ประวัติศาสตร์ทิเบต (เขตปกครองตนเองทิเบต)
ทิเบต ตั้งอยู่ในใจกลางของทวีปเอเชีย ระหว่างประเทศจีนกับอินเดีย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร ในบริเวณที่มีภูเขาและที่ราบสูงที่สุดในโลก มีอากาศแห้งและหนาวเย็น รวมทั้งที่ราบกลางหุบเขาริมแม่น้ำอันกว้างใหญ่หลายสาย อันเป็นที่พำนักพิงของชาวทิเบต ผู้ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง มาเป็นเวลาช้านาน และมีชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างจากผู้คนในประเทศเพื่อนบ้าน ชาวทิเบต ได้มีการพัฒนาทางวัฒนธรรม ที่มีเอกลักษณ์ในตนเอง ทั้งยังมีการพัฒนาด้านสติปัญญาและจิตใจ ได้แก่ การมีภาษาที่โดดเด่น มีวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ และมีผลงานศิลปะที่น่ามหัศจรรย์ นอกจากนี้ อารยธรรมของชาวทิเบต ซึ่งสืบเนื่องมาเป็นเวลาหลายพันปีนั้น ยังเป็นอารยธรรมที่สูงส่ง และมีคุณค่าสืบทอดต่อกันมา เป็นมรดกของมนุษยชาติ
ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ชาวจีนและชาวทิเบต-พม่าดั้งเดิมอาจจะแยกออกจากกันเมื่อราว 3,457 ปีก่อนพุทธศักราช เมื่อชาวจีนเริ่มอพยพเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ในขณะที่ชาวทิเบตพม่าดั้งเดิมยังเป็นผู้ร่อนเร่ ชาวทิเบตแยกตัวออกจากชาวพม่าชัดเจน เมื่อราว พ.ศ. 943 พบหลักฐานในยุคเหล็กและยุคสำริดในที่ราบสูงฉางตั้งแต่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด วัฒนธรรมในบริเวณนี้เป็นที่รู้จักในชื่อวัฒนธรรมซังซุง ซึ่งมีกล่าวถึงในเอกสารโบราณของทิเบตและเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนาเพิน
ตำนานทางประวัติศาสตร์ กษัตริย์องค์แรกของทิเบต ญาชีแจ็นโป (གཉའ་ཁྲི་བཙན་པོ།) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ถู่ปัว เชื่อกันว่าเป็นผู้เสด็จมาจากสวรรค์หรือมาจากอินเดีย และโดยลักษณะที่แปลกไปจากมนุษย์เช่น มีพังผืดระหว่างนิ้วและหนังตาปิดจากล่างขึ้นบน คนท้องถิ่นจึงเชื่อว่าพระองค์เป็นเทวดามาจุติ มีอิทธิฤทธิ์พลังวิเศษ กษัตริย์พระองค์นี้และองค์ต่อ ๆ มาทั้งหมด 7 องค์ ติดต่อกับสวรรค์ได้โดยมีสายเชือกโยงกับสวรรค์ เป็นลำแสงสูง 1 ฟุตอยู่เหนือศีรษะ เมื่อสิ้นพระชนม์ก็กลายร่างเป็นสายรุ้งหรือไต่บันไดฟ้ากลับคืนสู่สรวงสรรค์ โดยไม่มีกายหยาบเหลือทิ้งไว้
กษัตริย์องค์ที่ 8 คือ ชีคุมแจ็นโป (གྲི་གུམ་བཙན་པོ་) ยุแหย่ให้องครักษ์ของพระองค์ชื่อโลงัม (Lo-ngam) ต่อสู้กับพระองค์ ในระหว่างการต่อสู้ สายเชือกที่โยงพระองค์กับสวรรค์ถูกตัดขาด และพระองค์ถูกฆ่าตาย ตั้งแต่นั้นมากษัตริย์ทุกพระองค์จึงทิ้งซากศพไว้ในเมืองมนุษย์ และต้องนำไปฝัง
อีกตำนานหนึ่ง ชาวทิเบตเป็นลูกหลานของลิงกับยักษ์ ลิงนั้นจริง ๆ แล้วคือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (ภาษาทิเบต: སྤྱན་རས་གཟིགས།) ส่วนยักษ์นั้นคือพระนางตารา
ยุคจักรวรรดิทิเบต จักรวรรดิทิเบตเรืองอำนาจ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 โดยมีอาณาเขตทางใต้จรดเบงกอล ทางเหนือจรดมองโกเลีย
การปรากฏตัวครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มีการกล่าวถึงทิเบตครั้งแรก ในหนังสือภูมิศาสตร์ ของปโตเลมีในชื่อ บาทายซึ่งมาจากชื่อพื้นเมือง “Bod” ทิเบตปรากฏในประวัติศาสตร์จีนครั้งแรกในชื่อ “ฟู่กั๋ว” (附国) เมื่อพระเจ้านัมรีซงแจ็นได้ส่งราชทูตไปจีนในพุทธศตวรรษที่ 12
การก่อตั้งราชวงศ์ การก่อตัวของทิเบต เริ่มที่ปราสาทตักเซ ในตำบลชิงบา เขตชองกยา ตามที่กล่าวถึงในพงศาวดารทิเบตโบราณ “กลุ่มของผู้สนับสนุนยุยงให้ตันบูญาซิกก่อกบฏต่อต้านคูทริ ซิงโปเช” ซิงโปเชนี้เป็นขุนนางของจักรวรรดิซังซุงภายใต้การปกครองของราชวงศ์สิกมยี ซิงโปเชตายก่อนที่กลุ่มกบฏจะชนะ และลูกชายของเขาคือนัมรีซงแจ็น ขึ้นเป็นผู้กุมอำนาจคนต่อมา และเป็นผู้ก่อตั้งจักรวรรดิทิเบตขึ้น เขาส่งทูตไปจีนสองครั้งในพ.ศ. 1191 และ 1192 เป็นการเปิดตัวต่อนานาชาติครั้งแรกของทิเบต
การถูกรวมเข้ากับจีนครั้งแรก
ทิเบตภายใต้ราชวงศ์ถัง ทิเบตเริ่มมีความสัมพันธ์กับประเทศจีน ในช่วงสมัยราชวงศ์ถัง ค.ศ. 618-906 ทิเบตยอมสยบต่ออำนาจอิทธิพลของจีน ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการให้ อีกทั้งจักรพรรดิถังไท่จงในสมัยราชวงศ์ถังจึงสร้างสัมพันธไมตรีด้วยการยกเจ้าหญิงเหวินเฉิงเป็นมเหสี ในขณะเดียวกันทิเบตก็เริ่มคุกคามเนปาล กษัตริย์เนปาลจึงสร้างสัมพันธไมตรีด้วยการยกเจ้าหญิงกฤกุฎเทวีเป็นมเหสี ซึ่งองค์หญิงทั้งสองต่างเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และได้อัญเชิญพระพุทธรูปและพระคัมภีร์เข้าไปในทิเบต ซึ่งทำให้พระเจ้าซงแจ็นกัมโปแห่งทิเบต ได้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งสร้างวัดทา พระพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในทิเบต ชื่อวัดโชคัง ณ เมืองลาซา และเป็นช่วงที่ทิเบต เริ่มต้นรับศาสนาพุทธนิกายมหายานเข้ามาสู่ประเทศ
