กลิ่นกะแยงแทงใจ
….หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแดงค่ำลงมา…..
เสียงเพลง อีสานบ้านเฮา ประพันธ์โดย ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ปราชญ์ชาวศรีเมืองใหม่ ใกล้ฝั่งโขง ในเขตปกครองจังหวัดอุบลราชธานี (แต่ต้นเค้าเพลง “ทิดแปง” คนยางชุมน้อยบ้านข้าน้อยเคยเปิดใจให้ฟังว่า เป็นคนคิดมาก่อน และให้ เทพพร เพชรอุบลไปใช้งานเมื่อครั้งรู้จักกันตอนไปร้องเพลงที่ยางชุม สมัยเกือบหลายสิบปีก่อนโน้น เท็จจริงประการใด ต้องไปถาม ครูเทพพร และครูพงษ์ศักดิ์อีกที แต่ข้าน้อยว่า ไม่ต้องถามดอก เดี๋ยวจะเป็นเรื่องเป็นความกันเปล่า เพราะงานศิลปะ หรืองานพ้องความคิดแบบนี้ อาจไม่ใช่ใครลอกใคร แต่เพราะธรรมชาติได้สร้างสมไว้ ให้คนเราได้ซึมซับ แล้วแต่ใครมีโอกาส แสดงออกสู่สาธารณชนก่อน เหมือนดังพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ธรรมะมีอยู่แล้วในโลก เพียงแต่พระองค์เห็นรู้ และนำมาบอกให้คนที่ไม่เห็นไม่รู้ได้รู้เห็นกัน)
ในนาข้าว ผักกะแยงจะขึ้นทั้งในงานนาที่น้ำไม่ลึกนัก ตามคูคันนาก็มี ยามเก็บเกี่ยวข้าว เดินตามคันนา ก็จะเห็นดอกสีม่วง ยามค่ำแลง ลมพัดเอื่อย ๆ กลิ่นหอมอ่อน ๆ ก็โชยมาต้อยจมูก เป็นกลิ่นหอมที่ไม่มีในสูตรน้ำหอมใด ๆ ในโลก (เว้นแต่ว่าจะมีใครได้แรงบันดาลใจแล้วไปคิดค้นเป็นน้ำหอมกลิ่นผักกะแยงทีหลัง)
ผักกะแยง เป็นผักกินสดก็ดี กินกับก้อยกุ้ง ส้มตำ หรือ เป็นเครื่องเทศ ใส่แกงปลา ต้มปลา หรือห่อหมกปลาซิว ปลาเล็กปลาน้อย หรือปลาอื่น ๆ ทางผู้ไทยนครพนมก็ใส่ในหมกหน่อไม้ป่าสด กลิ่นหอมของมันชวนให้น้ำลายสอ ชวนให้คิดถึงบ้านเแดนอีสานเฮา
ไทอีสาน-ลาวอีกฝั่ง ที่ไปอยู่ห่างไกลบ้านในกรอบกรงกรุงเทพฯเมืองใหญ่ หรือแม้ในปารีส-ฝรั่งเศส หรือที่ไหน ๆในโลก ได้กลิ่นผักกะแยงก็รู้ได้ทันที คึดฮอดบ้านทันที (เคยได้ยิน ผอ. ที่โรงเรียนเล่าเรื่องอาหารพื้นบ้านเมื่อครั้งท่านไปเยี่ยมญาติที่ปารีสสู่ฟัง แม้แต่กระถินต้นเดียว ก็เป็นเงินเป็นทอง ลูกสั่งให้แม่ส่งเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านไปให้ โดยเลาะปกเสื้อกันหนาวออก ยัดเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านใส่แล้วเย็บคืนดังเดิม ส่งไปผ่านการตรวจของเจ้าพนักงานเพราะตรวจไม่เจอ พอถึงมือลูกก็จึงหว่านปลูกแต่ขึ้นเพียงต้นเดียวคือ กระถิน คนลาว คนไท คนเขมร เวียดนามที่นั่นต้องมาจองคิวซื้อกัน ทำเงินให้เจ้าของอย่างน่าอัศจรรย์ใจ)
เพลงเกี่ยวกับผักกะแยงนี้ก็ขายดีไม่แพ้กัน อย่างเพลง “ส่งฮักส่งแฮง” ที่ครูสลา คุณวุฒิ แต่งให้ศิริพร อำไพพงษ์ร้องในชุดปริญญาใจ ก็ดังขายดิบขายดี มนต์เสน่ห์พื้นบ้านนี้สะกดใจคนได้จริง ๆ
“หอมผักกะแยง…ผู้ใด๋หนอแกงหน่อไม้ กลิ่นหอมลอยมาซูนใจ ให้คึดฮอดอ้ายคนนั้น….”
