ตดหรือผายลม แม้จะเป็นกระบวนการทางชีวภาพของร่างกายที่เกิดขึ้นกับทุกคนเป็นปกติ โดยเฉลี่ยประมาณ 5-15 ครั้งต่อวัน แต่บางครั้งการผายลมบ่อยหรือผายลมเหม็นอาจทำให้รู้สึกอับอายหรือเป็นกังวลเมื่ออยู่กับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้อาจแก้ไขได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดการสะสมแก๊สในระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะการรับประทานอาหารบางชนิดหรือพฤติกรรมบางประการ
สาเหตุของการตดหรือผายลม
การตดหรือผายลมเกิดจากแก๊สที่สะสมในระบบย่อยอาหารเนื่องจากกระบวนการย่อยสลายอาหารไปเป็นพลังงานของร่างกาย การรับประทานอาหารบางชนิดที่ทำให้เกิดแก๊สมาก หรือการกลืนอากาศซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเคี้ยวอาหาร หายใจ สูบบุหรี่ หรืออื่น ๆ แม้แก๊สส่วนใหญ่จะถูกขับออกมาด้วยการเรอ แต่ก็มีบางส่วนที่ลงไปสู่ระบบย่อยอาหาร ผ่านลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และขับออกมาในรูปแบบของการผายลมในที่สุด
การมีแก๊สสะสมมากจนทำให้ตดหรือผายลมออกมาอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่เป็นไปได้ ดังนี้
อาหารที่รับประทาน อาหารบางชนิดจะทำให้เกิดแก๊สระหว่างที่ถูกย่อยสลายมากกว่าชนิดอื่น ๆ เนื่องจากกระบวนการหรือความยากในการย่อย เป็นสาเหตุให้มีแก๊สในกระเพาะมาก รู้สึกปวดท้อง ท้องอืด และผายลมตามมา โดยเฉพาะอาหารที่ประกอบด้วยน้ำตาลธรรมชาติ มีเส้นใยอาหารสูง หรืออาหารประเภทแป้ง ได้แก่
- ผักและผลไม้ที่มีน้ำตาลบางชนิดและอาจทำให้เกิดแก๊สในท้องขณะย่อย เช่น น้ำตาลฟรุกโตสที่พบได้ในหัวหอม น้ำตาลแรฟฟิโนสในหน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี น้ำตาลซอร์บิทัลจากลูกพรุน ลูกท้อ แอปเปิล รวมถึงผักผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำ เช่น ถั่วลันเตา แต่หากเป็นเส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำก็มักจะถูกย่อยและขับผ่านไปได้โดยง่าย ไม่ทำให้เกิดแก๊สหรือรู้สึกไม่สบายท้อง
- หมากฝรั่งและลูกอมบางชนิดที่มีส่วนประกอบเป็นสารให้ความหวานอย่างซอร์บิทอล (Sorbitol)
- อาหารจำพวกแป้งซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตสูง โดยเฉพาะอาหารที่ทำจากธัญพืช ขนมปัง ข้าวโพด มันฝรั่ง แต่อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ดูเหมือนจะไม่ทำให้เกิดแก๊สก็คือข้าว
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม คนที่มีเอนไซม์แลคเตสไม่เพียงพออาจย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้ยาก รวมไปถึงอาหารที่ทำจากนมอย่างไอศกรีม ชีส หรืออาหารใดก็ตามที่มีแลคโตส ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดแก๊สก็ยังอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
- ข้าวโอ๊ต อีกหนึ่งอาหารที่สามารถทำให้เกิดแก๊สในท้อง เพราะมีเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำสูง การรับประทานข้าวโอ๊ตจึงควรเริ่มจากปริมาณน้อย ๆ ก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเพื่อให้ร่างกายปรับตัว หรือรับประทานสลับกับอาหารจากรำข้าวสาลีซึ่งมีเส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำสูง
- ถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง หรือถั่วเขียว ซึ่งก็มีน้ำตาลแรฟฟิโนสเช่นกัน อีกทั้งยังประกอบด้วยเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำ
- เครื่องดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำหวาน เครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลให้มีแก๊สในท้องจนรู้สึกไม่สบายท้องได้ เนื่องจากในโซดามีการอัดอากาศหรือแก๊สเข้าไป รวมถึงฟรุกโตสซึ่งเป็นน้ำตาลที่ให้ความหวานและอาจย่อยได้ยาก
