โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูใดฤดูหนึ่ง จากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (SAD)
โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder : SAD) เป็นโรคซึมเศร้าชนิดหนึ่ง มีอาการคล้ายโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูใดฤดูหนึ่งเท่านั้น และอาการจะดีขึ้นเมื่อฤดูนั้นผ่านพ้นไป
โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว บางครั้งจึงเรียกโรคนี้ว่า โรคซึมเศร้าในฤดูหนาว (Winter Depression) จะเกิดขึ้นและหายไปในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี มีอาการในฤดูหนาว และค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อถึงฤดูร้อน มักพบในต่างประเทศเขตหนาวมากกว่า เพราะประเทศไทยระยะเวลาของฤดูหนาวค่อนข้างสั้น และระยะเวลาของกลางวันกับกลางคืนใกล้เคียงกันตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลไม่ได้เกิดเฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น ยังสามารถเกิดในฤดูร้อน ฤดูฝนได้ด้วย
โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล เกิดจากอะไร ? เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง ?
1.การขาดแสงแดดในฤดูหนาว เป็นช่วงที่มีระยะเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน ร่างกายสัมผัสแสงแดดได้น้อยลง อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของนาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) ดังนี้
- ผลิตสารเมลาโทนิน (Melatonin) เพิ่มขึ้น เป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมวงจรการนอนหลับและการตื่น ในผู้ที่มีอาการซึมเศร้า การที่ร่างกายมีระดับเมลาโทนินสูงขึ้นอาจส่งผลให้อาการซึมเศร้าแย่ลงได้
- ผลิตเซโรโทนิน (Serotonin) น้อยลง เนื่องจากแสงแดดมีส่วนช่วยในการสังเคราะห์เซโรโทนิน โดยการที่ร่างกายมีระดับเซโรโทนินลดลงจะส่งผลให้นอนไม่หลับ เกิดความเครียด วิตกกังวล หรือ อยากอาหารเพิ่มขึ้น
2.พันธุกรรม ในครอบครัวมีประวัติผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลมากกว่าคนทั่วไป
3.ปัจจัยทางร่างกาย บางครั้งโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลอาจเกิดจากสารสื่อประสาท หรือ สารเคมีในสมองเสียสมดุล ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า แม้ว่าจะไม่มีความเครียดใดเลยก็ตาม
4.ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว อาจมีอาการแย่ลงในบางฤดูกาลได้
5.พบในเพศหญิงมากกว่าเพศผู้ชาย และ อยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นวัยที่พบได้มากกว่าช่วงวัยอื่น
อาการของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลคล้ายกับโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลใดฤดูกาลหนึ่ง
- รู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า เกือบทุกวัน หรือ ทุกวัน ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- ไม่มีความสุข หรือ ไม่สนใจทำกิจกรรมที่เคยชอบทำ
- หงุดหงิด สิ้นหวัง รู้สึกผิด รู้สึกไร้ค่า
- เซื่องซึม อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ง่วงนอนในระหว่างวัน
- มีปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น นอนหลับนานกว่าปกติ หรือ ตื่นนอนในตอนเช้ายากกว่าปกติ
- มีการเปลี่ยนแปลงด้านความอยากอาหาร รวมถึงน้ำหนักตัว
- บางครั้งเฉื่อยชา บางครั้งกระสับกระส่าย
- มีความคิดที่จะตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย
อาการที่พบบ่อยของโรคซึมเศร้าในฤดูหนาว
- นอนหลับมากกว่าปกติ
- อยากรับประทานคาร์โบไฮเดรต หรือ ของหวานมากขึ้น
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
อาการที่พบบ่อยของโรคซึมเศร้าในฤดูร้อน
- นอนไม่หลับ
- รู้สึกไม่อยากอาหาร
- น้ำหนักลดลง
- เกิดความวิตกกังวล
การป้องกันโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล
แม้จะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคได้
- หมั่นไปรับแสงแดดยามเช้าเป็นเวลา 30-60 นาที เพิ่มการหลั่งเซโรโทนิน ช่วยให้รู้สึกสดชื่น กะปรี้กะเปร่า
- กินอาหารที่มีทริปโตเฟน (Tryptophan) สารตั้งต้นของเซโรโทนิน มีส่วนช่วยในการนอนหลับ ลดอาการซึมเศร้า บรรเทาอาการไมเกรน ความเครียด เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ นม อาหารทะเล งา เมล็ดทานตะวัน ข้าวโอ๊ต ช็อกโกแล็ต อินทผลัมแห้ง กล้วย สาหร่าย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะเพิ่มระดับเซโรโทนินในร่างกาย เพิ่มระดับทริปโตเฟน ให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติ
- บำบัดความเครียดเป็นประจำ โดยการทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น การดูหนัง ฟังเพลง หรือเข้ารับคำปรึกษากับจิตแพทย์