อานุภาพของกลิ่นผักกะแยง ยังลอยวน เป็นสื่อฮักในบทเพลงอีสาน ถ้าจะสำรวจก็คงมีอีกหลายเพลง ทั้งกลอนลำ ทั้งเพลงลูกทุ่ง
พูดถึงเพลงลูกทุ่งยุคนี้ ชักจะเหือดกลิ่นผักกะแยงไปเสียแล้ว เพราะแม้จะเอาผักกะแยงมาใส่ในเพลงก็ยังมิวายไปเป็นแค่ส่วนประกอบของวัฒนธรรมบริโภคแบบปล่อยตัวปล่อยใจไร้จุดหมายที่เป็นแก่นสารแห่งชีวิต เช่นความดีงาม การเข้าถึงสัจธรรม หรือนิพพาน ที่พูดนี้เป็นมุมมองของคนที่เพียงแค่รู้จักชีวิตบ้างนิดหน่อย แต่ก็อดไม่ได้จริง ๆที่จะบอกว่า เพลงลูกทุ่งทุกวันนี้เป็นแค่เครื่องมือของบริษัทให้บริการโทรศัพท์ติดตามตัวและค่ายเทปเกือบจะสิ้นเชิงก็ว่าได้ ไล่เรียงดูสิ เพลงดังที่เปิดกันไม่หยุดหายใจทั้งในทีวี วิทยุทั้งส่วนกลาง ทั้งชุมชนน้อย ชุมชนปานกลาง หรือชุมชนใหญ่ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวความรักของคนหนุ่มสาวสองคนบนคลื่นมือถือ ที่บางครั้งก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หนุ่มสาวเหล่านี้คงลอยตัวอยู่กลางอากาศใช่ไหม รากเหง้าท้องทุ่งผักกะแยงแกงหน่อไม้ เป็นแค่การกล่าวอ้างเพื่อให้คงความเป็นลูกทุ่งแค่นั้นหรือเปล่า
นักแต่งบางคน บางกลุ่มก็บอกว่าก็นี่แหละคือยุคสมัย ถ้าไม่แต่งอย่างนี้จะมีใครฟังหรือ จะให้แต่งแบบอยู่ทุ่งดูดอกกะยอม ดอกจาน ดอกติ้ว อย่างเก่าแล้วมันจะขายเพลงได้หรือ ทีแรกผมก็คล้อยตาม เพราะคิดว่าวรรณกรรมก็ย่อมตอบสนอง หรือสะท้อนภาพสังคม แต่พอคิดดูดี ๆ มันไม่ใช่ มันแค่คำอ้างมากกว่า ศิลปะของบทเพลงลูกทุ่งหายไปไหนหมด มันไม่ใช่แค่เพลงโปรโมทแค่นั้นหรอกที่ต้องทำให้ดัง ให้เด่น ให้ขายได้ มันกลับรวมเอาเพลงอื่น ๆด้วยทั้งหมดอัลบั้ม ไม่เหลือพื้นที่ให้เพลงดีมีน้ำเนื้อแห่งงานศิลป์ เพราะมันพลอยถูกทำให้เด่น ให้ขายได้ ให้หลุดลอยไปจากรากเหง้าศิลปะบทเพลงไปด้วย เมื่อคิดกันเช่นนั้น ทำไมละ พฤติกรรมเลียนแบบกันนำเพลงผ่านสมัยที่เรียกกันว่า “อมตะลูกทุ่ง” กลับยังสะเออะปล้นบรรยากาศเพลงเดิมมารีมิกซ์กันขายเอาขายเอาตั้งไม่รู้กี่ล้านต่อกี่ล้าน อย่างนี้ยังจะบอกว่าเพลงดีมีศิลปะอยู่ไม่ได้อีกหรือแบบนี้ แล้วที่ว่าเพลงถ้าเนื้อหาตกสมัยแล้ว(ไม่ใช้มือถือเป็นสื่อเป็นจุดขาย)จะขายไม่ได้เห็นจะไม่จริง ใช่ไหม? ก็ “ไร่อ้อยคอยรัก” “รอรักใต้ต้นกระโดน” ..... เอามาอัดขายได้อย่างไร อยากรู้จัง อย่าคิดแค่ขายได้ไหม เพลงเอ๋ย คิดทำงานศิลปะสำหรับหูสู่สติปัญญาอีกสักยกจะดีไหม ท่านเอย
