ผู้ใหญ่ก็เป็น “โรคสมาธิสั้น” ได้
โรคสมาธิสั้น (ADHD) หลายคนอาจคิดว่าเกิดในเฉพาะเด็ก แต่ก็สามารถพบได้ในผู้ใหญ่เช่นกัน โดยลักษณะที่สำคัญของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้น คือ จะมีปัญหาเกี่ยวกับการวางแผน การแก้ไขปัญหา ไม่สามารถจัดการกับเวลาได้เมื่อต้องทำงานที่มีกำหนดเวลา ทำงานไม่เสร็จ เพราะมีความผิดปกติของสมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรมทำงานลดลง ทำให้มีปัญหากับการทำงานที่ต้องใช้สมาธิ อยู่นิ่งนาน ๆ ไม่ได้ มักมีปัญหาในการจัดการกับเวลาเมื่อต้องทำงาน เช่น ทำงานไม่ทัน ขี้หลงขี้ลืม เบื่อ หงุดหงิดง่าย
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ มีสาเหตุมาจาก
- พันธุกรรม เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคสมาธิสั้น หรือ โรคทางจิตเวชอื่น ๆ
- ความผิดปกติในระบบประสาท
- การสัมผัสความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมในระหว่างแม่ตั้งครรภ์ เช่น ได้รับสารตะกั่วหรือโลหะ
- การใช้แอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์
- คลอดก่อนกำหนด
- น้ำหนักแรกเกิดต่ำ
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
1.มีอาการสมาธิสั้นมาตั้งแต่เด็ก แต่ได้รับการรักษามาเป็นอย่างดี ผู้ใหญ่ที่มีโรคสมาธิสั้นประเภทนี้ จะสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ อาจมีอาการสมาธิสั้นหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมตัวเองได้
2.มีอาการสมาธิสั้นมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ดี ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นประเภทนี้ยังสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ แต่อาจมีพัฒนาการช้าหรือมีอารมณ์ซึมเศร้า ต้องกินยาเป็นประจำและต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
3.มีอาการสมาธิสั้นตั้งแต่เด็กแบบไม่รู้ตัว จึงไม่ได้รับการรักษา จนเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการสมาธิสั้นจึงมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน รวมไปถึงการเข้าสังคม
อาการของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่
- วอกแวกง่าย จับใจความเรื่องที่ฟังไม่ค่อยได้
- ทำงานไม่เสร็จทันเวลาที่กำหนด ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลาที่ดี
- ทำงานผิดพลาดบ่อย
- หาสิ่งของไม่ค่อยเจอ
- ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมเริ่มทำงาน
- ไปทำงานสายเป็นประจำ
- หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ อารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย หายเร็ว
- มีปัญหากับคนรอบข้างบ่อย ๆ
- เบื่อง่ายกับการรอคอย รออะไรนาน ๆ ไม่ค่อยได้
- เครียด หงุดหงิดง่าย
- บางคนมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ ช่วยบรรเทาอาการสมาธิสั้น
- รู้จักสังเกตอารมณ์ของผู้อื่น รู้จักการรอคอย การรับฟัง เอาใจเขามาใส่ใจเรา
- ลดความใจร้อน หุนหันพลันแล่น เช่น การขับรถ ควรขับให้ช้าลง
- ทำสิ่งที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น สร้างความภาคภูมิใจให้ตนเอง
- จัดตารางเวลาทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า วางแผนจัดวางกรอบเวลาให้ชัดเจน รวมถึงตั้งเป้าหมายที่ต้องทำงานให้เสร็จไปทีละชิ้นเพื่อฝึกนิสัย ลดความกังวลด้วยการจดรายการที่ต้องทำ เขียนโน้ตเตือน
- จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ให้มีคุณภาพ เช่น กำหนดเวลานอนให้เป็นปกติ กำหนดเวลาเข้านอน และรักษาพื้นที่การนอนหลับให้สบาย สงบ เอาทุกสิ่งที่จะรบกวนออกไปจากห้องนอน
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารประเภทรน้ำตาลและคาเฟอีน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยรับมือกับความเครียด วิตกกังวล ได้ดี และยังช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น
- จัดการความกังวลอย่างเป็นเวลา พยายามจัดการความกังวลให้จบลงเร็วที่สุด ไม่ลากยาวจนรบกวนเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องทำต่อไป
- ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปทำให้สมองทำงานหนัก เพิ่มความว้าวุ่นใจ ดังนั้นหลังใช้งานเสร็จควรวางอุปกรณ์เหล่านี้ลงเพื่อให้ตัวเองให้พักจากสิ่งต่าง ๆ ลดความฟุ้งซ่านลง
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ กระทบต่อการทำงาน รวมไปถึงความสันพันธ์กับคนรอบข้าง ควรปรับพฤติกรรม และ ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ฝึกการควบคุมอารมณ์ตนเอง ให้ไม่ดีใจหรือเสียใจเร็วเกินไป จะทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติ ลดความเสี่ยงต่อเรื่องอื่น ๆ ในการใช้ชีวิต ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น