พระธาตุประจำวันเกิดวันพฤหัสบดี พระธาตุประสิทธิ์ นาหว้า นครพนม
พระธาตุประสิทธิ์
พระธาตุประสิทธิ์ เดิมชื่อ วัดธาตุ เนื่องจากมีเจดีย์เก่าแก่ที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาในสมัยใด ครั้งแรกที่พบอยู่ใน สภาพชำรุดทรุดโทรมมีเถาวัลย์ปกคลุมไปทั้งองค์พระธาตุ พบโดยชนเผ่าญ้อ ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาได้เข้ามาบูรณะใหม่ มีลักษณะ คล้ายกับเจดีย์วัดศรีบุญเรือง นครหลวงเวียงจันทน์ สันนิษฐานว่าอาจสร้างรุ่นราวคราวเดียวกัน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ พระครู ประสิทธิ์ศึกษากร เจ้าอาวาสวัดธาตุประสิทธิ์ ได้ทำการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์องค์ใหม่โดยได้สร้างเลียนแบบพระธาตุพนมบางส่วน ลวดลายต่างๆจะเป็นลวดลายใหม่ ลักษณะรูปทรง สี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๗.๒๐ เมตร วัดโดยรอบฐาน ๒๔.๕๐ เมตร สูง ๒๔.๕๒ เมตร มีประตูเปิด-ปิด สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุรวม ๒๔ พระองค์ และดินจากสังเวชนียสถาน ๔ แห่งคือ ที่ประสูติ ตรัสรู้แสดงพระธรรมเทศนา ปรินิพพาน และพระพุทธรูปที่พบใน เจดีย์องค์ที่เก่ามาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้อัญเชิญพระพุทธบาทจำลองที่อัญเชิญมาจากกรุงเทพฯ พร้อม ตั้งชื่อพระธาตุใหม่ว่า พระธาตุประสิทธิ์ ตามนามของพระครูประสิทธิ์ศึกษากร เจ้าอาวาสผู้ก่อสร้างองค์พระธาตุ ที่ศาลา ๑๐๘ พระอรหันต์ ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จมาเยือนเมืองนครพนม
ด้วยอานิสงส์ พระสารีริกธาตุ และพระอรหันต์ธาตุ ได้แก่ พระมหากัสสปะ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอานนท์ พระอนุรุทธเถระ และดินจาก ๔ สังเวยชนียสถาน ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีพระอรหันต์มาก ผนวกกับเทวาประจำวันเกิดที่ กำเนิดจากพระฤๅษี ๑๙ ตน ทำให้ผู้ที่กราบสักการะได้รับผลบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นผู้รอบรู้ในเรื่องราวต่างๆ รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะทำการอันใดก็จะพบแต่ความสำเร็จ เปรียบดังพระอรหันต์ประจำ “ทิศตะวันตก" ผู้ได้ชื่อว่า พุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า อย่าง “พระอานนท์” ซึ่งติดตามพระองค์ไปทุกที่ ทำให้มีโอกาสได้รับฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้าเสมอ จึงเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ดัง นักปราชญ์จากอิทธิพลอานิสงส์พระธาตุและเทวดาประจำวัน ส่งผลให้ผู้ที่ถือกำเนิดขึ้นในวันพฤหัสบดี เป็นผู้ชอบการศึกษา เล่าเรียน ชอบธรรมะ เป็นคนเจ้าระเบียบ เป็นคนเข้มงวด มีจิตใจเอื้ออาทรต่อคนรอบข้าง รักสงบ ชอบความมั่นคง และยึดถือ ความถูกต้อง เที่ยงธรรม
นอกจากนี้ภายในวัดมีศาลาการเปรียญหลังเก่าซึ่งอยู่ด้านข้างองค์พระธาตุประสิทธิ์มีรูปทรงสวยงามสร้างเมื่อพ.ศ. 2593 ด้านในศาลาปรากฏภาพเขียนเป็นภาพพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติตรัสรู้และปรินิพพานโดยแบ่งเป็น 12 ตอน ได้แก่ ตอนประสูติ ตอนลองศร ตอนอภิเษก ตอนออกชมสวน ตอนเสด็จออกบรรพชา ตอนตัดพระโมฬี ตอนบำเพ็ญทุกกรกิริยา ตอนถวายข้าวมธุปายาต ตอนมารผจญ-ตรัสรู้ ตอนโปรดปัญจวัคคีย์ ตอนเสด็จเยี่ยมพระนางพิมพ์พาและตอนเสด็จปรินิพพาน
ภาพพุทธประวัติทั้ง 12 ภาพโครงสีส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง สีน้ำตาล สีดำ ซึ่งเป็นสีฝุ่นที่ภาพแรกปรากฏชื่อว่าเป็นฝีมือของหม่อมหลวงมรกต บรรจงราษฎร์ มีนายสิน วะชุม เป็นผู้ช่วยภาพเขียนคงจะวาดขึ้นหลังจากปี พ.ศ. 2493 ส่วนเสาของศาลาการเปรียญเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แต่ละด้านของเสามีภาพสาวกของพระพุทธเจ้าอยู่ทุกเสาร์ องค์สาวกห่มจีวรสีเหลืองสดใส มีพื้นหลังเป็นสีฟ้าครามทุกภาค ด้านบนถึงด้านล่างองค์สาวกประดิษฐ์ลวดลายไทยด้วยสีน้ำตาล เหลือง พื้นสีฟ้าคราม แต่ละภาพไม่ปรากฏนามผู้ว่าแต่จากลักษณะภาพเปรียบเทียบกับภาพที่ผนังซึ่งเป็นภาพพุทธประวัติแล้วคนว่าน่าจะเป็นคนละคนกันและต่างสมัยกันด้วยเพราะลักษณะของลายเส้นและการใช้สีต่างกัน
ศาลาการเปรียญแห่งนี้เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐินส่วนพระองค์(พระกฐินต้น) ณ วัดธาตุประสิทธิ์เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 อีกด้วย