Stages of Grief 5 ระยะ ก้าวผ่านความเศร้าอย่างเข้าใจ
ความเศร้าจากการสูญเสียคนรักโดยไม่ทันได้ตั้งตัว เช่น เพื่อน คนรัก คนในครอบครัว ความสัมพันธ์ สัตว์เลี้ยงแสนรัก หรือ การสูญเสียสิ่งที่ผูกพันบางสิ่งบางอย่าง เช่น หน้าที่การงาน สิ่งของ สถานที่ ช่วงเวลา หรือ สิ่งใด ๆ ที่ได้ให้คุณค่าให้ความสำคัญ การพรากจากอย่างกะทันหันจึงเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกหลากหลายที่ผสมปนเปกัน ทั้งความเศร้า เสียใจ วิตกกังวล สับสน และ โกรธ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากมีความรู้สึกเหล่านี้ การทำความเข้าใจตัวเองใน 5 ระยะความโศกเศร้า อาจช่วยเยียวยาจิตใจได้ดียิ่งขึ้น
Dr. Elisabeth Kübler Ross จิตแพทย์ ชาวสวิส-อเมริกัน ได้สร้างรูปแบบในการอธิบายภาวะการสูญเสียขึ้นมาในปี ค.ศ. 1969 ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ภาวะช็อค และ ปฏิเสธความจริง (Shock and Denial)
ช่วงแรกสุดของการรับรู้ว่ากำลังสูญเสียสิ่งที่รักไป มนุษย์มักเกิดภาวะช็อก ปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้น และยังคงเชื่อว่าอาจเป็นเรื่องบังเอิญ หรือ เกิดความผิดพลาดบางอย่าง เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นท่วมท้นจนไม่สามารถรับมือได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการยอมรับสิ่งเหล่านั้น
แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสียทีเดียว การไม่ยอมรับความจริงเป็นหนึ่งในกลไกทางธรรมชาติที่ช่วยปกป้องเราจากความรู้สึกที่มากเกินรับไหว ระยะนี้อาจเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดช่วงเวลาของความรู้สึกเสียใจ แต่จะค่อย ๆ หายไปเมื่อเริ่มเข้มแข็งและพร้อมยอมรับความจริงมากขึ้น
ระยะที่ 2 ความโกรธ (Anger)
ความโกรธเป็นอารมณ์แรก ๆ ที่อาจแสดงออกมาผ่านทางความคิด พฤติกรรม คำพูด ซึ่งบางคนใช้ความโกรธห่อหุ้มความเจ็บปวด และ อารมณ์ความรู้สึกหลากหลายที่ต้องการที่รองรับ เช่น ความกลัว ความเศร้า ความสับสน ความรู้สึกผิด จึงอยากระบายความโกรธกับใครสักคน อาจเป็นคนที่เพิ่งสูญเสียไป คนรอบข้าง หรือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แม้สมองส่วนเหตุและผลจะรู้ว่าไม่ควรกล่าวโทษใคร แต่ไม่สามารถต้านทานความรู้สึกเสียใจที่รุนแรง จนกว่าจะกลับมามีสติมากพอที่จะตระหนักควบคุมอารมณ์นี้
ระยะที่ 3 การเจรจาต่อรอง (Bargaining)
ช่วงเวลาแห่งการยื้อเวลาจากความเศร้า ความสับสน ความเจ็บปวดจากการสูญเสีย เช่น การร้องขอให้ทุกอย่างย้อนกลับคืนมา หรือ ต้องการย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ด้วยหวังว่าผลลัพธ์ในปัจจุบันจะต่างออกไป เพื่อไม่ต้องเผชิญความสูญเสีย เป็นช่วงที่อาจมีคำพูด ความคิดที่บอกกับตัวเองว่า ‘ถ้า… ทุกอย่างคงไม่เป็นแบบนี้’ รวมถึงการวิงวอนให้เกิดปาฏิหาริย์ หรือ แม้แต่ความคิดที่ว่าจะยอมทำทุกอย่างเพื่อไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวดจากการสูญเสียอีกต่อไป เป็นระยะทีรู้สึกอ่อนแอสิ้นหวังที่สุด
ระยะที่ 4 โศกเศร้าเสียใจ (Depression)
เป็นช่วงที่เริ่มกลับมาโฟกัสที่ปัจจุบัน เมื่อเกิดการสูญเสีย ไม่ว่าในความสัมพันธ์ใดอย่างไรแล้วความโศกเศร้าเสียใจนั้นเป็นอารมณ์ที่ต้องเกิดขึ้น และเมื่อมีความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจอย่างลึกซึ้ง มีความสงบของอารมณ์มากกว่า 3 ระยะข้างต้น จากการที่เริ่มตระหนักได้ว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงได้ อาจทำให้ซึมลง ตั้งแต่เกิดเป็นอารมณ์เศร้าเล็ก ๆ ที่อยู่ภายใน จนถึงระดับความเศร้ารุนแรงที่สามารถพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้าได้ ฉะนั้นในระยะนี้ ต้องพึ่งการดูแลตัวเองให้ดีจนกว่าจะก้าวไปถึงระยะต่อไป
หากอารมณ์จมดิ่ง รู้สึกไร้หนทาง ไม่สามารถดึงตัวเองกลับมาได้ ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
ระยะที่ 5 การยอมรับ (Acceptance)
การเผชิญหน้ากับความเป็นจริงว่าคนที่รักได้จากไปแล้ว การสูญเสียเป็นหนึ่งสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์จะสามารถกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง ไม่มีว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ก็ตาม อาจเกิดขึ้นในระดับนาที วัน สัปดาห์ เดือน หรือ ปี ควรทำความเข้าใจว่าไม่มีอะไรที่จะช่วยย้อนคืนการสูญเสีย ชีวิตต้องดำเนินต่อไป และ ต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้
โดยในช่วงแรกที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น อาจมีความรู้สึกผิด หรือ รู้สึกเหมือนกำลังทรยศต่อคนที่จากไป แท้จริงแล้วไม่มีใครสามารถมาแทนที่คนที่จากไปได้ และ การสร้างสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
การทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ กลับมาใช้ชีวิตอย่างที่ควรเป็น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรู้สึกผิด อย่าลืมให้เวลาให้พื้นที่ในการดูแลฟื้นฟูตัวเอง อย่าลืมขอบคุณตัวเอง และ อย่าลืมให้อภัยตัวเอง ณ ปัจจุบันนี้ด้วย จนกว่าใจจะค่อย ๆ ยอมรับและผ่านพ้นไปได้