“พ่อกะดวด” สามัญชนลาว ผู้หาญสู้กับนักล่าอาณานิคม
“พ่อกะดวด” มีชื่อจริงว่า “ท้าวอายี่” เป็นชาวบ้านบรูบรอง (พะลู-พะลอง) เมืองพิน แขวงสะหวันนะเขต แต่เหตุผลที่ทุกคนเรียก “ท้าวอายี่” ว่า “พ่อกะดวด” เป็นการเรียกตามชื่อของลูกชาย ของ “ท้าวอายี่”
บิดาของ “ท้าวอายี่” เป็นลาวเทิงชื่อ “ท้าวอายัง” ชนเผ่าบรูจากที่ราบสูงบอละเวน ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ ครอบคลุมทั้งแขวงจำปาสัก สาละวัน อัตตะปือ และเซกอง ส่วนแม่ชื่อ “นางบุนถม” ชาวผู้ไท เชื้อสายขอม
เมื่อเติบใหญ่ “ท้าวอายี่” ได้แต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่งในบ้านเดียวกัน และมีลูกด้วยกัน 2 คน คนโตเป็นหญิงชื่อ “นางกะหล่วย” คนสุดท้องเป็นชาย คือ “ท้าวกะดวด”
“ท้าว” เป็นคำนำหน้านามของผู้ชายลาว ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ส่วน “นาง” คือคำนำหน้าผู้หญิง ใช้เรียกทั้งผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงาน
“ท้าวอายี่” เป็นคนที่มีจิตใจรักชาติ รักอิสรภาพ มีความมุ่งมั่น ขยัน อดทน รักพรรคพวกเพื่อนฝูง และเกลียดการกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ
หลังจากฝรั่งเศส มายึดครองลาวเป็นเมืองขึ้น ในปี 2436 “ท้าวอายี่” ได้นำพาสมัครพรรคพวกคอยซุ่มโจมตีทหารฝรั่งเศส ที่มาลาดตระเวน เก็บส่วย และเกณฑ์ชาวบ้านคนลาวไปเป็นลูกหาบ เพื่อใช้งานหนักต่างๆ โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ในเขตพื้นที่เมืองจำพอนอยู่เป็นระยะ
ในการเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสแต่ละครั้ง “ท้าวอายี่” มักพาลูกชายคือ “ท้าวกะดวด” ไปร่วมต่อสู้ด้วย เมื่อบ่อยครั้งเข้า ชาวเมืองจำพอนจึงได้เรียก “ท้าวอายี่” ว่า “พ่อกะดวด” และชื่อนี้ ได้กลายเป็นชื่อที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายของคนลาว นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ปี 2443 มีคนมาชักชวน “พ่อกะดวด” ไปร่วมประชุมลับกับกลุ่ม “ผู้มีบุญ”จากสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเขมมะลาด (ปัจจุบันคืออำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี) โดยมีพระยาเขมมะลาด เดดซะนาลัก เจ้าเมืองเขมมะลาด เป็นประธาน
การประชุมครั้งนั้น “พ่อกะดวด” ได้พบปะ และรู้จักกับผู้วีรชนที่มีบทบาทสำคัญ ในประวัติศาสตร์ของลาวอีกหลายคน เช่น ท่านองค์แก้ว, พระยาขอม (องค์กมมะดำ) จากที่ราบสูงบอละเวน, ยาท่านแก้ว, องค์ล้านช้าง, องค์จักกะโลวิตุ จากเมืองจำพอนฯลฯ
ที่ประชุมขบวนการ “ผู้มีบุญ” มีมติให้แต่ละชุมชน ตั้งกองกำลังใต้ดิน รวมถึงจัดหาอาวุธ เพื่อเข้าต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพจากฝรั่งเศส และให้พันธะร่วมกันว่า แต่ละท้องถิ่นจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ภารกิจหลักในการต่อต้าน เรียกร้องอิสรภาพจากฝรั่งเศสบรรลุผลสำเร็จ
เดือนพฤษภาคม 2444 “พ่อกะดวด” นำกำลังเข้ายึดสำนักงานไปรษณีย์ และโจมตีค่ายทหารฝรั่งเศสในเมืองสองคอน สามารถสังหารทหารฝรั่งเศสได้หลายนาย ส่วนที่เหลือต่างพากันหลบหนีไปยังเมืองสะหวันนะเขต
หลังยึดเมืองสองคอนได้แล้ว “พ่อกะดวด” กับพรรคพวก ได้วางแผนเข้าตี และยึดเมืองสะหวันนะเขตเป็นเป้าหมายต่อไป ความเคลื่อนไหวครั้งนั้น ได้สร้างความหวาดกลัวแก่ทหารฝรั่งเศส ที่อยู่ในเมืองสะหวันนะเขตเป็นอย่างยิ่ง จนต้องร้องขอกำลังทหาร ที่ประจำอยู่ในเวียดนามมาช่วยสนับสนุน แต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานกองกำลังของ “พ่อกะดวด” ได้
วันที่ 19 เมษายน 2445 “พ่อกะดวด” นำกำลังเข้าปิดล้อมเมืองสะหวันนะเขต บุกโจมตีสำนักงานไปรษณีย์และค่ายทหารฝรั่งเศสที่อยู่ในตัวเมือง การต่อสู้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จำต้องร้องข้อกำลังเสริมและอาวุธหนักจากภาคใต้ของเวียดนามมาช่วยเหลือเพิ่มอีก
หลังจากกำลังสนับสนุนจากเวียดนามเดินทางมาถึง ได้ระดมยิงปืนใหญ่เข้าใส่ฐานที่มั่นของ “พ่อกะดวด” ทำให้กำลังพลของ “พ่อกะดวด” ต้องเสียชีวิตไปในครั้งนั้นมากกว่า 200 นาย(เอกสารบางฉบับบอกว่ามากกว่า 300 นาย)
เมื่อเห็นว่าเสียเปรียบด้านอาวุธ “พ่อกะดวด” จำต้องตัดสินใจถอนกำลัง และถอยร่นไปตั้งมั่นอยู่ในเมืองเซโปน ซึ่งอยู่ถัดไปทางทิศตะวันออก
ด้านฝ่ายทหารฝรั่งเศส เมื่อเห็นกำลังพลของ “พ่อกะดวด” เริ่มเพลี่ยงพล้ำ จึงได้ระดมกำลังทหารจำนวนมากรุกไล่ ติดตาม“พ่อกะดวด” กดดัน “พ่อกะดวด” ให้ต้องถอยร่นต่อไปอีกจนถึงเขตดงคำสีดา (เมืองแก้งกอก)
ปี 2446 กองทัพฝรั่งเศสได้ปิดล้อมและโจมตีที่มั่นของ “พ่อกะดวด” อย่างหนัก ในที่สุดก็สามารถจับกุม “พ่อกะดวด” ได้ พร้อมกับกำลังพลอีก 300 นาย ทั้งหมดถูกประหารชีวิตด้วยการตัดคอ
ศพของ “พ่อกะดวด” ถูกทิ้งลงไปในน้ำที่หนองอิง ซึ่งอยู่บนเส้นทาง ระหว่างเมืองจำพอนกับเมืองสองคอน ถือเป็นจุดสิ้นสุดขบวนการต่อสู้ของ “พ่อกะดวด”…
ปี 2436 ฝรั่งเศสได้ใช้แสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่า บีบบังคับสยามให้ยกดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งก็คือประเทศลาวในขณะนั้น ให้ตกเป็นของฝรั่งเศส จากนั้นจนถึงปี 2497 ลาวได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาโดยตลอด เป็นเวลานานกว่า 60 ปี