การกลืนอากาศมากเกินไป อากาศจำนวนมากสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารผ่านการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร ซึ่งแก๊สกว่า 50 เปอร์เซ็นต์มาจากอากาศที่กลืนเข้าไปนี้เอง ส่งผลให้มีอาการเรอหรือสะอึกตามมาได้ นอกจากนี้ อากาศบางส่วนก็ยังผ่านเข้าไปสู่ระบบย่อยอาหารและถูกปล่อยออกมาทางทวารหนักในรูปของการผายลม โดยปัจจัยที่ทำให้มีการกลืนอากาศมากเกินไปมักพบว่าเกิดจากพฤติกรรมต่อไปนี้
- เคี้ยวหมากฝรั่ง
- อมลูกอมหรืออมอาหารบางชนิด
- รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำอย่างรวดเร็วจนเกินไป
- ดื่มเครื่องดื่มน้ำอัดลม
- ดื่มน้ำจากหลอด
- กลืนน้ำลายบ่อยเกินไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกวิตกกังวล
- สวมใส่ฟันปลอมที่หลวมเกินไป
- สูบบุหรี่
ผลจากยารักษาโรคหรือปัญหาสุขภาพ
- ยารักษาโรคหรืออาหารเสริมบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงให้มีอาการท้องอืดหรือเกิดแก๊สในระบบย่อยอาหารมาก เช่น ยารักษาโรคเบาหวานอย่างอะคาร์โบส (Acarbose) รวมถึงอาหารเสริมใยอาหารบางชนิด
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มักมีอาการท้องอืดก่อนหน้าช่วงมีประจำเดือน โดยเป็นผลจากการที่ร่างกายกักเก็บของเหลวไว้
- โรคบางชนิดสามารถส่งผลให้มีแก๊สมากและผายลมบ่อย เช่น ภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ (Lactose Intolerance) เกิดจากการที่ร่างกายไม่ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม ซึ่งหากลองงดการดื่มนมแล้วพบว่าตนเองมีแก๊สหรือผายลมน้อยลง อาการดังกล่าวก็อาจสาเหตุจากปัญหานี้ รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีแก๊สมากหรือผายลมบ่อย ได้แก่
- ลำไส้แปรปรวน
- โรคลำไส้อุดตัน
- อาหารไม่ย่อย
- กรดไหลย้อน
- แผลในกระเพาะอาหาร
- โรคโครห์น
- โรคแพ้กลูเตน
ตดเหม็น ตดบ่อย เป็นอันตรายหรือไม่
การตดหรือผายลมเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วันละ 6-20 กว่าครั้ง และมักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารเป็นปกติ โดยไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายใด ๆ แม้จะมีการกลั้นผายลมก็ตาม ซึ่งบางครั้งแก๊สก็อาจถูกขับผ่านออกมาโดยไม่รู้ตัวในปริมาณเพียงเล็กน้อยและไม่ส่งกลิ่น แต่การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารที่มีสารซัลเฟอร์หรือมีแบคทีเรียที่สร้างแก๊สมีเทนหรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ ก็อาจส่งผลให้ลมที่ผายออกมามีกลิ่นเหม็นได้
ทั้งนี้ ความถี่หรือลักษณะการผายลมที่ผิดปกติไม่มีข้อบ่งบอกอย่างแน่ชัด การสังเกตอาการด้วยตนเองจึงเป็นสิ่งที่พอจะทำได้ในเบื้องต้น โดยควรไปพบแพทย์เมื่อการผายลมเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ผายลมมีกลิ่นเหม็นบ่อยครั้ง หรือในกรณีที่มีอาการใด ๆ ต่อไปนี้ปรากฏร่วมด้วย เพราะอาจแสดงถึงปัญหาสุขภาพร้ายแรง
- ปวดท้องและท้องอืดต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- มีอาการท้องเสียหรือท้องผูกเกิดขึ้นซ้ำ ๆ
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- กลั้นอุจจาระไม่อยู่
- มีเลือดปนในอุจจาระ
- มีอาการบ่งบอกถึงการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดข้อต่อ เป็นต้น
วิธีป้องกันการตดเหม็นหรือตดบ่อย