ศิลปะบทเพลงสำหรับฟังในทรรศนะของข้าน้อย หมายถึง เพลงเนื้อหาดีมีส่วนประกอบของเรื่องราว ฉากบรรยากาศ และความสมจริงทางเนื้อหาภาษาที่สอดร้อยกัน ที่สำคัญต้องสอดร้อยกับดนตรีที่ไม่ต้องมากชิ้นจนแน่นเอี๊ยด กระเดียดไปทางโอ้อวด เพลงดีจึงไม่ใช่แค่ขายคำเท่ เทขายสำนวนติดหู ผสมดนตรีพื้นบ้านกับสากลแบบลวกจิ้ม แบบชวนหลงใหลแต่ไร้รสนิยมทางปัญญาเทือกนั้น ไอ้นี่ไม่ได้ว่าใคร ว่าค่ายใด นะขอรับ
อันนี้คงต้องโทษโครงสร้างเพลงปัจจุบันด้วย ที่ตั้งโจทย์ตามผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากอย่าง คนทุ่งไกลถิ่นคิดถึงบ้านมุงานที่เมืองใหญ่ หรือพูดง่าย ๆก็บ้านนอกเข้ากรุงที่มีงานทำ หาเงินได้ พอที่จะเจียดซื้อซีดีเพลงได้ พอโครงสร้างเพลงเป็นเช่นว่า ตัวละครก็ถูกกำหนดให้อยู่แต่ในเมืองใหญ่ เป็นลูกจ้าง ขายแรงงาน นักแต่งจึงแข่งกันเค้น จับสั่นหาเรื่องราวมาเล่าอย่างบาง ๆ บอกแต่เพียงท้อให้สู้ต่อ เป็นแรงใจให้กัน เหนื่อยหนักก็กลับไปพักที่บ้าน(ทุ่ง) เห็นบ้านเกิดบ้านเก่าเป็นโรงแรม สถานที่ตากอากาศไปแต่เมื่อไหร่หนอ คนบ้านเฮาหนอ
เพลงอย่างว่า คงยังเป็นกระบอกเสียงของคนทุ่งคนนาจริงหรือหลอกกันแน่แล้ว พี่น้องเอย
โครงสร้างเพลงคนทุ่ง อยู่ทุ่ง รักทุ่ง สร้างสรรค์บ้านทุ่ง วอนคนเข้ากรุง เข้าเมืองให้มาช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมืองอย่างเก่า ไม่มีใครสืบสานต่อแล้วกระมัง เห็นมีก็เพลงศร สินชัย “ไอ้หนุ่มชุมชน” “หัวหน้าผู้บ่าวแนว” นั่นและที่นับว่าพอหลงเหลืออยู่ หรืออย่าง “จดหมายถึงอ้อย” ที่พรศักดิ์ร้องบอกเรื่องราวบ่าวอุบลคนเก่ารอสาวอ้อยคืนบ้าน ที่เพิ่งบันทึก(ไม่รู้เป็นครั้งแรกหรือเปล่า) และอัดมาขายเมื่อปี สองพันห้าร้อยสี่สิบกว่า ๆนี้ ก็ยังน่าฟังอยู่ โครงสร้างเพลงคนอยู่ทุ่งแบบนี้ไม่น่าจะล้าสมัย หรือตกยุค หรือแม้แต่เพลงบรรยายฉากงาม ๆ ของท้องนาป่าละเมาะก็คงคู่สมัยได้กระมัง เพลงทุ่งงาม ๆแบบนี้แม้จะขายยากอย่างที่เขาว่า แต่ข้าน้อยว่า มันจะสื่ออะไรที่เงินมากแค่ไหนก็ซื้อสื่อไม่ได้ได้เป็นอย่างดี และเป็นเพลงของคนทุ่ง ๆ จริง ๆ ที่ควรค่าแก่การสดับอย่างแท้จริง
ทีแย่ไปกว่านั้นก็คือเพลงที่เน้น “ทางเลือก” ประเภท “ผิดลูก ผิดผัว ผิดเมีย” แบบไร้ศิลปะ เป็นแบบดิบ เถื่อน (ไร้ที่มาที่ไป หาเหตุที่จะสนับสนุนไม่ไหว เน้นหนุกหนานสถานเดียว) เน้นแปลก เพื่อปรนเปรอรสนิยมหยาบร้าย ทำลายครรลองปู่ย่าตายาย ฟังแล้วเสียดายหู เสียดายพลังงานโลกฉิบ!
