จริงไหมการใส่บราผิดไซส์ ใส่บรานาน ๆ ใส่บราตอนนอน เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ? และ การใส่บราทุกวัน หน้าอกจะไม่หย่อนคล้อย ?
จุดเริ่มต้นความเกี่ยวเรื่อง บรา คือ สาเหตุของมะเร็งเต้านม
“Dressed to Kill” หนังสือที่มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการใส่ชุดชั้นใน และ มะเร็งเต้านม โดยสองนักวิจัย Sydney Singer และ Soma Grismaijer ได้สรุปไว้ว่า การสวมชุดชั้นในติดต่อกันนานเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่า
เพราะเหตุใด ? การใส่บรานานๆ จึง (อาจ) เสี่ยงมะเร็งเต้านม
การสวมใส่บรารัดแน่นเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการไหลเวียนของต่อมน้ำเหลือง คือ แทนที่สารพิษ หรือ ของเสียที่อยู่ในต่อมน้ำเหลืองจะถูกขับออกไป กลับเกิดการเก็บสะสม เพราะการถูกรัดแน่นจากบรา โดยเฉพาะบราที่มีโครง ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง สาเหตุที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมในอนาคต นี่จึงเป็นเหตุผลของความเชื่อที่ว่า “การใส่บรานาน ๆ” “ใส่บราขนาดเล็กเกิน” หรือ “ใส่บราตอนนอน” อาจมีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมได้
วางทุกความเชื่อ ! เรื่องบรา กับ มะเร็งเต้านม
แม้สองนักวิจัยจะมีการตีพิมพ์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างบรากับมะเร็งเต้านมในแง่ลบออกมา แต่ในขณะเดียวกันมีอีกหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน และ ยัง “ไม่มีงานวิจัยชิ้นไหน” ที่ยืนยันถึงการอ้างอิงนี้ว่าเป็น “ความจริง” ซึ่งเท่ากับว่า ความสัมพันธ์ของการใส่บรา และ มะเร็งเต้านม ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแน่ชัด
การใส่บราทุกวัน หน้าอกจะไม่หย่อนคล้อย ?
Jean-Denis Rouillon ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ชาวฝรั่งเศส ได้ศึกษาหน้าอกของผู้หญิงหลายร้อยคนในช่วง 15 ปี พบว่าโดยทั่วไป ผู้ที่ไม่สวมเสื้อชั้นใน จะมีหัวนมที่สูงขึ้นและมีตำแหน่งที่ ดีกว่า ผู้ที่สวมใส่ทุกวัน นอกจากนี้ยังกล่าวว่า บราไม่มีความจำเป็นต่อผู้หญิงเลย เพราะไม่สามารถป้องกันหน้าอกจากความหย่อนคล้อยตามแรงโน้มถ่วง แต่กลับยิ่งทำให้หน้าอกอ่อนแอและไม่กระชับอีกด้วย
ดร. แดน มิลลิส จากสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งอเมริกา (American Society for Aesthetic Plastic Surgery) อธิบายไว้ว่า “หน้าอกของผู้หญิงจะหย่อนคล้อยไปตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น จุดประสงค์ของการใส่บราก็คือ เพื่อช่วยเสริมให้หน้าอกของผู้หญิงมีรูปทรงที่ดีตามที่ต้องการ แต่ไม่สามารถป้องกันการหย่อนคล้อยของหน้าอกได้ "
ปัจจัยเหล่านี้คือ สาเหตุที่นำไปสู่ “มะเร็งเต้านม”
- พันธุกรรม จากสถิติพบว่า ถ้าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม 1 คน จะมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า
- ผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ก่อนอายุ 12 ปี และ หมดประจำเดือนหลังอายุ 50 ปี
- อายุในขณะที่มีบุตรคนแรก จำนวนบุตรที่มี การให้นมบุตร
- ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ยาฮอร์โมนสำหรับหญิงวัยทอง ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- ดัชนีมวลกาย (BMI) เพราะโรคอ้วน และ ไขมันในเลือดสูง ทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม
- อาหาร การดำเนินชีวิต และ สิ่งแวดล้อม
- การออกกำลังกาย จากสถิติพบว่า การออกกำลังกาย ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมลงได้ 10-50%
แม้จะมีปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง “สถิติ” ไม่มีการยืนยันได้มะเร็งเต้านมเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรอง จึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้พบโรคเร็ว และ เพิ่มโอกาสในการรักษา