‘โมโหหิว’ Hangry อาการโมโหหิว แก้ยังไง ปล่อยไว้ระวังเสียสุขภาพ
การศึกษานี้เกิดขึ้นหลังจากที่ ศาสตราจารย์วีเรน สวามี (Viren Swami) นักจิตวิทยาสังคม จากมหาวิทยาลัยแองเกลีย รัสกิน (Anglia Ruskin University) ถูกคนอื่นบอกว่าเขาเป็นพวก ‘โมโหหิว’ หรือ ‘Hangry’ จึงทำให้เขาสงสัยว่า การโมโหหิวนั้นเป็นภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือเราแค่นิยามมันขึ้นมาเอง
การศึกษานี้ ได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยในออสเตรียและมาเลเซีย โดยทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง 64 คนที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี เพื่อบันทึกอารมณ์และระดับความรู้สึกหิวของพวกเขา จำนวน 5 ครั้งต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ พร้อมกับมีอาสาสมัครเฝ้าติดตามขณะทำกิจวัตรประจำวันอีกด้วย
แม้กลุ่มตัวอย่างที่ทำการวิจัยจะมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ หรือพฤติกรรมการบริโภค แต่จากคำอธิบายในวารสาร Plos One นักวิจัยกล่าวว่า ความหิวสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ที่จะทำให้เกิดอารมณ์โกรธและหงุดหงิดตามมา
สาเหตุของการ “โมโห” เมื่อ “หิว”
- น้ำย่อยในกระเพาะอาหารสร้างความร้อน น้ำย่อยในกระเพาะอาหารนี้มีความร้อน และส่งความร้อนผ่านออกมาทางภายในร่างกาย ทำให้รู้สึกร้อนใจและฉุนเฉียวได้ง่ายกว่าปกติ และสามารถหายได้จากการรับประทานอาหารที่ช่วยลดความร้อนของน้ำย่อยลงได้
- น้ำตาลในเลือดต่ำ คนที่หิวจนเป็นลมส่วนใหญ่เกิดจากน้ำตาลในเลือดต่ำนอกจากการเป็นลมแล้วน้ำตาลในเลือดยังส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์อีกด้วย คนที่หิวมาก ๆ จึงมักมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายเป็นพิเศษ
- การผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด เมื่อเกิดความหิวในระดับที่สูงขึ้น ร่างกายจึงส่งสัญญาณให้เกิดความเครียดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการหาอาหารมาประทังชีพ คนที่หิวจัดจึงมักโมโหง่ายเมื่อไม่ได้รับประทานอาหาร
การป้องกันการโมโหหิวที่ส่งผลต่อสุขภาพ
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา การรับประทานอาหารให้ตรงเวลาจะช่วยสร้างวินัยให้ตนเอง และทำให้รู้เวลารับประทานอาหารที่ค่อนข้างแน่นอน ง่ายต่อการจัดสรรเวลาในการกิน นอกจากนั้นยังป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหาร และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
- ไม่ปล่อยให้ตัวเองหิวจัด การปล่อยให้ตัวเองหิวจัดอาจจะส่งผลให้ขาดสติ และมีปัญหากับคนรอบข้างได้ เมื่อรู้สึกหิวควรค่อย ๆ วางมือกับงานที่ทำอยู่ แล้วรับประทานอาหารก่อน อย่าอดอาหารเพราะร่างกายจะสะสมความเครียดไว้ ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก
- มีอาหารทานเล่นติดตัวเสมอ การมีอาหารทานเล่น อย่างเช่น นม หรือขนม ที่สามารถเติมพลังงานได้ขณะหิวติดตัวอยู่เสมอ จะช่วยลดอาการโมโหหิวที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะการมีอาหารติดตัวจะทำให้สมองไม่รู้สึกว่ากำลังขาดอาหาร อาการโมโหหิวจึงเกิดขึ้นได้น้อยกว่า