง 99.8% ในการใช้ครั้งแรก ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง ใช้โฟมเส้นใยคงทนทำจากไคตินของกระดูกปลาหมึกและเซลลูโลสจากฝ้าย โฟมดังกล่าวมีโครงสร้างเป็นรูพรุน ที่สามารถดึงดูดและทำปฏิกิริยากับไมโครพลาสติก ที่มักพบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ทีมนักวิจัยประเมินประสิทธิผลของโฟมนี้ โดยใช้ตัวอย่างจากแหล่งน้ำจริงบนโลก 4 ประเภท ได้แก่ น้ำชลประทาน น้ำทะเลสาบ น้ำทะเล และน้ำบ่อ เพื่อตรวจสอบว่า สามารถใช้งานโฟมนี้ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้หรือไม่ โฟมนี้ดูดซับไมโครพลาสติกเกือบ 100% ในการเก็บตัวอย่างรอบแรก และมีอัตราการกำจัดวัสดุที่ทำจากไบโอโพลิเมอร์สูงเกิน 95% หลังจากเก็บตัวอย่าง 5 รอบ ซึ่งสะท้อนความสามารถใช้ซ้ำที่ดี ผลการศึกษาระบุว่า ความสามารถดูดซับของโฟม ยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากอนุภาคอนินทรีย์ โลหะหนัก สารมลพิษอินทรีย์ และจุลินทรีย์ในน้ำ โดยโฟมดังกล่าวอาจเป็นแนวทางอันคุ้มค่า ในการแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนในน้ำที่มีความซับซ้อน ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยยื่นจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว และหวังจะนำไปใช้บำบัดน้ำในโลกความเป็นจริงหรือเครื่องกรองน้ำตามบ้านเรือนในอนาคตอันใกล้