ล้มได้ ต้องลุกเป็น Resilience Skill ทักษะชีวิตสำคัญที่ควรรู้ ช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ
เมื่อมีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบกระเทือนจิตใจ สำหรับบางคนสามารถรับมือได้อย่างรวดเร็ว แต่ในบางคนต้องใช้เวลาสักระยะเพื่อให้ตนเองเข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องก็คือ ความสามารถในการฟื้นตัวจากเหตุการณ์ที่ยากลำบากนั่นเอง
Resilience Skill คือ ความสามารถในการฟื้นตัวจากเหตุการณ์ที่ยากลำบาก เป็นทักษะทางจิตใจอย่างหนึ่ง คือความสามารถในการรับมือ จัดการกับเหตุการณ์ยากลำบากที่ต้องเผชิญ รวมถึงรับมือกับอารมณ์ ความรู้สึกร่วมต่าง ๆ และ ผลกระทบที่เกิดพร้อมกับเหตุการณ์นั้น เป็นกระบวนการช่วยในการปรับตัว ทำให้รับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิต เช่น เรื่องของอุปสรรค ความยากลำบาก เรื่องท้าทาย การถูกกระทบกระเทือนจิตใจ ภัยคุกคาม ความเครียดสะสม การประสบปัญหาด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาชีวิต ปัญหาความรัก ปัญหาเรื่องการงาน ปัญหาสุขภาพ เพื่อให้ตนเองสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้น กลับมาใช้ชีวิตต่อไปได้
ระดับของ Resilience ในแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ทำให้แต่ละคนมีความเร็วในการฟื้นตัวเมื่อได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในชีวิตไม่เท่ากัน เพราะ ความสามารถในการฟื้นตัว มักควบคู่มากับความสามารถในการปรับตัว และความยืดหยุ่นในเรื่องต่าง ๆ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราสะดุดหกล้ม อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ อาจเกิดอาการตกใจ แต่ต้องพยายามรวบรวมสติ จัดการกับความเจ็บปวด ผลักดันให้ตนเองลุกขึ้นยืนก่อนจะก้าวต่อ ตรงจุดนี้เองที่ Resilience มีบทบาทเข้ามา คนที่ลุกได้เร็วและรับมือความเจ็บ ความตกใจได้ดีมากเท่าไร จะสามารถก้าวต่อไปโดยที่ปรับตัวเข้ากับภาวะหลังจากล้มลงได้ดีเท่านั้น ทำให้ตนเองเข้มแข็งขึ้น หายดีได้โดยไว พวกเขาเหล่านั้นมักมีความสามารถในการฟื้นตัวที่สูง
วิธีพัฒนา Resilience Skill
1.การยอมรับความจริง การแก้ปัญหาที่ดี ต้องมองเห็นถึงต้นตอของปัญหา ลองบอกตนเองว่า ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ ต้องมองหาสาเหตุอย่างรอบด้าน ไม่ด่วนตัดสินเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะหากสามารถยอบรับความจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นการนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด แต่หากหาสาเหตุของปัญหาไม่ได้ ก็ไม่ควรโทษตัวเอง คนอื่น หรือ สิ่งรอบข้าง แต่ให้ค่อย ๆ ยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิด และบอกตนเองว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ
2.ทบทวนปัญหาพร้อมกับทบทวนตัวเอง ต้องกล้าที่จะเปิดใจ ฝึกตั้งคำถามพร้อมกับทบทวนตนเองว่า ในอดีตมีข้อผิดพลาดใด มีจุดอ่อนตรงไหน หรือ มีส่วนใดบ้างยังไม่ได้พัฒนา ปรับปรุง จนก่อให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้น เมื่อทบทวนจนพบถึงข้อบกพร่อง ขั้นต่อมาคือ การทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อยอมรับความจริงได้แล้ว ก็ถึงขั้นตอนของการแก้ปัญหา และควรมีความยืดหยุ่นในตนเอง จะช่วยให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างมีระบบ ไม่ก่อให้เกิดความเครียด และช่วยให้การสะสางเป็นได้อย่างรวดเร็วขึ้น
3.พัฒนาและพร้อมเดินหน้า หลังจากการยอมรับความจริง ทบทวนปัญหาพร้อมกับทบทวนตัวเอง และต้องพร้อมที่ก้าวเดินหน้าต่อไปด้วยการพัฒนา ดึงสิ่งที่บกพร่อง และ นำปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน พยายามหาทางป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำ หรือ เกิดขึ้นน้อยที่สุด แต่ไม่ควรกดดันให้ทุกอย่างต้องเพอร์เฟกต์ ควรใช้ความยืดหยุ่นค่อย ๆ เรียนรู้ และ พัฒนาไปแบบ Step by Step
4.เสริมสร้างสุขภาวะทางใจ ดูแลร่างกายให้แข็งแรงเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบต่าง ๆ พักผ่อนเพียงพอเพื่อไม่ให้เหนื่อยล้า ผ่อนคลายทางใจเพื่อลดความเครียด จากการทำงานอดิเรกที่ชอบ รับพลังงานบวกจากคนรอบข้าง สื่อต่าง ๆ รอบตัว ก็เป็นตัวเสริมความสามารถในการฟื้นตัวได้เช่นเดียวกัน
5.นำเหตุการณ์ที่พบเจอมาเป็นประสบการณ์สำหรับการเรียนรู้ เปิดรับความคิด ความท้าทาย หรือ เป้าหมายใหม่ ไม่ยึดติดกับความผิดหวัง ความล้มเหลว ไม่บีบบังคับกดดันตนเองจนเกินไป จะทำให้เรามีมุมมองที่ขยายกว้างขึ้นจนคิดหาหนทางต่อไปได้