เสียชีวิตหลายวัน จึงมีคนมาพบศพ ปิดตำนาน อดีตตลกชื่อดัง (ลุงโกร่ง กางเกงแดง)
หลังสร้างสีสันและเสียงหัวเราะ ให้แก่วงการบันเทิงไทย มานานกว่า 50 ปี ดาราตลกอาวุโสอารมณ์ดี “ณรงค์ รตาภรณ์” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ “ลุงโกร่ง กางเกงแดง” ก็ได้เสียชีวิตลงในวัย 83 ปี ภายในบ้านพักย่านนนทบุรี
จากการชันสูตรเบื้องต้นคาดว่า ดาราอาวุโส คงจะเสียชีวิตมาแล้วราว 3-4 วัน ก่อนที่ศพจะถูกพบ ส่วนสาเหตุนั้น น่าจะมาจากอาการของสารพัดโรค ที่เจ้าตัวเป็นอยู่ ทั้งถุงลมโป่งพอง (ปอดสามารถใช้งานได้เพียง 25%) โรคหืดหอบ โรคเบาหวาน
18 ก.ย.2554 เมื่อเวลา 16.30 น. พ.ต.ท.รัศมี สายวงศ์ พนักงานสอบสวน สภ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี รับแจ้งเหตุ มีผู้เสียชีวิตภายในบ้านเลขที่ 119/31 ซ.บางม่วง 16 หมู่ 2 ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี จึงพร้อมด้วย พ.ต.อ.สมภพ คูหาวิชานันท์ ผกก.สภ.บางใหญ่ นายพรเทพ ประดับพลอย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบางม่วง มูลนิธิร่วมกตัญญู แพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รีบรุดไปตรวจสอบ
ในที่เกิดเหตุ บ้านเดี่ยวชั้นเดียวค่อนข้างทรุดโทรม เนื้อที่ราว 50 ตารางวา บริเวณโรงจอดรถ มีรถเก๋งสีขาวสภาพเก่า ใช้การไม่ได้จอดอยู่ โดยข้างรถ มีศพนอนเสียชีวิตขึ้นอืด ส่งกลิ่นเน่าเหม็น มีหนอนไต่ คาดว่า เสียชีวิตมาแล้วประมาณ 3 วัน ทราบชื่อผู้เสียชีวิตคือ นายณรงค์ รตาภรณ์ อายุ 81 ปี หรือที่รู้จักกันดีทั่วฟ้าเมืองไทยในอดีต “ลุงโกร่ง กางเกงแดง” ดาราตลกชื่อดัง โดยผู้ตาย ใส่เสื้อยืดแขนยาวสีเขียว กางเกงขาสั้นสีแดง ในตัวพบบัตรประจำตัวประชาชน และเงินสด ราวหนึ่งพันกว่าบาท บริเวณแขนขวา ยังมีสายออกซิเจนห้อยติดอยู่ เป็นที่น่าเวทนาแก่เพื่อนบ้าน ที่มามุงดู
นายพรเทพ ประดับพลอย นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบางม่วง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ลุงโกร่งอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้มานานหลายสิบปีแล้ว โดยบ้านหลังดังกล่าวทราบว่า ลูกสาวคนหนึ่ง นำไปจำนองไว้ แต่ลูกสาวคนนี้ ก็มาถูกรถชนตาย ทำให้บ้านขาดจำนองไป จนลุงโกร่งเอง ต้องเช่าบ้านตัวเองอยู่ อีกทั้งยังมีโรคประจำตัว คือโรคหอบหืด ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลเป็นประจำ ทางเทศบาลก็ช่วยเหลือ และมอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งลุงโกร่งเอง ก็เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนบ้าน ก่อนพบศพ ตนเองพร้อมเจ้าหน้าที่เทศบาล ได้นำกระสอบมาทราย มากั้นแนวป้องกันน้ำท่วมในซอยดังกล่าว ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า มีกลิ่นเหม็นเน่าในซอยมาแล้วหลายวัน จึงได้เดินตรวจหาร่วมกับเจ้าหน้าที่ จนมาถึงบ้านลุงโกร่ง จึงพบว่า นอนเสียชีวิตดังกล่าว
