แพ้ไข่ (Egg Allergy)
แพ้ไข่ คือ อาการแพ้อาหารชนิดหนึ่งเกิดขึ้นหลังจากกินไข่ หรือ อาหารที่มีส่วนผสมของไข่ จะมีอาการแตกต่างกันไป แสดงออกมาทางระบบร่างกายต่าง ๆ เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้เกิดลมพิษ มีผื่นบริเวณผิวหนัง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
ในรายที่มีอาการแพ้ระดับปานกลางถึงรุนแรง อาจจะมีอาการอื่น ๆ เช่น คัดจมูก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย มีอาการของโรคหอบ เช่น ไอ หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก หายใจสั้น อาการดังกล่าวอาจจะแสดงอาการเพียงอย่างเดียว หรือเกิดขึ้นพร้อมกันได้
ในกรณีที่พบได้น้อยคือการแพ้เฉียบพลันรุนแรง เรียกว่า แอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) มีอาการหายใจลำบาก ปวดบีบที่ท้อง หัวใจเต้นเร็ว และช็อกเนื่องจากความดันต่ำ อาการดังกล่าวส่งผลให้เวียนศีรษะ มึนงง หมดสติ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ผู้ที่แพ้ไข่อาจแสดงอาการตั้งแต่อยู่ในวัยทารก และส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติก่อนเข้าสู่วัยรุ่น
แพ้ไข่เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง ?
- การแพ้ไข่คล้ายกับโรคภูมิแพ้อื่น คือ ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดว่า สารบางอย่างในไข่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารฮิสตามีน และสารอื่น ๆ ออกมามีหน้าที่จัดการสารที่ร่างกายคาดว่า เป็นอันตราย จนทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ตามมา
- ทั้งไข่แดง และ ไข่ขาว ต่างประกอบด้วยโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เพียงแต่ว่า การแพ้ไข่ขาวจะพบได้มากกว่า
- ทารกที่กินนมแม่อาจมีอาการแพ้โปรตีนในไข่ที่ปะปนมาในนมแม่ได้เช่นกัน หากคุณแม่รับประทานไข่เข้าไป
- บางคนอาจมีภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง (Food intolerance) จากไข่ ซึ่งจะไม่แสดงอาการในทันที แต่จะค่อย ๆ เกิดขึ้นจนกลายเป็นอาการเรื้อรัง อาการของภาวะนี้ไม่รุนแรง แต่กวนใจได้ไม่น้อย อาจทำให้มีอาการท้องเสีย ปวดท้องเมื่อรับประทานไข่ หรือ อาจเป็นสิวเรื้อรังที่ใบหน้า
- อาการแพ้ไข่อันเนื่องมาจากวัคซีนบางชนิด ที่ทำการผลิตโดยกรรมวิธีการฉีดเชื้อเข้าไปในไข่ไก่ ซึ่งแม้ว่าวัคซีนจะผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ แต่โปรตีนในไข่ยังคงหลงเหลืออยู่ วัคซีนดังกล่าว ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หัด หัดเยอรมัน คางทูม
- คนในครอบครัว มีประวัติการแพ้อาหาร และโรคภูมิแพ้อื่น
การป้องกันอาการแพ้ไข่
- อ่านฉลากอาหารอย่างละเอียดก่อนบริโภค ให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนผสมของไข่ ตัวอย่างอาหารที่มีส่วนประกอบของไข่
อาหารคาว : บะหมี่ มักกะโรนี พาสต้า พิซซ่า ทอดมัน ขนมครก เกี๊ยว ขนมจีบ น้ำสลัด มายองเนส ไส้กรอกแฮมเบอร์เกอร์ อาหารชุบแป้งทอด
อาหารว่าง : เค้ก แพนเค้ก คุ้กกี้ โดนัท ขนมปัง วอฟเฟิล พุดดิ้ง คัสตาร์ด ขนมหม้อแกง ทองหยิบ ทองหยอด ขนมไข่ ขนมเปี๊ยะ
- เมื่อกินอาหารที่ร้านอาหาร ควรแจ้งให้ทางร้านทราบ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าอาหารไม่มีส่วนผสมของไข่
- ผู้ที่มีบุตรหลานที่แพ้ไข่ควรแจ้งให้คนรอบข้างของเด็กทราบ เพื่อไม่ให้เด็กกินอาหารที่มีส่วนผสมของไข่โดยไม่รู้ตัว
- สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ห้ามกินอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ในกรณีที่เด็กมีอาการแพ้ไข่ เนื่องจากโปรตีนจากไข่อาจส่งผ่านทางน้ำนม
การรักษา
1.การใช้ยาในกลุ่มต้านฮิสตามีน ใช้บรรเทาอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง กินยาได้ทันทีหลังจากที่กินอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ ยาหาซื้อได้เองจากร้านขายยา บางชนิดต้องใช้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น
2.การฉีดยาอิพิเนฟริน ในกรณีที่เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง
3.ประมาณร้อยละ 50 ของเด็กที่แพ้ไข่ อาจกินไข่ได้เมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ หากไม่หายเองตามธรรมชาติและมีอาการแพ้ชนิดเฉียบพลัน ปัจจุบันมีการรักษาที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันบำบัดทางปาก หรือ oral immunotherapy (OIT) คือการให้กินไข่น้อยกว่าปริมาณที่ทำให้แพ้ ทีละเล็กละน้อยจนสร้างภูมิต้านทาน ควรอยู่ภายในการดูแลของแพทย์ ยังมีการนำไข่ที่ผ่านการอบร้อน หรือ baked egg เช่น ขนมเค้ก และ มัฟฟิน มาใช้ในการรักษาวิธีนี้เพื่อลดภาวะไม่พึงประสงค์ขณะสร้างภูมิต้านทาน เพื่อทำให้ผู้ป่วยหายแพ้เร็วขึ้นอีกด้วย