สมัยพระเจ้าซงแจ็นกัมโป ใน พ.ศ. 1173 ถือว่าเป็นยุคประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของทิเบต พระเจ้าซงแจ็นกัมโป สนับสนุนให้มีการศึกษาพุทธศาสนาจากคัมภีร์ที่นำเข้ามาตั้งแต่ยุคต้น (พ.ศ. 976) พร้อมดำเนินการปฏิรูปศรัทธาทิเบต ต่อมาประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยการสนับสนุนของพระมเหสี 2 พระองค์ คือพระนางเหวินเฉิง พระธิดาของกษัตริย์ถังไท่จงแห่งจีน และพระนางภริคุติเทวี พระธิดาของพระเจ้าอัมสุวารมาแห่งเนปาล ทั้งสองพระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนามหายานอย่างเคร่งครัด จึงได้นำพระพุทธรูปมาด้วยทั้งสองพระองค์ คือเจ้าหญิงเหวินเฉิง นำพระพุทธรูปชื่อโจโว มาประดิษฐานที่วัดซิลลากัง ในกรุงลาซา และเจ้าหญิงภริคุตเทวีได้นำพระพุทธรูปศากยมุนีที่สำคัญมาประดิษฐานที่วัดราโมเช ซึ่งเป็นวัดหลวง และมีความสำคัญรองเป็นอันดับสองในกรุงลาซา ช่วงนี้ได้มีชาวทิเบตเชื้อพระวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปศึกษาในจีน และพระภิกษุชาวจีนก็มาศึกษาในทิเบตเพื่อแปลพระคัมภีร์และพระสูตรจำนวนมาก ในยุคนี้พระเจ้าซงแจ็นกัมโปได้ทรงส่งทูตชื่อ เทินมี สัมโภฏะ ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา แล้วกลับทิเบต ท่านได้เริ่มงานประดิษฐ์อักษร และเขียนไวยากรณ์สอนชาวทิเบต โดยใช้อักษรพราหมี ที่นิยมใช้กันในกัศมีร์และดำเนินงานเผยแผ่พุทธศาสนาทำให้ประชาชนเลื่อมใส
สมัยพระเจ้ามังซงมังแจ็น (1193 – 1220) สมัยนี้เป็นสมัยที่เสนาบดีตระกูลคัรมีอำนาจ เสนาบดีคัร ซงแจ็น เป็นผู้รวมเขตอาซาเข้ากับทิเบต เขาตายเมื่อ พ.ศ. 1210 ทิเบตชนะและเข้ายึดครองโกตันในช่วง พ.ศ. 1208 – 1213 พระเจ้ามังซงมังแจ็น อภิเษกกับเจ้าหญิงทริมาโล ซึ่งต่อมาเป็นผู้มีบทบาทมากในประวัติศาสตร์ทิเบต พระเจ้ามังซงมังแจ็นสิ้นพระชนม์ในปลายปี พ.ศ. 1219 หลังจากนั้นอาณาจักรซังซุงก่อกบฏต่อทิเบต และเป็นปีเดียวกับที่ชีตวีซงแจ็น โอรสของพระเจ้ามังซงมังแจ็นประสูติ
สมัยพระเจ้าชีตวีซงแจ็น (1220 – 1247) พระเจ้าชีตวีซงแจ็น ปกครองทิเบต ภายใต้การบงการของมารดาคือพระนางทริมาโล และเสนาบดีคัร ตันยาดมบู พ.ศ. 1228 เสนาบดีผู้นี้ถึงแก่กรรม น้องชายของเขาคือคัร ตริดริงซันโดร ขึ้นมากุมอำนาจแทน พ.ศ. 1235 ทิเบตเสียที่ราบตาริมให้จีน ตริดริงซันโดรรบชนะจีนได้ในพ.ศ. 1239 และมีการทำสัญญาสงบศึกกัน ใน พ.ศ. 1241 พระเจ้าชีตวีซงแจ็นเชิญตระกูลคัร (มากกว่า 2,000 คน) มาในงานเลี้ยงแล้วจับประหารชีวิตทั้งหมด มีเพียงตริดริงซันโดรที่ได้รับอนุญาตให้ฆ่าตัวตาย กองทหารที่ภักดีต่อเขาหนีไปสวามิภักดิ์ต่อจีน อำนาจของตระกูลคัรจึงสิ้นสุดลง ตั้งแต่ พ.ศ. 1243 จนสวรรคต พระเจ้าชีตวีซงแจ็นได้ขยายอำนาจออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของเขตทิเบตกลางโดยให้มารดาของพระองค์คือพระนางทริมาโลบริหารประเทศแทน พ.ศ. 1245 จีนกับทิเบตทำสัญญาสงบศึก ในปลายปีนั้นทิเบตเข้าครอบครองเขตซุมรูทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในฤดูร้อนของ พ.ศ. 1246 พระเจ้าชีตวีซงแจ็นยกทัพไปถึงแม่น้ำยังเซและรุกรานดินแดนยาง (Jang) พ.ศ. 1247 ยกทัพไปตีเมียวา (Mywa) บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงแต่พระองค์สิ้นพระชนม์ในการรบครั้งนี้
สมัยพระเจ้าชีเตจุกแจ็น (1247 – 1297) กยัล ซุกรูที่ต่อมาจะขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชีเตจุกแจ็น เกิดเมื่อ พ.ศ. 1247 เมื่อพระเจ้าชีตวีซงแจ็นสิ้นพระชนม์ พระนางทริมาโลจึงเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมือง พี่ชายที่แก่กว่ากยัล ซุกรู 1 ปี คือ ลาบัลโพถูกตัดสิทธิในการขึ้นครองบัลลังก์ พระนางทริมาโลเชิญเจ้าหญิงซินเชิงจากจีนแต่ไม่ทราบว่าอภิเษกกับใครระหว่างกยัล ซุกรูที่อายุเพียง 7 ปีหรือลาบัลโพ กยัล ซุกรูขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1255 ในนามพระเจ้าชีเตจุกแจ็น หลังจากที่พระนางทริมาโลสิ้นพระชนม์ ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่พวกอาหรับและเตอร์กิส มีอำนาจมากขึ้น ระหว่าง พ.ศ. 1253 – 1263 ทิเบตทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับอาหรับและเติร์กตะวันออก ทิเบตทำสงครามกับจีนใน พ.ศ. 1272 ช่วงแรกทิเบตและชาวเติร์กที่เป็นพันธมิตรไดรับชัยชนะแต่มาเพลี่ยงพล้ำในช่วงหลัง จนกระทั่งเกิดกบฏในจีนตอนใต้และทิเบตกลับมาชนะอีกครั้งในพ.ศ. 1273 จึงมีการสงบศึก