โอ้... ข้าน้อย เริ่มด้วยผักกะแยง “มาส่าง” เลยทุ่งเลยท่าไปไกลป่านนั้น เอ้า! กลับมาว่าเพลงว่าเรื่องผักเรื่องหญ้ากันต่อดีกว่า
หากมองอีกแบบ “ผักกะแยง” ก็ดี “ดอกมันปา” หรือพืชพรรณแห่งท้องทุ่งอื่น ๆ ก็ดี ต่างก็คือสัญลักษณ์แห่งการมีชีวิตอยู่ของคนทุ่งที่เป็นลูกเป็นหลาน เป็นเชื้อเป็นแนวของธรรมชาติ อยู่ได้ เจริญได้ ดำรงเผ่าพันธุ์ได้ก็ด้วยธรรมชาติเลี้ยงดูอุ้มชูมา แม่นบ่ คนเก่าคนแก่จึงมีพิธีกรรม ขอขมาธรรมชาติก่อนลงมือทำอะไร เช่นจะลงนาก็ต้องบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางนางน้อยธรณี ต้องแฮกนาขวัญ ต้องเลี้ยงปู่ตาก่อน หรือทำอะไรเสร็จก็ต้องขอบพระคุณ เช่น ทำบุญกุ้มข้าว บุญข้าวจี่ เป็นต้นวิถีทุ่ง เพลงลูกทุ่งอย่างแต่ก่อน จึงมีมาเพื่อรับใช้ปรัชญาดังกล่าว ปัญหาโลกร้อนที่กำลังประโคมข่าวไม่เว้นวรรคเว้นวันนี้ น่าจะได้รับการเยียวยาได้อย่างไม่ต้องทุ่มงบโฆษณาเลย หากการ “สืบฮอยตาวาฮอยปู่” แบบวิถีรักกันจริงเอื้ออิงธรรมชาติ ยังคงดำรงต่อเนื่องมาได้ แต่เมื่อมันขาดท่อนขาดตอนไปแล้ว คนแอบอิงวัตถุเงินคำกำแก้ว(เลือดย้อยเป็นทางเข้าธนาคาร/เข้าร้านทอง/ร้านบัตรเครดิตกันเป็นกิจวัตร) คนจะรักกันจึงต้องพึ่งรถ พึ่งเสียงผ่านคลื่นนักธุรกิจหัวใสเหลื่อมกันเกือบหมดบ้านเต็มเมือง นัยว่าจำเป๊น จำเป็นขนาดเด้อเจ้าข้าเอย
มากกว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวแล้ว ก็อาจมองได้ว่า “ผักกะแยง” คือตัวแทนความจริงที่เกิดจากดิน จากความฮักหอมของแม่พระธรณี ไม่มีพิษมีภัย เป็นผู้ให้ในครรลองศีลธรรม นำแสงทองส่องนำทางมวลชีวิต ต่างจากวัตถุจัดตั้งที่ยกค่าเกินจริงเกินตัว ด้วยมือนักการตลาดที่ขาดราก (เพราะไม่ได้เป็นคนทุ่งโดยกำเนิด/ไม่รู้จักผักกะแยงอย่างแท้จริง) ที่น่ากลัวไปกว่านั้นก็คือ ธุรกิจที่เห็นแก่ผลกำไร(เพียงแค่เงิน/ตำแหน่งการงาน/อำนาจการเมือง...)
แต่อย่างว่านั่นแหละ คนทำเพลงก็หารายได้เลี้ยงปากท้อง บางทีเป็น “บักหอยลอยตามคราด” อาจอยู่ได้ยาวกว่า ไอ้เรื่องอุดมคติบ้าบอที่ข้าน้อยบ่นไป มันคงไม่สลักสำคัญแต่อย่างใดดอกท่านเอย
ก็ไม่รู้จะบ่นไปทำไม โลกก็เป็นอย่างนี้ เพลงมันจะดี จะเลว จะเด่นดังอย่างไร มันก็แค่เพลง แค่สื่อบันเทิง ไม่ใช่สารคดีวิชาการปรัชญาสักหน่อย ก็คนมันติดกันแล้ว จะให้เลิกให้ละ คงยาก อยากฟังเพลงดี ๆ ก็คงต้องไปหยิบใบลานมาอ่านนิทานทำนองแหล่บุญเผวส ท่อนั่นแหล่ว....