การตดหรือผายลมที่มีกลิ่นเหม็นนั้นหลีกเลี่ยงได้โดยพยายามลดการรับประทานอาหารที่มีสารซัลเฟอร์ ซึ่งก่อให้เกิดแก๊สที่มีกลิ่น เช่น หัวหอม กระเทียม หน่อไม่ฝรั่ง ไข่ นม แป้งข้าวโพด ผักกาดหอม มะเขือเทศ ถั่วเหลือง และปลาบางชนิดอย่างแซลมอน ส่วนวิธีป้องกันการผายลมบ่อยอาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่มักทำให้เกิดการสะสมแก๊สเป็นจำนวนมาก ดังนี้
- ลดอาหารที่มีเส้นใยอาหาร น้ำตาลธรรมชาติ และแป้งที่ย่อยยาก ซึ่งจะทำให้เกิดแก๊สในระบบย่อยอาหารขึ้นมาก ได้แก่
- ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ แตงกวา พริกหยวก หัวหอม ถั่วลันเตา มันดิบ หัวผักกาดแดง
- ผลไม้บางชนิด เช่น แอปริคอท แอปเปิลแดง แอปเปิลเขียว กล้วย แตงโม ลูกพรุน ลูกท้อ ลูกแพร์
- ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ข้าวโอ๊ต
- ถั่วบางชนิด เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส ไอศกรีม โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ
- เครื่องดื่มน้ำอัดลมต่าง ๆ รวมถึงน้ำผลไม้ เบียร์ ไวน์
- อาหารชนิดอื่นนอกจากนมที่อาจประกอบด้วยแลคโตส เช่น ขนมปัง น้ำสลัด และธัญพืช
- อาหารจากไข่
- อาหารทอดหรืออาหารที่มีไขมันสูง สามารถก่อให้เกิดอาการท้องอืดได้
- น้ำตาลและสารที่ใช้แทนน้ำตาล เช่น ซอร์บิทอล
- รับประทานอาหารและดื่มน้ำช้า ๆ เพราะการรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบจนเกินไปอาจทำให้มีการกลืนอากาศลงไปมากและเกิดแก๊สตามมาในที่สุด นอกจากนี้ ผู้ที่สวมใส่ฟันปลอมควรตรวจดูให้ดีก่อนว่ามีความพอดีกับช่องปาก เพราะหากฟันปลอมหลวมจะทำให้เกิดการกลืนอากาศเข้าไประหว่างเคี้ยวอาหารได้
- อย่าดื่มน้ำก่อนมื้ออาหาร เนื่องจากจะทำให้สูญเสียกรดที่ใช้ในการย่อยอาหาร ทำให้อาหารถูกย่อยสลายได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทางที่ดีควรดื่มน้ำในช่วง 30 นาทีก่อนรับประทานอาหาร จะช่วยให้กระเพาะสามารถย่อยได้ดีขึ้น
- เลี่ยงพฤติกรรมใด ๆ ที่อาจทำให้ต้องกลืนอากาศเข้าไป เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง สูบบุหรี่ หรือดื่มน้ำจากหลอด
- ไม่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มใด ๆ ที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างซอร์บิทอลหรือน้ำตาลแอลกอฮอล์ โดยซอร์บิทอลนั้นมักนำมาใช้เป็นส่วนผสมในหมากฝรั่ง
อย่างไรก็ตาม อาหารหรือพฤติกรรมแต่ละอย่างอาจส่งผลแตกต่างกันในแต่ละคน บางคนจะเกิดแก๊สมากหากรับประทานผลไม้กับโปรตีน แต่บางคนอาจมีแก๊สมากจากการรับประทานอาหารประเภทแป้งกับโปรตีนร่วมกัน ทางที่ดีควรสังเกตปัจจัยต่าง ๆ ที่น่าจะเป็นสาเหตุให้มีแก๊สสะสมในระบบย่อยอาหารมาก โดยลองจดบันทึกว่ารู้สึกอึดอัดท้อง เรอ หรือผายลมหลังจากการรับประทานอาหาร ยารักษาโรค หรือการทำกิจกรรมใด ๆ เพื่อเลี่ยงพฤติกรรมและอาหารที่น่าจะเป็นตัวการกระตุ้นการผายลมโดยเฉพาะ
วิธีรักษาเพื่อลดแก๊สในระบบย่อยอาหาร
การมีแก๊สในระบบย่อยอาหารมากเกินไปนั้น ยังไม่มียาสำหรับรักษาให้หายอย่างเด็ดขาด มีเพียงยาบางชนิดที่อาจช่วยลดอาการอาหารไม่ย่อย ซึ่งมีขายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น
- แอลฟา-กลูโคซิเดส ตัวยาประกอบด้วยเอนไซม์ที่จะช่วยย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนในอาหารจำพวกถั่ว ธัญพืช และผักหลาย ๆ ชนิดให้กลายเป็นน้ำตาลที่ย่อยง่ายขึ้น โดยรับประทาน 2-3 เม็ดก่อนมื้ออาหาร ทว่าอาหารเสริมชนิดนี้จะไม่เห็นผลในกรณีที่แก๊สเกิดจากเส้นใยอาหารหรือแลคโตส
- เอนไซม์แลคเตส สามารถช่วยย่อยแลคโตสในนม สำหรับผู้ที่มีภาวะย่อยแลคโตสในนมผิดปกติ
- ยาไซเมทิโคน เป็นยาที่ช่วยลดฟองแก๊สในระบบย่อยอาหาร
- ถ่านกัมมันต์หรือชาร์โคล อาจมีคุณสมบัติช่วยลดการเกิดแก๊สหรืออาการท้องอืด โดยจะไปจับกับของเหลวในลำไส้และลดแก๊ส ลดอาการท้องอืด ทั้งยังทำให้อุจจาระจับตัวเป็นเนื้อยิ่งขึ้น