ใน พ.ศ. 1277 มีการอภิเษกระหว่างเจ้าหญิงดรอนมาโลนของทิเบตกับข่านสูงสุดของชาวเติร์ก จีนเป็นพันธมิตรกับอาหรับเข้ารุกรานชาวเติร์ก เมื่อสงครามจีน – เติร์ก สิ้นสุดลง จีนหันมาโจมตีทิเบต ทิเบตประสบชัยชนะในแนวรบด้านตะวันออกและยันไว้ได้ในแนวรบด้านตะวันตก เมื่อจักรวรรดิของชาวเติร์ก ล่มลงด้วยปัญหาภายใน ทิเบตได้เข้าโจมตีดินแดนของชาวเติร์ก เมื่อ พ.ศ. 1280 กษัตริย์บรูซาของเติร์กขอให้จีนช่วย แต่ทิเบตก็เข้ายึดครองดินแดนของชาวเติร์กไว้ได้จน พ.ศ. 1290 อำนาจของทิเบตในเอเชียกลางอ่อนแอลงจนสูญเสียเมืองขึ้นไปเกือบหมด ทั้งนี้เนื่องด้วยความสามารถของนายพลเถา เซียนฉี ของจีนที่มุ่งมั่นจะเปิดการติดต่อโดยตรงระหว่างจีนกับเอเชียกลางและแคชเมียร์อีกครั้ง หลังจากสงครามระหว่างจีนกับอาหรับใน พ.ศ. 1294 อำนาจของจีนในเอเชียกลางเริ่มอ่อนแอลงอีก ส่วนอำนาจของทิเบตเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา พ.ศ. 1298 พระเจ้าชีเตจุกแจ็นถูกปลงพระชนม์โดยเสนาบดีจังและบัล เจ้าชายซอง เดซันได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา
สมัยพระเจ้าชีซงเตแจ็น ใน พ.ศ. 1298-1340 พระเจ้าชีซงเตแจ็น กษัตริย์องค์ที่ 5 นับจากพระเจ้าซงแจ็นกัมโปได้ไปอาราธนา พระศานตรักษิต ที่เคยศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาลันทามาเผบแผ่หลักคำสอนอันบริสุทธิ์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากท่านสอนแต่หลักธรรม แต่ไม่สอนเวทมนตร์คาถา แต่ชาวทิเบต มีความเชื่อเรื่องอำนาจภูติผีของลัทธิบอน และขณะนั้นเกิดโรคระบาด และภัยธรรมชาติ ทำให้ประชาชนเชื่อว่าท่านนำเหตุการณ์นี้มาด้วย ท่านได้กลับไปอินเดีย แล้วไปอาราธนา พระปัทมสัมภวะ พระราชโอรสของพระเจ้าอินทรภูมิ แห่งแคว้นอุทยานซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานให้ไปเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิตันตระ ถูกกับอัธยาศัยของประชาชน ท่านมีความชำนาญในเรื่องไสยศาสตร์สามารถปราบปีศาจ และทำให้ภูติผีปีศาจกลับมาสนับสนุนปกป้องพระพุทธศาสนาด้วย เหตุการณ์จึงสงบประชาชนฝ่ายข้าราชการ และฝ่ายราชสำนักก็ยอมรับนับถือท่านว่าเป็น คุรุรินโปเช คือพระอาจารย์ใหญ่ของพวกเขา ท่านปัทมสัมภวะได้สร้างวัดในพุทธศาสนาแห่งแรกของทิเบตในนาม วัดสัมเย ตามความเชื่อของอินเดียที่มีเขาพระสุเมรุ (อ่านว่า เขา-พระ-สุ-เมน) อยู่ตรงกลาง มีอารามอยู่ 4 ทิศ และมีอารามด้านนอกอีกแปดทิศ เป็นสัญลักษณ์ของทวีปในจักรวาล มีอีกวัดทางตะวันออก และตะวันตกเฉียงเหนือเป็นสัญลักษณ์พระจันทร์ และพระอาทิตย์ ในวัดนี้มีห้องสมุด ห้องนั่งสมาธิโดยอาจารย์สอนสมาธิจากจีน พุทธศาสนาลัทธิตันตระ เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา จนถึง พุทธศตวรรษที่ 16 มีชื่อกำหนดแยกจำเพาะออกไปว่า "นิกายเนียงมา (เนียงมาปะ) หรือนิกายหมวกแดง" ต่อมาพระศานตรักษิต ได้กลับทิเบตเพื่อปฏิบัติศาสนกิจครั้งจนมรณภาพที่นั่น ท่านได้แปลพระคัมภีร์ และเป็นอุชฌาย์บวชให้แก่ชายหนุ่มทิเบต 5 คน เพื่อวางรากฐานการบวชสายทิเบต ตามพระราชดำริของพระเจ้าชีซงเตแจ็น อุปสมบทกรรมที่นั่นมีพระนิกายสรวาทสติวาทร่วมด้วย 12 รูป
สมัยพระเจ้าชีเตซงแจ็น (1342 – 1358) ในสมัยนี้มีการทำสงครามต่อต้านอาหรับทางตะวันตก ทิเบตแผ่อำนาจไปได้ไกลถึงสมารขัณฑ์และคาบูล แต่ต่อมารัฐบาลของทิเบตในคาบูลหันไปรวมกับอาหรับและเปลี่ยนเป็นมุสลิม ในช่วง พ.ศ. 1355 – 1358 พวกอาหรับแผ่อิทธิพลไปไกลถึงแคชเมียร์ ในเวลาเดียวกัน ชาวอุยกูร์รุกรานทิเบตทางตะวันตกเฉียงเหนือด้วย
การต่อต้านพุทธศาสนา พุทธศาสนาในยุคนี้ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ทิเบตเป็นอย่างดี บางองค์เป็นนักปราชญ์รอบรู้พุทธธรรมลึกซึ้ง คือ พระเจ้าเสนาเล ซึ่งทรงสละราชสมบัติออกผนวชเป็นภิกษุ ใน พ.ศ. 1357 ได้มีการทำพจนานุกรมภาษาสันสกฤต-ทิเบต และในรัชสมัยของพระเจ้าราลปาเชน (พ.ศ. 1359) มีการเขียนประวัติศาสตร์ทิเบตเป็นฉบับแรก กษัตริย์พระองค์นี้มีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้าถึงกับสยายพระเกศารองเป็นอาสนะให้พระสงฆ์นั่งล้อมแสดงธรรมถวายพระองค์ พระสงฆ์ได้รับสิทธิพิเศษเป็นราชครู มีพระรูปหนึ่งมีผู้ถวายอาหารเจ็ดครอบครัว มีการลงโทษผู้ที่ไม่เคารพพระสงฆ์ สุดท้ายมีการลอบปลงพระชนม์ เนื่องจากพระองค์ทรงแต่งตั้งชาวพุทธให้ดำรงตำแหน่งทางการบริหาร หรือสนับสนุนพุทธศาสนาเกินไป จากนั้น พระเจ้าลางทรมาที่ทรงถือลัทธิบอนก็ครองราชย์ พระองค์ทรงตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อพุทธศาสนาอยู่หลายปี ได้ทำลายวัดวาอารามที่สำคัญสองแห่งในนครลาซา กำจัดพระสงฆ์โดยให้ลาสิกขา ต่อมามีพระสงฆ์แต่งตัวด้วยชุดดำ ทาม้าสีดำ สวมหมวกสีดำเข้ามาปะปนกับประชาชน ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าลางทรมาสำเร็จ
