เรอบ่อย อาจส่งสัญญาณเตือนของความผิดปกติในร่างกาย
อาการเรอ (Belching) ปฏิกิริยาอัตโนมัติของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อมีลม หรือ กลุ่มแก๊ส ในกระเพาะอาหารที่มากเกิน ลม หรือ กลุ่มแก๊สนั้นจะถูกขับออกมาจากกระเพาะอาหาร ย้อนกลับไปยังทางเดินอาหาร อันประกอบด้วยหลอดอาหารส่วนปลาย หลอดอาหารส่วนต้น อาจมีแค่เสียง หรือ เรอออกมาพร้อมกลิ่นอาหาร
สาเหตุของอาการเรอ
- กลืนลม หรือ อากาศเข้าไป เช่น กินอาหาร หรือ ดื่มเครื่องดื่มเร็วเกินไป พูดคุยระหว่างมื้ออาหาร
- การสูบบุหรี่
- กินอาหาร หรือ เครื่องดื่ม ที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น อาหารที่มีไขมัน และ คาร์โบรไฮเดรทสูง ยีสต์ ถั่วชนิดต่าง ๆ น้ำอัดลม แอลกอฮอล์
- หากใช้ยาบางชนิดในปริมาณมาก อาจส่งผลให้กระเพาะอาหารเกิดการอักเสบ ทำให้เรอบ่อย เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยาระบาย ยาแก้ปวด
- ความเครียด ภาวะความกดดันสูง ความวิตกกังวล
ลักษณะอาการเรอที่ส่งสัญญาณเตือนของความผิดปกติในร่างกาย
1.อาการเรอบ่อย อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคระบบทางเดินอาหารบางชนิด โดยเฉพาะเรอเปรี้ยว ขมปาก มีอาการแสบร้อนกลางอก จุกแน่นลิ้นปี่ อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคกระเพาะ โรคตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยอาหาร โรคกรดไหลย้อนที่เกิดได้กับทุกช่วงวัย และ กลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักมาก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ดื่มสุรา หรือ สูบบุหรี่เป็นประจำ
2.อาการเรอบ่อยจนอาเจียนกระทันหัน อาจเกิดความผิดปกติของลำไส้ หรือ ทางเดินอาหาร สัญญาณเตือนของโรคลำไส้อักเสบ ติดเชื้อในลำไส้ หรือ อาจมีก้อนเนื้อในลำไส้
3.อาการเรอบ่อยจนจุกที่คอ เป็นอีกกลุ่มอาการเรอที่อันตรายหากเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นในผู้สูงอายุเพราะจะทำให้เกิดการสำลักอาหารตามมาได้
4.อาการเรอบ่อยเพราะโรคมะเร็ง เนื่องมาจากการรับยาเคมีบำบัดทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป เป็นผลข้างเคียงจากการรักษาที่แพทย์ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
5.ท้องอืด ท้องบวม เกิดจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะเกินไป อาจเป็นสัญญาณว่าเกิดการระคายเคืองภายในลำไส้ หรือ ท้องอืดจากการแพ้นมวัว
6.เรอพร้อมกับเจ็บร้าวบริเวณหน้าท้องหรือซี่โครง สัญญาณของอาการไส้เลื่อนกระบังลม
7.นอกจากการเรอ อาจผายลมบ่อยแทน และ ผายลมมากกว่าปกติ ท้องเสียบ่อย อาจเป็นอาการของโรคลำไส้แปรปรวน หรือ ไอบีเอส (IBS – Irritable Bowel Syndrome)
วิธีลดอาการเรอบ่อย
1.ปรับการกินอาหารให้ช้าลง ค่อย ๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่รีบกลืนในขณะที่ชิ้นเนื้อ หรือ อาหารยังไม่ถูกย่อย ไม่กินข้าวคำน้ำคำ กินอาหารให้เป็นเวลา
2.ไม่รับประทานอาหารในขณะที่กำลังพูดคุย เพราะจะทำให้ลมเข้ากระเพาะอาหารเยอะ เกิดการเรอได้
3.ลดการดื่มน้ำอัดลม และ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
4.ในผู้ที่แพ้นมวัวไม่กินอาหารที่ทำจากนม หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
5.กินอาหารให้พอเหมาะพอดี
6.ดูแลใส่ใจเพิ่มเติมความสุขให้ตัวเองเสมอ เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เล่นเกม เดินเล่น เพื่อผ่อนคลายความเครียด
7.ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่
8.งดเว้นการนอนทันทีหลังการกินอาหาร การทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง การออกกำลังกายอย่างหนักก็เป็นหนึ่งในการแก้อาการเหม็นเปรี้ยวเมื่อเรอได้
9.รักษาโรคที่เกิดในระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะ โรคกรดไหลย้อย ล้วนเป็นปัจจัยของกลิ่นเปรี้ยวที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการรักษาโรคดังกล่าวเป็นวิธีแก้เรอแล้วมีกลิ่นเปรี้ยวตามมา