อาการติดโทรศัพท์ สัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณ ติดมือถือ มากเกินไป
สัญญาณเตือนว่าคุณกำลัง ติดมือถือ
สัญญาณเตือนที่ 1. คุณประสาทกินเมื่อแบตมือถือเหลือน้อย
ถ้าหัวใจของคุณเต้นตูมตามหรือมีเหงื่อออกที่มือ เวลาที่แบตมือถือกำลังจะหมด ให้เข้าใจไว้เลยว่าคุณกำลังโดนโรคติดโทรศัพท์มือถือเล่นงานเข้าให้แล้ว เนื่องจากการวิตกกังวลว่า คุณจะไม่สามารถติดต่อใครได้ ไม่สามารถเช็คอีเมล และไม่สามารถตรวจดูความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์
สัญญาณเตือนที่ 2. คุณออกจากบ้านไม่ได้ถ้าไม่มีมือถือ
การไม่มีสมาธิที่จะทำอะไรได้ถ้าไม่มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังหมกหมุ่นอยู่กับอะไรแบบไร้สติ ถ้าคุณเอาแต่ก้มหน้าก้มตาสไลด์หน้าจอโทรศัพท์มือถือคุณก็จะพลาดสิ่งอื่น ๆ ที่น่าสนใจไป
สัญญาณเตือนที่ 3. คุณรู้สึกหงุดหงิดมากถ้าใช้มือถือไม่ได้
คุณจะรู้สึกระทมทุกข์มากถ้าอยู่ห่างจากโทรศัพท์มือถือ และรู้สึกประสาทเสียเอามาก ๆ ถ้าไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ ถ้ามีใครมาบอกให้คุณวางมือถือลงในระหว่างดินเนอร์ คุณอาจมีอารมณ์ฉุนเฉียวขึ้นมาเลยก็ได้
สัญญาณเตือนที่ 4. คุณเช็คมือถือในขณะขับรถ
อาการนี้ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณเป็นโรคติดโทรศัพท์มือถือขั้นรุนแรง เพราะจะทำให้คุณตัดสินใจอะไรได้ช้ากว่าตอนเมาแล้วขับเสียอีก แถมยังช้าเป็นสามเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการยกโทรศัพท์ขึ้นมาแนบหูในขณะขับรถ เป็นการกระทำที่บ่งบอกว่าคุณกลัวจะส่งข้อความไม่ทันมากกว่าจะกลัวตาย
สัญญาณเตือนที่ 5. คุณใช้มือถือเช็คเรื่องงานในขณะลาพักร้อน
ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ผู้คน 60 เปอร์เซ็นต์ที่กลับมาจากการไปเที่ยวพักร้อนนั้น มักจะไม่รู้สึกกระปรี้เปร่าหรือเฟรซขึ้น เนื่องจากยังต้องติดต่อเรื่องงานและเช็คอีเมลอยู่ นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของโรคติดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้ไม่รุ่งทั้งในเรื่องการงานและชีวิตส่วนตัว
สัญญาณเตือนอื่น ๆ
- มักใช้โทรศัพท์อยู่ตลอดในเวลาที่เบื่อหรืออยู่คนเดียว
- ใช้โทรศัพท์ติดต่อกันเป็นเวลานานมาก หรือใช้โทรศัพท์ในหลาย ๆ รูปแบบสลับกันไป อย่างเช่น ใช้บริการเว็บไซต์ ใช้สนทนากับผู้อื่น เล่นเกม เป็นต้น
- ตื่นมาเช็กโทรศัพท์บ่อย ๆ กลางดึก หรือการใช้โทรศัพท์รบกวนการนอนหลับของตน
- การใช้โทรศัพท์เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บ รวมไปถึงส่งผลต่อการทำงาน การเรียน หรือความสัมพันธ์คนรอบข้างกังวล เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ของตนเอง
- พยายามจะเลิกใช้โทรศัพท์ แต่กลับต้องล้มเลิกโดยเร็ว
เคล็ดลับป้องกันการติดโทรศัพท์ง่าย ๆ