ความแตกแยกของทิเบต หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าลางทรมา เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับผู้สืบทอดราชบัลลังก์ระหว่างยุมตันกับโอซุง การรวมศูนย์อำนาจของทิเบตสิ้นสุดตั้งแต่สมัยนี้จนถึงยุคของนิกายสักยะจึงมีการรวมตัวอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มของโอซุงเข้าครอบครองกรุงลาซา กลุ่มของยุมตันเข้าปกครองยาลุง ต่างตั้งตัวเป็นกษัตริย์ไม่ขึ้นต่อกัน ใน พ.ศ. 1453 โอรสของโอซุงชื่อบัลโคริซันเข้าควบคุมดินแดนทีเบตกลางชั่วระยะเวลาหนึ่ง และสืบต่อให้โอรสอีกสององค์คือดาราซิ เซ็นซันและทริคยีดิง ต่อมาทริคยีดิงอพยพไปสู่ทิเบตตะวันตกและตั้งราชวงศ์ของตนขึ้น
หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิทิเบตใน พ.ศ. 1385 ญิมะ-กอนก่อตั้งราชวงศ์ลาดักมีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองลาดักปัจจุบัน ลูกชายคนโตของคยิเด ญิกอนกลายเป็นผู้ปกครองเขตมัรยุล (หรือลาดัก) และลูกชายคนรองอีกสองคนปกครองทิเบตตะวันตกในนามอาณาจักรกูเกและปู-ฮรัง ในยุคท้ายกษัตริย์ของกูเกชื่อ ชังจุบ เยเซ โอ บวชเป็นพระภิกษุ เขาส่งนักวิชาการไปแคชเมียร์เพื่อเชิญท่านอตีศะเข้าสู่ทิเบต เมื่อ พ.ศ. 1583 ถือเป็นการฟื้นฟูพุทธศาสนาในทิเบตอีกครั้งหนึ่ง
การฟื้นฟูพุทธศาสนา:กำเนิดนิกายเกลุก ศาสนาพุทธยังคงเหลืออยู่ในทิเบตในเขตคาม ในสมัยพระเจ้าลางทรมา พระภิกษุสามรูปถูกขับออกจากลาซาไปยังอัมโด ศิษย์ผู้ติดตามชื่อ มุซุ ซาเอลบาร์ ต่อมาเป็นที่รู้จักในนามนักวิชาการคองปะ รับซัล เป็นผู้ฟื้นฟูศาสนาพุทธในทิเบตตะวันตกเฉียงเหนือ และเป็นที่มาของนิกายนิงมะ ในช่วงนั้น ผลของการติดต่อค้าขาย ทายาทของโอซุงส่งชายหนุ่มสิบคนมาเรียนพุทธศาสนากับรับซัล หนึ่งในจำนวนนี้มี ลูเม เชรับ ซุลทริมซึ่งกลับไปเผยแพร่ศาสนาพุทธในแคว้นอูและจั้ง ในทิเบตภาคกลาง กลุ่มของนักวิชาการเหล่านี้มีการพบปะกับพระอตีศะในช่วงสั้น ๆ เมื่อ พ.ศ. 1585 ทำให้มีการตั้งองค์กรพุทธศาสนาที่โลคา และการตั้งนิกายสักยะในพ.ศ. 1616 อีก 200 ปีต่อมา นิกายสักยะได้เติบโตจนเป็นนิกายสำคัญในทิเบต พ.ศ. 1698 นิกายกรรมะปะได้ก่อตัวขึ้น
ใน พ.ศ. 1600 ถือว่าเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าสู่ทิเบตโดยตรง ประดิษฐานมั่นคง เป็นศาสนาประจำชาติครั้งใหญ่สุดท้าย และมีนิกายแตกแยกออกไปมาก โดยมีพระทีปังกรศรีชญาณ หรือ พระอติศะ จากมหาวิทยาลัยวิกรมศาลาในแคว้นพิหาร ได้เข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาในทิเบต หลังจากนั้นปลายยุคนี้ ท่านสองขะปะ (พ.ศ. 1918) ซึ่งเป็นนักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต ได้อาศัยหลักคำสอนนี้แล้วตั้งนิกาย "นิกายเกลุก หรือเกลุกปะ หรือหมวกเหลือง" ขึ้น นิกายนี้องค์ดาไลลามะปัจจุบันสังกัดอยู่ และมีอิทธิพลในภาคกลางของทิเบต
ยุคศาสนจักร
ยุคอิทธิพลมองโกล ชาวทิเบตรับรู้ถึงการที่ชาวมองโกล เข้าครอบครองจักรวรรดิตันกัต ใน พ.ศ. 1750 การติดต่อระหว่างทิเบตกับมองโกลที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกคือการพบปะระหว่างเจงกีสข่านกับซังปะ ดุงคุรวาและศิษย์อีกหกคนซึ่งอาจจะเป็นการพบกันในเขตจักรวรรดิตันกัตเมื่อ พ.ศ. 1758
หลังจากเจ้าชายโกเดนแห่งมองโกลเข้าควบคุมโกโกนอร์ในพ.ศ. 1782 เพื่อหาโอกาสเข้าตีจีนในสมัยราชวงศ์ซ่งจากทางตะวันตกเขาได้ส่งนายพลคอร์ดาไปสำรวจทิเบตเมื่อ พ.ศ. 1783 ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ วัดของนิกายกรรมะปะถูกเผาและคน 500 คนถูกฆ่า ความตายของโอโกเดย ข่านสูงสุดของมองโกลใน พ.ศ. 1784 ทำให้แผนการณ์ครองโลกชะงักไปชั่วคราว มองโกลเริ่มสนใจทิเบตเมื่อ พ.ศ. 1787 เมื่อเจ้าชายโกเดนเชิญสักยะบัณฑิตผู้นำนิกายสักยะ มายังเมืองหลวงของพระองค์ซึ่งถือเป็นการยอมจำนนต่อมองโกลของทิเบต สักยะบัณฑิตไปถึงโกโกนอร์พร้อมด้วยหลานชายสองคนคือ โดรกอน โชกยัล พักปะ และชนะ ดอร์เจ เมื่อ พ.ศ. 1789 เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่กล่าวว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน อย่างไรก็ตามมีข้อโต้แย้งจากนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ทิเบตว่ายุคของมองโกล ทิเบตกับจีนถือเป็นหน่วยทางการเมืองคนละหน่วยกัน
