การนั่งสมาธิกับสุขภาพหัวใจ ประโยชน์ และวิธีการนั่งสมาธิให้ได้ผล
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนั่งสมาธิและสุขภาพหัวใจ
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ที่รายงานโดยโดยสมาคมโรคหัวใจในอเมริกาเมื่อปี 2017 นั้น แสดงให้เห็นว่า การนั่งสมาธิช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจลงได้ จากการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ นักวิจัย พบว่า การนั่งสมาธิมีส่วนช่วยในการลดความเครียด ความหวาดวิตก อาการซึมเศร้า ช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพมากขึ้น ทำให้สุขภาพโดยทั่วไปดีขึ้นด้วย
สมาคมโรคหัวใจในอเมริกา กล่าวว่า การนั่งสมาธิ ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้ ช่วยลดความเสี่ยงของหัวใจวาย นักวิจัยชี้แจงว่า การนั่งสมาธิเป็นวิธีเยียวยาสุขภาพที่ไม่สิ้นเปลือง และไม่มีความเสี่ยงใด ๆ โดยอาจใช้ร่วมกับวิธีควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อื่น ๆ นักวิจัยระบุว่า ยังต้องทำการศึกษาวิจัยให้ละเอียดและครอบคลุมมากกว่านี้ ถึงจะสรุปผลได้อย่างชัดเจน
การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่อยู่ในรายงานของสมาคมโรคหัวใจในอเมริกานี้ ระบุว่ามีคนไข้โรคหลอดเลือดหัวใจได้เข้าร่วมการทำสมาธิแบบล่วงพ้น (การนั่งสมาธิโดยหลับตา แล้วท่องคำสวดซ้ำไปซ้ำมา) หลังจากปฏิบัติห้าปี คนไข้ลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต หรือมีอาการหัวใจวายลงได้
งานศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ใน European Journal of Preventative Cardiology เมื่อปี 2015 นั้น นักวิจัย พบว่า การนั่งสมาธิมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดอาการซึมเศร้า หวาดวิตก และความดันเลือดลงได้
โปรแกรมการทำสมาธิทางออนไลน์ ช่วยพัฒนาความสามารถในการออกกำลังกายให้กับคนที่เป็นโรคหัวใจได้ โดยงานศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ใน PLoS One เมื่อปี 2017 นั้นได้ระบุว่า ผู้ร่วมเข้าทำการศึกษาวิจัยจะมีทั้งแบบที่ได้รับการดูแลตามปกติอย่างเดียว และแบบการดูแลตามปกติร่วมกับการฝึกสมาธิออนไลน์ เมื่อทำไปครบ 12 เดือน ปรากฎว่า กลุ่มที่ได้รับการฝึกสมาธิ สามารถออกกำลังกายได้ดีขึ้น ความดันโลหิตลดลง และมีการทำงานของจิตใจเป็นปกติ
ประโยชน์ของการนั่งสมาธิ
- เพิ่มการตระหนักรู้ต่อสิ่งต่างๆ ตรงหน้า และการมีสติอยู่กับปัจจุบัน
- เปิดมุมมองใหม่ ๆ ในการรับมือกับสถานการณ์ที่มีความเครียด
- เพิ่มทักษะการจัดการความเครียด
- ช่วยให้สมองปลอดโปร่งยิ่งขึ้น
- ช่วยลดอารมณ์ในทางลบ
- เพิ่มความอดทนอดกลั้น
- ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
วิธีการนั่งสมาธิให้ได้ผลสำหรับมือใหม่
- เลือกสถานที่ที่มีบรรยากาศเงียบสงบ และให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ปราศจากสิ่งรบกวน
- ตั้งเป้าหมายในการเริ่มทำสมาธิจากช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 5 หรือ 10 นาที
- นั่งในท่าที่สบาย และมั่นใจว่าหากนั่งนาน ๆ แล้วจะไม่เมื่อย ไม่จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิ อาจนั่งเก้าอี้ นั่งเอนตัว หรือไม่จำเป็นต้องนั่ง หากเป็นการฝึกสมาธิด้วยการเดิน
- เริ่มต้นทำสมาธิโดยกำหนดการรับรู้ไปที่ลมหายใจเข้าออก
- มีสติรับรู้ความคิดที่เกิดขึ้นขณะทำสมาธิ เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่าสมาธิที่จดจ่อกับลมหายใจหลุดไป ให้กลับมาจดจ่อกับลมหายใจตามเดิมช้า ๆ
- ให้มองความคิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในลักษณะของการสังเกต และรับรู้ อย่าหมกมุ่นคิดต่อจนเกิดความรู้สึกที่เป็นลบต่อตนเอง และไม่ควรบอกตัวเองให้หยุดคิดทุกอย่าง เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความคิดมากขึ้น
- ค่อย ๆ จบการทำสมาธิแล้วกลับสู่ภาวะปกติ หากหลับตาให้ค่อย ๆ ลืมตาขึ้น จากนั้นอยู่ในภาวะสงบนิ่งสักครู่เพื่อสำรวจเสียงหรือสิ่งรอบตัว สำรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกาย รวมทั้งอารมณ์ความคิดที่เกิดขึ้นหลังจากทำสมาธิ
- ในช่วงแรกหลายคนอาจรู้สึกว่าการนั่งสมาธิเป็นเรื่องยาก ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องฝืนทำนานกว่าที่ไหว ควรทำวันละ 3-5 นาทีแล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นทีละนิด เพราะช่วงเวลาของการทำสมาธิไม่ได้มีผลเท่ากับความสม่ำเสมอในการทำ โดยหลาย ๆ คนที่ฝึกสมาธิ พบว่า การนั่งสมาธิทุกวัน เพียงวันละ 10 นาที ก็ช่วยทำให้รู้สึกจิตใจสงบ และมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้นแล้ว