- หาสิ่งที่รบกวนจิตใจให้เจอ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การที่คุณใช้โทรศัพท์มากเกินไปอาจเป็นเพราะต้องการหลีกหนีจากปัญหาที่กวนใจหรือสร้างความกังวลใจ เนื่องจากปัญหานั้นยากและซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขได้ หากคุณค่อย ๆ ทำความเข้าใจปัญหาและลองแก้ไขในเบื้องต้น ก็อาจทำให้ทั้งปัญหาและพฤติกรรมติดโทรศัพท์ลดน้อยลงได้
- ปรับการตั้งค่าของโทรศัพท์ ปิดการแจ้งเตือนของทุกการใช้งานในโทรศัพท์ เพื่อไม่ให้เสียงเตือนนั้นดึงความสนใจของคุณ จนต้องหันไปคว้าโทรศัพท์มาเช็คการแจ้งเตือนใหม่ ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ที่ใช้งานโทรศัพท์หลากหลายในเครื่องเดียว อย่างการเล่นเกมหรือแชต ตั้งค่าความสว่างหน้าจอให้น้อยลงหรือเป็นโทนสีเทา เพื่อไม่ให้รบกวนขณะนอนหลับ รวมทั้งตั้งรหัสผ่านที่หน้าจอโทรศัพท์ เพื่อให้การใช้งานในแต่ละครั้งยุ่งยากมากขึ้น
- วางโทรศัพท์ไว้นอกห้องนอน ลองวางหรือชาร์จโทรศัพท์ไว้นอกห้องบ้าง และพยายามไม่ใช้นาฬิกาปลุกของโทรศัพท์ แต่ให้ซื้อนาฬิกาปลุกที่ถูกใจสักเครื่องมาตั้งไว้แทน เพื่อจะได้พึ่งพาโทรศัพท์น้อยลง
- ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ใช้เวลาทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่สนใจในโลกแห่งความเป็นจริง จะดึงความสนใจของคุณให้ออกจากโทรศัพท์ได้ และหันไปโฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ มีสัมพันธ์กับคนรอบตัวมากขึ้น อย่างเช่น วาดรูป แต่งเพลง เล่นกีฬา ปลูกป่า เป็นอาสาสมัคร เป็นต้น
- จัดตารางการใช้โทรศัพท์มือถือ อย่างเช่น จัดตารางการใช้โทรศัพท์ในช่วงเวลาที่แน่นอนในแต่ละวัน โดยอาจให้รางวัลตนเองที่จะมีเวลาใช้โทรศัพท์ได้มากขึ้น ถ้าสามารถทำงานบ้านหรืองานอะไรเสร็จเรียบร้อยแล้ว
- ปิดโทรศัพท์มือถือในช่วงเวลาที่แน่นอนในแต่ละวัน อย่างเช่น เวลาที่คุณขับรถ เข้าประชุม ออกกำลังกาย กินข้าว หรือเล่นกับลูกน้อย และไม่ควรนำมือถือเข้าไปใช้ในห้องน้ำด้วย
- อย่าใช้มือถือหรือแท็บเล็ตบนเตียงนอน แสงสีฟ้าที่ออกมาจากหน้าจอโทรศัพท์นั้นอาจรบกวนการนอนหลับของคุณได้ ถ้าคุณใช้มือถือในช่วงก่อนเข้านอนสองชั่วโมง ปิดมือถือแล้วเสียบสายชาร์จในอีกห้องหนึ่ง แล้วหยิบหนังสือที่เป็นหนังสือจริง ๆ ขึ้นมาอ่านในช่วงก่อนนอนแทน
- ไม่ต้องกลัวว่าจะพลาดอะไร คุณต้องทำใจยอมรับให้ได้ว่า คุณไม่มีทางที่จะติดตามข่าวเด็ดหรือเรื่องชวนเม้าท์มอยได้ทุกเรื่อง ถ้าคุณทำใจยอมรับได้ คุณก็จะเป็นอิสระจากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด
- เข้ารับการบำบัด จิตบำบัด(Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เป็นการรักษาทางจิตรูปแบบหนึ่งที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนอารมณ์ พฤติกรรม และความคิดที่มีความผิดปกติให้มีอาการดีขึ้น โดยจะมีจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดมาพูดคุยและให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับเรา ซึ่งงานวิจัยบางส่วนชี้ให้เห็นว่า จิตบำบัดอาจช่วยปรับสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับการติดโทรศัพท์ได้ วิธีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