การถูกรวมเข้ากับจีนครั้งที่สอง
ทิเบตภายใต้การปกครองของราชวงศ์หยวน เมื่อมองเกเป็นข่านสูงสุดของมองโกลเมื่อ พ.ศ. 1794 เขาได้มอบหมายให้น้องชายคือกุบไลข่านเป็นผู้ดูแลทิเบต และหาโอกาสรุกรานจีน ใน พ.ศ. 1796 สักยะบัณฑิตถึงแก่กรรม กุบไลข่านจึงตั้งให้ โดรกอน โชกยัล พักปะ เป็นตัวแทนของทิเบต กุบไลข่านได้รับเลือกเป็นข่านสูงสุดของมองโกลหลังจากที่มองเกข่านถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 1803 เป็นช่วงจังหวะที่มองโกลส่งกองทัพเข้าตีประเทศจีนได้สำเร็จ ราชวงศ์ซ่งล่มสลาย ดินแดนจีนถูกปกครองในที่สุด กุบไลข่านได้ตั้งราชวงศ์แบบจีนขึ้นนามว่า ราชวงศ์หยวน ดินแดนทิเบตได้ถูกรวมให้อยู่ในเขตการปกครองของดินแดนจีน
ต่อมา พ.ศ. 1808 โดรกอน โชกยัล พักปะ กลับสู่ทิเบตและตั้งให้นกายสักยะเป็นผู้ปกครองมีอำนาจสูงสุดในทิเบตเมื่อ พ.ศ. 1810 ยุคนี้ทิเบตถูกแบ่งออกเป็น 13 เขต
เมื่อ พ.ศ. 1812 โดรกอน โชกยัล พักปะ เดินทางไปพบกุบไลข่านอีกครั้งที่เมืองคานบาอิก (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) เขาได้ประดิษฐ์อักษรสำหรับภาษามองโกเลียเรียกอักษรพัก-ปา ทำให้ได้รับการยืนยันอีกครั้งว่าเขาคือผู้มีอำนาจปกครองทิเบต นิกายสักยะมีอำนาจในทิเบตจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 แม้ว่าจะมีการกบฏโดยนิกายกาจูที่ได้รับการสนับสนุนจากฮึเลกึข่านในเขตอิลข่าน การกบฏเริ่มเมื่อ พ.ศ. 1828 และถูกปราบโดยความร่วมมือของนิกายสักยะและทหารมองโกลตะวันออกใน พ.ศ. 1833 โดยมีการเผาวัดของนิกายกาจู และมีคนถูกฆ่าถึง 10,000 คน
ใน พ.ศ. 2089-2130 มีกษัตริย์มองโกลนามว่า อัลตัลข่าน ได้พบกับประมุขสงฆ์ของนิกายเกลุกที่ชื่อว่า สอดนัมยาโส แล้วเลื่อมใส เนื่องจากท่านสืบเชื้อสายมาจากนิกายสักยะ และพักโมดรุ ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลในทิเบต มีการดัดแปลงวัดที่นิกายอื่นอ่อนแอในการปกครอง และทิ้งให้ร้างให้เป็นวัดนิกายเกลุก (หมวกเหลือง) กษัตริย์มองโกลทรงเชื่อว่าประมุขสงฆ์นี้เคยเป็นอาจารย์ของพระองค์ในชาติก่อน เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นกุบไลข่าน จึงถวายตำแหน่ง "ทะไลลามะ" (คำว่าทะไลลามะ "ทะไล" เป็นภาษามองโกลแปลว่า ทะเล หรือ กว้างใหญ่ "ลามะ" หมายถึง พระหรือคฤหัสถ์ที่มีความรู้ความชำนาญ แต่ชาวทิเบตนิยมใช้คำว่า "คยาวา ริมโปเช" คือ ชัยรัตนะ) นับว่าเป็นต้นกำเนิดทะไลลามะครั้งแรก และท่านสอดนัมวังยาโสก็ได้ถวายตำแหน่ง "ธรรมราชาทรงความบริสุทธิ์" แก่อัลตันข่านเป็นการตอบแทน ท่านสอดนัมวังยาโสถือว่าตนเองเป็นทะไลลามะองค์ที่ 3 เพราะท่านได้ถวายตำแหน่งย้อนขึ้นไปแก่อวตารในสองชาติแรกของท่านด้วย ในขณะที่ท่านมีพระชนม์ชีพท่านได้สร้างวัดพระพุทธรูปหนึ่งพันองค์ ได้เผยแผ่พระศาสนาสู่มองโกเลีย และทิเบตตะวันออกซึ่งเคยเป็นดินแดนอิทธิพลของลัทธิบอน จนท่านได้ตำแหน่งพิเศษจากราชวงศ์หมิงของจีน ถึงยุคทะไลลามะองค์ที่ 4 นิกายหมวกเหลืองก็ยังเจริญรุ่งเรืองเพราะมีทหารมองโกลหนุนหลังอยู่
ยุคทะไลลามะครองอำนาจ ในยุคของโลซัง กยัตโส ทะไลลามะองค์ที่ 5 (พ.ศ. 2158-2223 ชาวมองโกลในทิเบตไม่มีเอกภาพ ทำให้เจ้าเมืองซังอัน ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของทิเบตชิงบัลลังก์ลาซาไปได้ ทะไลลามะองค์นี้ซึ่งมีมองโกลสนับสนุน จึงขอความช่วยเหลือไปยัง กุชรีข่าน ผู้นำมองโกลให้มายึดอำนาจคืนสำเร็จ และมอบอำนาจการปกครองทิเบตทั้งหมด คือฝ่ายอาณาจักร และศาสนจักรให้แก่ทะไลลามะ และเป็นครั้งแรกที่ทะไลลามะได้อำนาจสูงสุดทั้งหมด จากนั้นท่านก็ได้ย้ายที่ประทับที่พระราชวังโปตาลา นครลาซา ชาวทิเบตมีความเชื่อว่าทะไลลามะเป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ผู้กรุณา และเชื่อว่าปันเชนลามะ ผู้มีอำนาจรองจากทะไลลามะเป็นอวตารของพระอมิตาภะ แต่ทะไลลามะนั่งสมาธิแบบเนียงมา พลอยทำให้นิกายเนียงมาเจริญไปด้วย แต่นิกายโจนังหลังจากท่านตารนาถ ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์มีชื่อเสียงแล้วถูกยึดวัดทั้งหมด ถือว่านิกายเกลุกพัฒนารุ่งเรืองตามคำสอนของพระนาครชุน พระอสังคะ เป็นต้น แม้ลัทธิบอนก็ยังนำไปพัฒนาตนเองของตนเอง จนทะไลลามะสวรรคต ชาวทิเบตจึงถวายพระนามว่า "มหาปัญจะ" เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ แม้พระองค์จะเสด็จสวรรคตแล้วยังมีผู้อ้างว่าทะไลลามะเสด็จเข้าสมาธิระยะยาว แล้วสำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยปิดข่าวการสวรรคตนานถึง 13 ปี เพื่องานฟื้นฟูวังโปตาลาต่อไป จากนั้นมีการแต่งตั้งทะไลลามะองค์ที่ 6 แต่พระองค์โปรดการแต่งกวี และสนใจผู้หญิง ไม่สนใจบริหารประเทศ จึงถูกเนรเทศไปจีนแต่สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง
