ฟังเพลงตอนออกกำลังกาย ประโยชน์ดี ๆ ของการฟังเพลง ขณะออกกำลังกาย
ข้อดีของการฟังเพลงตอนออกกำลังกาย
1.ช่วยให้ออกกำลังกายได้หนักขึ้น
ผลการวิจัยระบุว่า ผู้ที่ฟังเพลงตอนออกกำลังกายสามารถออกกำลังกายได้หนักขึ้น การฟังเพลงช่วยลดความเบื่อหน่าย และยังช่วยให้สามารถออกกำลังกายซ้ำ ๆ หรือออกกำลังกายประเภทฝึกความอึด หรือฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้หนัก และนานขึ้น รู้สึกเหนื่อยช้าลง ช่วยพัฒนาคุณภาพในการออกกำลังกาย เพิ่มความทนทานได้อีกด้วย
มีงานวิจัยที่ทำการวัดคลื่นสมองด้วยเครื่อง Electroencephalogram (EEG) ในขณะฟังเพลง พบว่า การฟังเพลงขณะออกกำลังกาย ช่วยลดคลื่นธีต้า (Theta waves) ชนิดความถี่ 4-7 เฮิร์ต (Hz) ได้ ซึ่งกระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการระงับอาการเมื่อยล้าต่าง ๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้วิ่งได้นานขึ้น
2.ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า อาสาสมัครที่ฟังเพลงตอนออกกำลังกายมีระดับของเซโรโทนิน (Serotonin) หรือสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อของ “ฮอร์โมนรู้สึกดี” สูงขึ้น จึงทำให้ออกกำลังกายแล้วรู้สึกอารมณ์ดี
3.ทำให้จิตใจสงบ
เพลงที่มีจังหวะ หรือช่วงความเร็วคงที่ อยู่ที่ 80-115 ครั้งต่อนาที (BPM) อย่างเช่น เพลงบัลลาด เพลงคลาสิก สามารถช่วยให้หัวใจเต้นช้าลง และช่วยลดความวิตกกังวล ก่อนลงสนาม ออกกำลังกายแบบความเข้มข้นสูง หรือเล่นกีฬาต่าง ๆ ได้ ไม่ใช่แค่จังหวะดนตรี แต่เนื้อเพลง และความรู้สึกที่มีต่อเพลงนั้น ๆ ก็สามารถช่วยให้ผ่อนคลาย และรู้สึกสงบได้เช่นกัน
4.ช่วยให้ร่างกายทำงานประสานกันมากขึ้น
หากฟังเพลงไปด้วย จะช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นจังหวะ และทำงานประสานกันได้ดีมากขึ้น จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า การฟังเพลงตอนออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มคลื่นไฟฟ้าในสมอง ส่วนที่ควบคุมให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อย่างสัมพันธ์กัน
5.ฟังเพลงตอนออกกำลังกายเวิร์กเอาท์ได้สนุกกว่า
การฟังเพลงสามารถช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากการออกกำลังกายสุดโหด ช่วยให้ออกกำลังกายได้ง่ายขึ้น และสนุกขึ้น ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีอาสาสมัครเข้าร่วมจำนวน 34 คน พบว่า การฟังเพลงตอนออกกำลังกาย ช่วยให้ออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนุกสนาน กว่าการดูคลิปแบบไม่ฟังเสียงเสียอีก
6.ช่วยลดโอกาสบาดเจ็บ
งานศึกษาวิจัยในอาสาสมัครที่ไม่ได้เป็นนักวิ่งอาชีพจำนวน 26 คน พบว่า การฟังเพลงที่มีจังหวะในช่วง 130-200 ครั้งต่อนาที (BPM) จะทำให้นักวิ่งเร่งและชะลอฝีเท้าไปตามจังหวะเพลง แต่หากเลือกเพลงที่มีจังหวะเร็วขึ้นเป็นช่วง 160-180 ครั้งต่อนาที (BPM) การวิ่งแต่ละก้าวจะสั้นลง จึงช่วยลดแรงกด และแรงกระแทก รวมไปถึงช่วยลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย
7.ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น
งานวิจัยในอาสาสมัคร 60 คน พบว่า การฟังเพลงช้าหลังจากออกกำลังกายเสร็จ สามารถช่วยให้อัตราการเต้นหัวใจ และระดับความดันโลหิตลดลง ทั้งยังทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วกว่าการฟังเพลงเร็ว หรือการนั่งพักในที่เงียบ ๆ นอกจากนี้การเลือกเพลงที่เหมาะสม ช่วยผ่อนคลายความเครียด และลดผลกระทบจากการออกกำลังกายได้อีกด้วย