สำหรับ “ลุงโกร่ง กางเกงแดง” มีชื่อจริงว่า นายณรงค์ รตาภรณ์ วัย 81 ปี เป็นนักแสดงอาวุโสของไทย มีผลงานแสดงภาพยนตร์มากกว่า 200 เรื่อง โกร่ง หรือที่ใคร ๆ ชอบเรียกว่า ลุงโกร่ง มาตั้งแต่ตัวเลขอายุยังอยู่ที่คำว่า “พี่” เท่านั้น เกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2471 เรียนจบประถมปีที่ 1-4 ที่โรงเรียนวัดพนัญเชิง และเข้ามาศึกษาต่อในระดับมัธยม ที่โรงเรียนวัดสระเกศ แต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อน จึงย้ายกลับไปเรียนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่โรงเรียนอาชีวะอยุธยา (ปัจจุบัน เป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาพระนครศรีอยุธยา) และไปสอบเข้าโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ จนสงครามสงบ จึงเข้ากรุงเทพอย่างเดิม ไปเรียนที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุขแต่ไม่จบ เพราะบิดาเกษียณ จึงหมดทุนเรียน บิดาจึงไปฝากเข้าตำรวจในยุคอธิบดี เผ่า ศรียานนท์ ที่วังหลวงณรงค์ รับราชการตำรวจ จนได้รับกล่องบุหรี่เงิน จากอธิบดีกรมตำรวจ
ต่อมามีวงดนตรี วิชัย อึ้งอัมพร มาแสดง ณรงค์ จึงได้มาเป็นโฆษกประกาศเพลง เริ่มเข้าสู่วงการ ด้วยการรับหน้าที่เป็นโฆษกประจำวงดนตรีลูกทุ่ง ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นเจ้าของวงดนตรี มีนักร้องดังในยุคนั้นมาร่วมร้องให้ ทั้ง มีศักดิ์ นาครัตน์, ชรินทร์ นันทนาคร ทำให้วงดนตรีได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
โดยเอกลักษณ์ประจำตัวของเขาก็คือ การแต่งตัวด้วยเสื้อราชปะแตน-กางเกงสีแดง ซึ่งนอกจากจะมีวงดนตรีเป็นของตนเองแล้ว เจ้าตัว ยังมีส่วนในการตั้งวงดนตรีให้กับ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” อีกด้วย
จากวงการเพลง เจ้าตัวได้เข้าสู่แวดวงละครทีวี มีผลงานอย่าง หลวงพ่อทองวัดโบสถ์, ตาอินเทวดา, ประชาชนชาวแฟลต, โทน, สิบโทบุญถึง, พลิกฟ้าตามล่าหาเธอ ฯลฯ ก่อนจะเข้าสู่วงการภาพยนตร์มีผลงานการแสดงประมาณ 200 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นบทตัวตลก เช่น ผู้ใหญ่ลี, บุญเพ็งหีบเหล็ก, แม่นาคพระโขนง, ชายผ้าเหลือง
บทบาทที่ลุงโกร่งมักจะได้รับนั้น ส่วนใหญ่ก็จะแสดงเป็นตัวประกอบ ซึ่งไม่ว่าจะมีอาชีพอะไร ก็จะต้องสอดแทรกบทตลก ให้เห็นอยู่เสมอ จนแฟนภาพยนตร์ จดจำภาพลักษณ์ตัวตลกอย่างลุงโกร่งได้แม่นยำ
ลุงโกร่งมักจะแสดงบทตัวตลกเชย ๆ คล้ายๆ กับตัวลุงเชย ในนิยายชุด สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ลุงโกร่ง เคยเป็นฟรีเซนเตอร์ โฆษณาเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่ง ในลักษณะตลก ๆ เพื่อกระตุ้นชายที่มีรูปร่างผอมแห้งแรงน้อย ให้หลงเชื่อว่า หากได้ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดังกล่าวแล้ว ก็จะแข็งแรงซู่ซ่า ๆ