ในสมัยของทะไลลามะองค์ที่ 5 มีมิชชันนารีนิกายเยซูอิตสองคนเข้าไปถึงทิเบตแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ มีมิชชันนารีกลุ่มอื่น ๆ เข้าไปในทิเบตด้วยเช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
การถูกรวมเข้ากับจีนครั้งที่สาม ทิเบตภายใต้ราชวงศ์หมิง การถูกรวมเข้ากับจีนครั้งที่สี่ ทิเบตในฐานะส่วนในหนึ่งของราชวงศ์ชิง
อาณาเขตราชวงศ์ชิง เมื่อราชวงศ์หมิงล่มสลาย เป็นช่วงที่ชาวแมนจูรุกรานและเข้าปกครองแผ่นดินจีนได้ตั้งราชวงศ์ชิงขึ้น ในรัชสมัยจักรพรรดิคังซีได้ทรงรวมทิเบตเข้ากับราชวงศ์ชิงทำให้จีนมีอำนาจอธิปไตยในทิเบตมาตั้งแต่บัดนั้น
เมื่อจีนเข้ายึดครองทิเบตตั้งแต่ ค.ศ. 1720 ซึ่งเป็นศักราชคังซีปีที่ 58 ได้มีการแต่งตั้งดาไลลามะองค์ที่ 7 ขึ้นสู่อำนาจแทน ตั้งแต่นั้นมาทิเบตก็เป็นดินแดนของราชสำนักชิงมาโดยตลอด แม้ในยุคจักรวรรดินิยมอังกฤษที่ยึดครองอินเดียและรัสซียที่ยึดครองซินเจียงบางส่วนเอาไว้ ก็มีสนธิสัญญาร่วมกันกับราชสำนักชิงเพื่อคำประกันการมีอำนาจอธิปไตยของราชสำนักชิงเหนือดินแดนทิเบตมาตลอด
ยุคจักรวรรดินิยม
พุทธศตวรรษที่ 23-24 ทิเบตเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2315 เนื่องจากภูฏานส่งทหารเข้าโจมตีเขตคชพิหารของอังกฤษ จนทางอังกฤษตัดสินใจทำสงครามกับภูฏาน แต่ปันเชนลามะจากทิเบตเข้ามาไกล่เกลี่ยสำเร็จ ถือเป็นครั้งแรกที่อังกฤษหันมาสนใจทิเบต อังกฤษพยายามติดต่อกับทิเบต หวังจะใช้เป็นเส้นทางติดต่อกับจีน แต่ความสัมพันธ์ยังไม่ก้าวหน้า
พ.ศ. 2331 กษัตริย์ชาวกุรข่าของเนปาล ปริทวี นารายัน ชาห์ รุกรานทิเบต ทิเบตไม่สามารถต่อสู้กับกองทัพชาวกุรข่าได้จึงขอให้จีนในสมัยราชวงศ์ชิงช่วย กองทัพผสมทิเบต-จีน ขับไล่กองทัพกุรข่าออกไปสำเร็จ
พ.ศ. 2335 ราชวงศ์ชิงได้เพิ่มระดับการควบคุมทิเบตให้มั่นคงขึ้น และสนับสนุนให้มีการคานอำนาจระหว่างปันเชนลามะกับทะไล ลามะ รวมทั้งเข้าควบคุมการจับสลากเลือกปันเชน ลามะ หรือทะไล ลามะ ในกรณีที่มีผู้อยู่ในข่ายมากกว่า 1 คน ทะไล ลามะองค์ที่ 10, 11 และ 12 คัดเลือกด้วยวิธีนี้ ส่วนทะไล ลามะองค์ที่ 9, 13, และ 14 คัดเลือกโดยฝ่ายทิเบต และได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีนภายหลัง
อังกฤษเข้ามากดดันให้ทิเบตถอนอิทธิพลของตนออกจากเนปาล ในพุทธศตวรรษที่ 24 อำนาจของราชวงศ์ชิงเสื่อมลง ช่วง พ.ศ. 2384 - 2389 ทิเบตทำสงครามกับเนปาล 2 ครั้ง โดยที่จีนติดพันอยู่กับสงครามฝิ่นกับอังกฤษ ไม่สามารถมาช่วยทิเบตได้ หลังจากการรุกรานทิเบตของนายพลโซราวาร์ สิงห์ ทิเบตทำสัญญาสันติภาพกับลาดักและเนปาลโดยรัฐบาลจีนไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง สนธิสัญญาใน พ.ศ. 2399 ทำให้ชาวเนปาลเข้ามาทำการค้าในทิเบตได้โดยเสรี ทิเบตจำต้องลงนามในสนธิสัญญากับเนปาล ให้คนเนปาลได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตในทิเบต
เมื่อรัสเซียขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชียกลาง อังกฤษมองทิเบตด้วยความกังวลใจ เกรงว่ารัสเซียจะเข้าครอบงำทิเบตผ่านทางมองโกเลีย อังกฤษจึงพยายามเข้าไปขยายอิทธิพลในทิเบต จนกระทั่ง พ.ศ. 2446 อังกฤษส่งทหารบุกรุกทิเบต การบุกรุกสิ้นสุดลงโดยการลงนามในสนธิสัญญากำหนดให้ทิเบตเปิดเมืองยาตุง เมืองเกียนเจอและเมืองการ์ตอก เป็นตลาดการค้าสำหรับอังกฤษ ในพุทธศตวรรษที่ 23 ทิเบตเกิดความขัดแย้งกับภูฏานซึ่งมีลาดักสนับสนุน ทำให้ทิเบตรุกรานลาดัก แคชเมียร์เข้าช่วยลาดัก ทำให้กษัตริย์ของลาดักเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม สนธิสัญญาเตมิสกิม พ.ศ. 2227 แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างทิเบตกับลาดัก และแสดงถึงความเป็นอิสระของทิเบตด้วย
พุทธศตวรรษที่ 25: การแทรกแซงของอังกฤษ ผู้ปกครองอังกฤษของอินเดียสนใจทิเบตอีกครั้งในช่วง พ.ศ. 2430 และเริ่มส่งคนจากอินเดียเข้ามาในฐานะนักสำรวจและพ่อค้า สนธิสัญญาเกี่ยวกับทิเบตระหว่างอังกฤษกับจีนมีขึ้นใน พ.ศ. 2429, 2433 และ 2436 ระหว่างเกมอันยิ่งใหญ่เพื่อแย่งชิงเอเชียกลางระหว่างอังกฤษกับรัสซีย อังกฤษต้องการมีอิทธิพลเหนือลาซาเพื่อตัดการขยายอิทธิพลของรัสเซีย พ.ศ. 2447 อังกฤษส่งทหารจากอินเดียภายใต้การนำของ พ.ท. ฟรานซิส ยังฮัสแบนด์ ซึ่งเข้ายึดครองลาซาหลังจากเกิดการสู้รบกันในช่วงเวลาหนึ่ง จีนได้ประท้วงและกล่าวว่าจีนมีอำนาจเหนือทิเบต
