รู้ให้ทัน “ความเครียด” ก่อนจะสายเกินแก้
ความเครียด คือ ภาวะของอารมณ์ หรือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เมื่อบุคคลต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ และ ทำให้รู้สึกถูกกดดัน ไม่สบายใจ วุ่นวายใจ กลัว วิตกกังวล ตลอดจนถูกบีบคั้น เมื่อบุคคลรับรู้ หรือ ประเมินว่าปัญหาเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คุกคามจิตใจ และ อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จะส่งผลให้สภาวะสมดุลของร่างกายกับจิตใจเสียไป
ความเครียดเกิดจาก ภาวะที่ร่างกายเกิดการปรับตัวไม่ได้โดยจะเกิดขึ้นหลังจากเจอกับความขัดแย้ง หรือ มีสิ่งที่มากระทบกับร่างกายและจิตใจ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน สาเหตุของความเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเรียน ปัญหาครอบครัว
ปัจจัยที่ทำให้เกิด ความเครียด
1.ปัจจัยภายใน เกิดจากความรู้สึกภายในร่างกายและจิตใจของตัวเองอย่างการมีโรคประจำตัว เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวช ผู้ที่มีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจมาเป็นเวลานาน หรือ บุคลิกภาพบางอย่างเช่น มีความวิตกกังวลมาก
2.ปัจจัยภายนอก เกิดจากสภาพแวดล้อมรอบตัว แบ่งออกได้ 4 เรื่องหลัก ๆ
- การทำงาน เกิดความกดดันในการทำงานที่มาจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน การแข่งขันในการทำงานที่สูงทั้งในเรื่องเวลาที่เร่งรีบ การเข้ากันไม่ได้กับเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงแนวทางในการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะกับตัวบุคคล
- ความสัมพันธ์ ความเครียดจากความสัมพันธ์ทั้งคนรัก คู่ชีวิต ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว อาจจะเป็นปัญหาเล็ก ๆ แต่เรื้อรังกันมานาน หรือ เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถหาทางออกได้ รวมถึงความกดดันในเรื่องการเงินในครอบครัว ซึ่งอาจนำไปสู่ความแตกแยกของความสัมพันธ์ได้
- ปัญหาสุขภาพ ความเครียดที่เกิดจากโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย หรือ รักษามานานแล้วไม่ดีขึ้น ทำให้เกิดความวิตกกังวล คิดมาก อาการต่าง ๆ ที่รบกวนชีวิตประจำวัน รวมถึงอาการที่นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ ทำให้ร่างกายพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ จนเกิดปัญหาต่อเนื่อง
- การเปลี่ยนแปลงในชีวิต เกิดจากการเจอเหตุการณ์ในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน ไม่ทันได้ตั้งตัว เช่น โดนไล่ออกจากงาน คนในครอบครัวเจ็บป่วย คนในครอบครัวหรือคนรักเสียชีวิต
ผลกระทบที่เกิดจากความเครียด
- ด้านร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน โรคกระเพาะ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองแตก ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ทำให้เกิดปัญหาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อได้ง่าย
- ด้านจิตใจและอารมณ์ ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน อารมณ์ร้าย มีอาการซึมเศร้า โดยในจิตใจเต็มไปด้วยความวิตกกังวล หดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย รวมไปถึงความรู้สึกขาดความภูมิใจในตนเอง ขาดสมาธิ
- ด้านพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ร้องไห้ง่าย ไม่อยากทำอะไร ขาดความอดทน เบื่อง่าย ประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง เริ่มปลีกตัวจากสังคม ไม่ดูแลตัวเอง บางคนอาจใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่น หากเกิดอาการเหล่านี้หลายคนจะใช้วิธีระบายความเครียดด้วยการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้ยานอนหลับ ใช้สารเสพติด ซึ่งส่งผลให้สุขภาพแย่ลงในระยะยาวได้
วิธีการรักษาอาการที่เกิดจาก ความเครียด
1.ปรับเปลี่ยนความคิด ปล่อยวางในเรื่องที่ต้องเจอ ให้รู้ตัวว่าคิดว่าเรื่องอะไรที่ทำให้ไม่สบายใจ จากนั้นให้กลับมามีสมาธิอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าก่อน
ขั้นตอนสู่การควบคุมความเครียด
-คิดในแง่ดี
-มีปัญหาเล่าสู่กันฟังกับคนที่ไว้ใจ คนใกล้ตัว เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว
-สร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว เพื่อเป็นกำลังใจและแรงผลักดันในการแก้ไขปัญหา
-จัดการสิ่งที่จัดการได้ก่อน เลือกทำในสิ่งที่เป็นไปได้จริง และ ตัดสินใจอย่างฉลาด
2.ดูแลรักษาสุขภาพ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที ทำให้ช่วยบรรเทาอาการเครียดสะสมได้
- หลีกเลี่ยงสารเสพติด การเสพสิ่งเสพติดในขณะที่เกิดความเครียด อาจจะช่วยบรรเทาได้ช่วงขณะหนึ่ง แต่ส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เช่น เหล้า บุหรี่ หรือ สารเสพติดอื่น ๆ เช่น ยาบ้า กัญชา
- นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนให้เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการ ทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลายความเครียดและอารมณ์แจ่มใสขึ้น
- กินอาหารมีประโยชน์ นอกจากจะช่วยทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเสริมให้สภาพจิตใจดีขึ้น