ส่วนสาเหตุที่ลุงโกร่ง ได้นามสกุลต่อท้ายว่า “กางเกงแดง” นั้น ก็เพราะว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะที่ลุงโกร่งกำลังเข้าแสดงภาพยนตร์ ฉากปีนต้นไม้ จู่ ๆ กางเกงเจ้ากรรมมันดันหลุดลงมาซะเฉย ๆ ต่อหน้าทีมงานที่กำลังจ้องมองอยู่ กางเกงในสีแดง โผล่ออกมาให้ทุกคนเห็นเต็มตา แต่นั้นมาใคร ๆ ก็เรียกว่า ลุงโกร่ง กางเกงแดง จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวคือ ลุงโกร่งจะใส่กางเกงในสีแดงเสมอ
ในระยะหลังๆ ที่งานหดหาย ลุงโกร่ง ได้หันมาหารายได้ ด้วยการนำสิ่งของต่างๆ ไปขายตามกองถ่ายหนัง-ละคร สตูดิโอบันทึกรายการ รวมถึงตามงานการกุศลต่างๆ จนกลายเป็นภาพที่คุ้นตา ซึ่งนอกจากจะเป็นการหารายได้เล็กๆ น้อยๆ เพื่อประทังชีวิตแล้ว การออกมาขายของดังกล่าว ก็ยังถือเป็นการไปพบปะเพื่อนฝูงในวงการ ตลอดจนดารารุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อคลายความเหงา จากชีวิตที่โดดเดี่ยวของตนด้วย
แม้จะมีชีวิตที่ดูตกอับ อาศัยอยู่ตัวคนเดียวในที่พักที่ทรุดโทรม ป่วยด้วยสารพัดโรค มีรายได้ที่ไม่แน่นอน แต่กระนั้นลุงโกร่ง ก็ไม่เคยทำให้ตัวเองดูน่าสมเพช แต่จะอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา และเป็นคนที่ชอบทำบุญมากๆ โดยเจ้าตัวเคยได้ให้สัมภาษณ์ เปรียบเปรยชีวิตของตนเองกับสายน้ำ ไว้อย่างน่าสนใจผ่าน นสพ.คมชัดลึก ว่า
“ชีวิตเรา ไม่แตกต่างจากสายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เคยเห็นสวะ หรือขยะในแม่น้ำไหม มันลอยมาก็ต้องลอยไป ตรงนี้ ไม่แตกต่างอะไรกับชีวิตคนเรา ที่เกิดมา พอหมดอายุขัยก็ต้องจากโลกนี้ไป หรือเราเห็นน้ำขึ้นอย่างไร พอสักพักต้องมีน้ำลง ชีวิตเราก็เหมือนกัน”
“ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่วันนี้ชีวิตเหมือนน้ำลงนั่นเอง แต่ผมคิดว่า ชีวิตเหมือนพระอาทิตย์กับพระจันทร์ เพราะมีดวงดับ ดวงเสี้ยว แต่จริงๆ ถ้าเป็นไปได้ อยากคงทนแบบพระอาทิตย์เหมือนกัน เช้าขึ้นเย็นตก เช้าเกิดใหม่ วันนี้คิดว่าผมดวงตก จริงๆ เราอายุมากแล้วด้วย”
ส่วนประสบการณ์เรื่องแคล้วคลาดนั้น ลุงโกร่งเคยเล่าเอาไว้ว่า ระหว่างที่เป็นพลตำรวจ ประจำอยู่โรงพักสำราญราษฎร์ ไปจับกุมพวกเล่นการพนัน เจอคนที่เล่นของ แทงเข้าที่หน้าอกตรงหัวใจ แต่ไม่เข้า ทุกวันนี้ยังมีรอยเป็นแผลอยู่
ที่รอดตายมาได้ อาจเป็นไปได้ว่า พุทธคุณของพระเครื่อง ช่วยให้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง จะว่าไปแล้ว พระช่วยให้เราหนังเหนียวหรือเปล่าไม่รู้ พระท่านอาจช่วยเรา เพราะว่าเราหนังเหนียวก็ได้ สันนิษฐานว่า ที่แทงไม่เข้า อาจไปแทงถูกกระดูกก็เป็นได้ หรืออาจเกิดจากดวงทำให้เราโชคดี ที่ทำให้ไม่ถูกแทงนั่นเอง
สำหรับพระเครื่อง ที่แขวนติดตัวเป็นประจำ ได้แก่ หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงวรวิหาร หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง
เหตุผลส่วนตัวที่แขวนพระเครื่อง มีหลายอย่าง คือ ๑.เพื่อเมตตามหานิยม ๒.แนวบู๊ ป้องกันภัยอันตรายจากศัตรู รวมทั้งภูตผีปีศาจ ที่มันอาจจะเข้าตัว สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/CWgWktiGEYA?si=AtJr2AvFI4KAIYer
วิกิพีเดีย