สนธิสัญญาที่ตามมาอนุญาตให้ทิเบตเปิดการค้าตามแนวชายแดนกับอินเดีย อนุญาตให้พ่อค้าจากอังกฤษและอินเดียเข้าไปทำการค้าได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องเสียภาษีทางการค้า ทิเบตต้องชดใช้ค่าเสียหาย 2.5 ล้านรูปี และห้ามติดต่อกับต่างชาติโดยที่อังกฤษไม่อนุญาต ขณะนั้นทะไล ลามะองค์ที่ 13 ลี้ภัยไปมองโกเลีย สัญญาจึงลงนามโดยกาเด็น ติ-ริมโปเช
เมื่อพรรคแรงงานมีอำนาจอีกครั้งในอังกฤษจึงอนุญาตให้จีนเข้ามาเจรจาเกี่ยวกับทิเบต สนธิสัญญาอังกฤษ-ทิเบตได้รับการยืนยันด้วยสนธิสัญญาจีน-อังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2449 ในข้อที่ว่า “อังกฤษจะไม่ผนวกดินแดนทิเบตหรือเข้าไปก้าวก่ายการบริหารงานของทิเบต” จีนตกลงที่จะจ่ายค่าเสียหาย 2.5 ล้านรูปีแทนทิเบตด้วย พ.ศ. 2450 อังกฤษและรัสเซียตกลงกันว่าจะไม่เจรจากับทิเบตโดยตรง และถือว่าจีนมีอำนาจเหนือทิเบต พ.ศ. 2453 ราชวงศ์ชิงส่งทหารเข้ามาประจำการในทิเบต ทะไลลามะองค์ที่ 13 ลี้ภัยไปอินเดียอีกครั้ง
ยุคศตวรรษที่ 20 เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบสาธารณรัฐ ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองในประเทศ มีการปรากฏตัวของขุนศึกที่แยกเป็นก๊กเป็นเหล่า ทิเบตประกาศตนเป็นประเทศเอกราชในช่วงนี้ มีการขับไล่ชาวจีนออกนอกประเทศ หลังจากการปฏิวัติในจีน กองทหารท้องถิ่นในทิเบตเขาโจมตีกองทหารจีนที่รักษาการณ์ในทิเบต เจ้าหน้าที่ชาวจีนถูกบังคับให้ลงนามในข้อตกลงสามข้อเพื่อยอมรับว่าอำนาจปกครองทิเบตของจีนได้สิ้นสุดลง พ.ศ. 2455 ทะไลลามะเสด็จกลับลาซา และเตรียมหาทางประกาศเอกราช ทิเบตและมองโกเลียกล่าวอ้างว่าทั้งสองได้ลงนามในสนธิสัญญายอมรับซึ่งกันและกันว่าเป็นประเทศเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2456 แต่การมีอยู่ของเอกสารนี้ไม่เป็นที่ยืนยัน ในช่วง พ.ศ. 2456 – 2457 มีการจัดการประชุมที่สิมลาระหว่างอังกฤษ ทิเบตและจีน อังกฤษเสนอให้แบ่งทิเบตเป็นทิเบตนอกและทิเบตใน (คล้ายกับข้อตกลงระหว่างจีนกับรัสเซียเกี่ยวกับมองโกเลีย) ทิเบตนอกคือส่วนที่เป็นเขตปกครองตนเองทิเบตในปัจจุบัน จะเป็นส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ส่วนทิเบตในได้แก่ คามตะวันออกและอัมโดอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลที่ลาซา ระหว่าง พ.ศ. 2451 – 2461 มีกองทหารรักษาการณ์ชาวจีนอยู่ในคามและมีอำนาจควบคุมผู้ปกครองท้องถิ่น
ในระหว่างการประชุม เฮนรี่ แมคมาฮอน หัวหน้าฝ่ายเจรจาของอังกฤษได้วาดแผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างทิเบตกับอินเดีย ฝ่ายจีนเรียกเส้นนี้ว่าเส้นแมคมาฮอน ซึ่งมีจุดที่มีปัญหาระหว่างรัฐอรุณาจัลประเทศกับทิเบตใต้ซึ่งทำให้อินเดียได้ดินแดนมาก
ผลของการประชุมสิมลาสิ้นสุดลงโดยฝ่ายจีนปฏิเสธการแบ่งเขตระหว่างทิเบตนอกกับทิเบตใน มีการลงนามเฉพาะอังกฤษกับทิเบตเท่านั้น พ.ศ. 2461 ทิเบตเข้าครอบครองอัมโดกับคามตะวันตกโดยมีแม่น้ำยังเซเป็นเขตแดน ในเวลานั้นรัฐบาลทิเบตควบคุมดินแดนอู-จั้ง และคามทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยังเซ คามตะวันออกปกครองโดยเจ้าชายท้องถิ่น
หลังจากลงนามในสนธิสัญญาสิมลาประมาณ 1 เดือน เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทะไลลามะองค์ที่ 13 เสนอจะส่งทหารไปช่วยอังกฤษ แต่อังกฤษปฏิเสธ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทิเบตมีความสำคัญต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อญี่ปุ่นยึดพม่าได้ ทำให้การติดต่อระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับจีนผ่านทางมณฑลยูนนานถูกตัดขาด สหรัฐจึงหันมาสนใจทิเบต เพื่อเป็นทางผ่านไปยังจีน ทางทิเบตยอมให้สหรัฐขนส่งสิ่งของข้ามแดนได้แต่ต้องไม่ใช่อาวุธ
ระหว่าง พ.ศ. 2463 – 2473 ประเทศจีนเกิดความวุ่นวายจากสงครามประชาชนและสงครามต่อต้านญี่ปุ่นแต่ไม่เคยประกาศสละสิทธิ์เหนือดินแดนทิเบต พ.ศ. 2477 ทะไลลามะสิ้นพระชนม์ จีนส่งตัวแทนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกทะไลลามะองค์ใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ทิเบตประกาศแยกตัวออกจากจีน แต่จีนยังมีอิทธิพลต่อการเมืองภายในทิเบตและยังมีอำนาจปกครองทิเบตในคามและอัมโด[19]
