อาหารแห่งอนาคต (Future Food) นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ เทรนด์เขย่าวงการอาหาร ที่ผู้บริโภคต้องร้องว้าว !
อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เป็นกลุ่มอาหารที่สามารถผลิตได้รวดเร็ว รับประทานได้สะดวก ลดทอนการฆ่าสัตว์ มีประโยชน์ ปลอดภัยต่อสุขภาพ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เก็บรักษาได้นาน เป็นกลุ่มอาหารที่สามารถเพิ่มสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัยต่อสุขภาพ ตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความยั่งยืน และตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้คนในโลกยุคใหม่
อาหารแห่งอนาคต แบ่งออกได้ดังนี้
1.อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food)
อาหารที่เพิ่มเติมส่วนผสมใหม่ เน้นการดูแลสุขภาพ เพิ่มความสามารถของกลไกการป้องกันโรค ฟื้นฟูของร่างกาย ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ชะลอการเสื่อมของอวัยวะ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- กลุ่มอาหารที่มีการแต่งเติมสารอาหาร หรือลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อย เพื่อให้มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถบริโภคเป็นอาหารประจำวัน โดยไม่มีข้อจำกัดเหมือนยา (ไม่อยู่ในรูปแคปซูล หรือ ผง) อย่างเช่น อาหาร และเครื่องดื่มที่เสริมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ โพรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ เส้นใยอาหาร โอเมก้า-3 อย่างเช่น นมผงผสมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารก ไข่ไก่เสริมโอเมก้า-3
- กลุ่มอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ส่งผลดีต่อร่างกาย อย่างเช่น ชา ถั่วเหลือง กระเทียม มะเขือเทศ โยเกิร์ต โดยไม่ได้เพิ่ม หรือลดสารอาหารอื่น ๆ
2.อาหารใหม่ (Novel Food)
- Novel food (Plant based) กลุ่มโปรตีนจากพืช และวัตถุดิบจากพืชที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ที่ผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยการใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี โดยวัตถุที่ใช้เป็นอาหารและปรากฎหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี ในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ อย่างเช่น โปรตีนจากพืช เนื้อจากพืช นมจากพืช
- Novel food (Insect Protein) กลุ่มโปรตีนจากแมลง และวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ที่ผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยนวัตกรรม และปรากฎหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี ในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ
- Novel food (Cultured Meat) กลุ่มเนื้อสัตว์ที่มาจากกระบวนการเลียนแบบ ด้วยการสร้างเซลล์ และเนื้อเยื่อ ด้วยเทคโนโลยี “Stem cell” วิศวกรรมชีวภาพ และ วัสดุชีวภาพ เพื่อขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร
3.อาหารทางการแพทย์ (Medical Food)
กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา หรืออาหารเสริม ที่มีโภชนาการที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล หรือผู้ป่วยที่ต้องรักษาโรคเป็นการเฉพาะ ภายใต้การควบคุมของแพทย์ อย่างเช่น โรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วย ให้ได้รับสารอาหารที่ถูกต้อง และเหมาะสมต่อโรค รูปแบบกิน หรือดื่ม แทนอาหารหลักบางมื้อ หรือให้ทางสายยาง อย่างเช่น เจลลี่ นมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน นมผงเพิ่มกรดอะมิโน
4.อาหารอินทรีย์ (Organic Food)
ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ผลิต หรือแปรรูป โดยไม่ใช้สารเคมี และไม่ตัดแต่งพันธุกรรม ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยที่มาจากกากของระบบบำบัดน้ำเสีย ตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ตระหนักถึงคุณภาพ และความปลอดภัยของอาหาร ตลอดจนวัตถุดิบและส่วนผสม อย่างเช่น ข้าวกล้องอินทรีย์ ผลไม้อินทรีย์ มะพร้าวอบแห้ง ผงผักโขม ผักปลอดสารพิษ เนื้อสุกรที่เลี้ยงด้วยวีถีธรรมชาติ นมพาสเจอร์ไรซ์ออร์แกนิก