ผีอำ โดนผีหลอก หรือแค่ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ
อาการผีอำ หรือทางการแพทย์เรียกว่า Sleep Paralysis เป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อ มักจะเกิดขึ้นในขณะหลับไปได้ไม่นาน หรือในช่วงที่เพิ่งตื่นนอน สถาบันการการนอนหลับแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Sleep Medicine) พบว่า คนส่วนใหญ่จะมีอาการผีอำครั้งแรก เมื่ออายุระหว่าง 14-17 ปี และคนจำนวนร้อยละ 40-50 ของประชากรโลกจะมีอาการผีอำ
อาการผีอำเป็นอย่างไร
- รู้สึกเหมือนร่างกายเป็นอัมพาตทั้งตัวแบบเฉียบพลัน
- รู้สึกหมดแรง ไม่สามารถขยับแขนขาได้ พูดไม่ได้
- หายใจลำบาก รู้สึกเหมือนมีคนมาทับ ซึ่งมักจะเป็นในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น
- บางคนอาจฝันร้าย เห็นภาพหลอน ในระหว่างก่อน หรือหลังนอนหลับ แต่เป็นอาการที่หาได้ยาก อาจเกิดขึ้นได้เฉพาะกับบางคนเท่านั้น
- ได้ยินเสียงปริศนา
- รู้สึกกลัว
โดยอาการเหล่านี้จะมาแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่ละครั้งที่เป็นจะกินเวลาไม่นาน สามารถหายไปเองได้ หรืออาการจะหายไปเมื่อมีคนอื่นมาสะกิด ขณะที่มีอาการผีอำ อาจจะรู้สึกตัวอยู่ตลอด แม้ว่าจะไม่สามารถขยับตัวได้ก็ตาม และสามารถจดจำเหตุการณ์เหล่านั้นได้ แม้ว่าอาการเหล่านั้นจะผ่านไปแล้ว
เมื่อตื่นขึ้นจากอาการผีอำได้ จะเกิดอาการตื่นกลัวจนตัวสั่น เหงื่อออกมาก รู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองเพิ่งฟื้นจากความตาย ในหลักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายอาการนี้ว่าเป็น ภาวะที่ร่างกายเข้าสู่ห้วงการหลับทั้ง ๆ ที่ยังตื่นอยู่ หรือโรคลมหลับ (Narcolepsy) คือ ร่างกายจะเข้าสู่สภาวะการหลับ แต่จิตสำนึกยังคงตื่นอยู่ ทำให้รู้สึกขยับตัวไม่ได้เหมือนคนเป็นอัมพาต ผู้ที่ไม่เป็นโรคลมหลับสามารถเกิดอาการ ผีอำ ได้เช่นกัน แม้อาการนี้จะไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้ที่เจอปัญหานี้ได้
ลักษณะของการนอนหลับ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1.ลักษณะหลับไม่สนิท (REM) เป็นภาวะที่สมองยังคงทำงานอยู่ ตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือที่เรียกว่ากึ่งหลับกึ่งตื่น ซึ่งในลักษณะนี้มักจะเกิดภาวะผีอำได้
2.หลับลึก หรือหลับสนิท (NREM) สมองตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้าลงทำให้ร่างกายผ่อนคลาย และพักผ่อนได้เต็มที่
การนอนหลับจะวนเวียนอยู่ในสองลักษณะนี้ ซึ่งปกติแล้วจะไม่สามารถแยกความฝันกับความจริงออกจากกันได้ จึงทำให้เกิดจินตนาการซ้อนกับความจริง เมื่อเกิดอาการผีอำขึ้น คนจึงจินตนาการเป็นภาพลวงตาของภูตผีปีศาจทั้ง ๆ ที่ไม่มีวิญญาณมาหลอกหลอนจริง ๆ
สาเหตุของการเกิดอาการผีอำ
อาการผีอำสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย มักเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับการนอน อย่างเช่น นอนน้อย นอนไม่หลับ เวลานอนที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านอนหงาย การที่มีตารางการนอนที่ผิดปกติ หรือเวลาในการนอนไม่ตรงกัน อย่างเช่น ต้องทำงานเป็นกะ มีอาการเจ็ตแล็ก (Jet Lack) และกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการนี้เป็นพิเศษ คือ ผู้ที่มีโรคต่าง ๆ เหล่านี้
- โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
- โรคลมหลับ (Narcolepsy)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ภาวะซึมเศร้า (Major Depression)
- โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
- ผู้ที่มีสภาวะป่วยทางจิตใจหลังเจอเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD)
นอกจากนี้ยังสามารถเกิดได้จาก อาการตะคริวในเวลานอน มีภาวะทางจิต อย่างเช่น มีอาการเครียด และเกิดจากการใช้ยาบางชนิด หรือสารเสพติด
การป้องกัน และการรักษา
- นอนหลับให้เพียงพอ นอนตรงเวลา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนโดยต้องนอนให้ครบ 6-8 ชั่วโมง
- ปรับสถานที่ในการนอนให้สงบ เหมาะกับการนอน เพื่อให้การนอนสบาย และลดอาการผิดปกติระหว่างการนอนหลับ จัดห้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ใช้ที่ปิดตา หรือผ้าม่านทึบ เพื่อป้องกันแสงสว่างจากภายนอกรบกวนเวลานอน
- ไม่ควรใช้ยานอนหลับมากเกินไป เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ก่อนนอน
- หากมีอาการเหนื่อยให้รีบเข้านอน
- ผ่อนคลายตนเองก่อนเข้านอน อย่างเช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ
- เปลี่ยนท่านอน ให้นอนตะแคง หรือ นอนคว่ำ แทนการนอนหงาย
- ออกกำลังเป็นประจำ แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน
อาการผีอำเป็นอาการที่ดูไม่รุนแรง เนื่องจากเป็นสัญญาณบ่งบอกทางอ้อมว่าร่างกายต้องการการพักผ่อนที่ดีกว่าเดิม เมื่อมีอาการผีอำ จึงควรปรับพฤติกรรมการนอนถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผีอำเป็นประจำควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำ หรือรับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องต่อไป