ทิเบตจัดตั้งกระทรวงการต่างประเทศของตนขึ้นใน พ.ศ. 2485 และได้ส่งทูตไปพบเจียง ไคเช็กเมื่อ พ.ศ. 2486 เพื่อยืนยันว่าทิเบตเป็นประเทศเอกราช พ.ศ. 2490 – 2492 ทิเบตส่งคณะทูตทางการค้านำโดยชาคัปปาไปยังอินเดีย ฮ่องกง นานกิง (เมืองหลวงของจีนในขณะนั้น) สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ทุกประเทศต้อนรับคณะทูตของทิเบตแต่หลีกเลี่ยงที่จะยอมรับว่าทิเบตเป็นเอกราชอย่างชัดเจน
ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อกองทัพปลดแอกประชาชนจีนยึดครองประเทศได้ ขับไล่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งไปไต้หวัน มีกลุ่มชนชั้นสูงในทิเบตและชาวคามทางภาคตะวันออกร่วมมือกับสหรัฐและไต้หวันเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในขณะที่ภายในรัฐบาลลาซาเองเกิดความแตกแยกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนจีนและฝ่ายต่อต้านจีน
พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำโดยเหมา เจ๋อตง ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในทิเบตมากนักเมื่อขึ้นครองอำนาจในช่วงแรก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2493 กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนจึงเข้าสู่เขตชัมโดของทิเบตและปราบปรามการต่อต้านของทิเบตได้สำเร็จ ปี พ.ศ. 2494 รัฐบาลจีนเสนอข้อตกลง 17 ข้อให้ทิเบต เพื่อให้การยอมรับว่าจีนมีอำนาจเหนือทิเบต ข้อตกลงนี้ได้มีการลงนามในเมืองลาซาในอีกไม่กี่เดือนต่อมา
รัฐบาลจีนได้แผ่อิทธิพลไปยังทิเบตอย่างช้า ๆ จนมีการลงนามในข้อตกลง 17 ข้อ ระหว่างรัฐบาลลาซากับรัฐบาลจีนเมื่อ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นการระบุว่า ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน รัฐบาลจีนเริ่มปฏิรูปที่ดินในเขตอู-จั้ง รวมคามตะวันออกและอัมโด เข้ากับมณฑลเสฉวน และมณฑลชิงไห่ ตามลำดับ คามตะวันตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทหารที่ชัมโด ในบริเวณดังกล่าวเริ่มมีการปฏิรูปที่ดิน รัฐบาลจีนสร้างถนนหลวงจากลาซาเพื่อเชื่อมต่อกับชายแดนอินเดีย เนปาลและปากีสถาน รัฐบาลท้องถิ่นของทิเบตอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลจีน ในช่วง พ.ศ. 2493 รัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญกับระบบลามะในทิเบต และก่อน พ.ศ. 2502 ในทิเบตยังมีทาส
ประมาณ พ.ศ. 2498 การปฏิรูปที่ดินในเขตคามตะวันออกและอัมโดเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เกิดกบฏต่อต้านทั่วเขตคามตะวันออกและแพร่เข้าสู่คามตะวันตกและอู-จั้ง ใน พ.ศ. 2502 เป็นปีที่ทะไลลามะมีอำนาจเต็มในการบริหารด้วยพระองค์เอง และเป็นปีที่รัฐบาลจีนพยายามก่อตั้งคอมมูนในทิเบตตามอย่างที่ได้จัดมาแล้วทั่วประเทศจีน ทำให้เกิดกบฏในลาซา
ขบวนการป้องกันทิเบตเริ่มต่อต้านการปกครองจากรัฐบาลจีนในช่วง พ.ศ. 2501 – 2502 ซึ่งเริ่มแรกได้รับการสนับสนุนอย่างลับ ๆ จากสหรัฐ กลุ่มกบฏเข้ายึดครองทิเบตใต้จนกระทั่งรัฐบาลจีนส่งทหารเข้าไปปราบปรามใน พ.ศ. 2502 และเข้ายึดครองลาซา กองทัพต่อต้านจีนจึงย้ายฐานที่มั่นไปเนปาล ตั้งเขตปกครองกึ่งอิสระที่นั่นจน พ.ศ. 2512 เมื่อการสนับสนนถูกยกเลิก จึงถูกรัฐบาลเนปาลปราบปราม
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับทิเบตตึงเครียดขึ้นเมื่อเกิดกบฏในเขตคามและขยายเข้าสู่กรุงลาซา ความขัดแย้งนำไปสู่การจลาจลเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2502 เมื่อพวกกบฏเข้าล้อมวังโนร์พูลิงกา ไม่ยอมให้ทะไลลามะเสด็จไปค่ายทหารปลดแอกประชาชนตามคำเชิญของทหารจีนเพราะเกรงจะถูกจับเป็นตัวประกัน ทำให้ทหารปลดแอกประชาชนเข้าปราบปรามกลุ่มกบฏ ทะไลลามะเสด็จหนีออกจากลาซาไปลี้ภัยในอินเดียในคืนนั้น ต่อมาจึงประกาศจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อเรียกร้องเอกราชจากจีน จีนแต่งตั้งปันเชนลามะเป็นผู้นำของรัฐบาลทิเบตแทน
พ.ศ. 2508 จีนได้จัดให้ดินแดนทิเบต ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของทะไลลามะ เป็นเขตปกครองตนเองทิเบต มีผู้นำเป็นชาวทิเบต อยู่ภายใต้การควบคุมของชาวจีน ที่เป็นตัวแทนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกต่อหนึ่ง การแสดงออกทางวัฒนธรรมของทิเบตถูกจำกัด ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา จีนมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ การควบคุมทางวัฒนธรรมและศาสนาได้ผ่อนคลายลง อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปในทิเบตได้