ภาษีนำเข้า คืออะไร อยากซื้อสินค้าแบบปลอดภาษีจะต้องทำอย่างไร
ภาษีนำเข้า เปรียบเสมือนค่าธรรมเนียมที่รัฐบาลเก็บจากผู้ที่นำสินค้าเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะมีการกำหนดอัตราอากรขาเข้าและรายการสินค้าที่ปลอดภาษีไว้ จึงต้องศึกษาให้ดี
เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศถึงมีราคาสูง หรือทำไมสินค้าบางชนิดถึงหายากในตลาดประเทศไทย ซึ่งคำตอบที่ซ่อนอยู่ นั่นคือ ภาษีนำเข้าที่ต้องจ่ายทุกครั้งที่นำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศ แล้วภาษีนำเข้า คืออะไร? มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างไร? ภาษีนำเข้า คิดยังไง? มีเทคนิคใดบ้างที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษี และทำให้การนำเข้าสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่น
มาทำความรู้จักว่า ภาษีนำเข้า คืออะไร
ภาษีนำเข้า คือ ค่าธรรมเนียมที่รัฐบาลเรียกเก็บจากผู้ที่นำสินค้าเข้ามาในประเทศ โดยผ่านพิธีการศุลกากร ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าทางเรือ ทางบก หรือทางอากาศก็ตาม โดยมีความสำคัญและส่งผลกระทบในภาพรวมหลายประการ ได้แก่
- สร้างรายได้ให้รัฐ เนื่องจากเงินที่ได้จากภาษีนำเข้าจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น สร้างถนน สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล หรือใช้ในการบริการสาธารณะอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน
- เป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพราะการเก็บภาษีนำเข้าจะทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศมีราคาที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและสร้างงานให้กับคนในชาติ
- รัฐบาลสามารถใช้ภาษีนำเข้าในการควบคุมปริมาณการนำเข้าสินค้าบางชนิด เพื่อป้องกันผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น ในกรณีที่สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันในตลาดมากเกินไป อาจทำให้ผู้ผลิตในประเทศได้รับผลกระทบและต้องปิดกิจการได้
- ในบางกรณี ภาษีนำเข้าอาจถูกใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่มีคุณภาพต่ำหรือสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยการเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้นเพื่อลดการนำเข้าสินค้าประเภทนั้น ๆ
สินค้าประเภทใดต้องเสียภาษีนำเข้า โดยมีอัตราอากรขาเข้าเท่าไหร่
สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทุกชนิดจะต้องเสียภาษีนำเข้า ทั้งนี้ อัตราภาษีนำเข้าจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า ประเทศต้นทาง และนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น ยกตัวอย่างสินค้าที่ต้องเสียภาษีนำเข้าและอัตราภาษีนำเข้าโดยประมาณ เช่น
- เครื่องแต่งกาย เช่น หมวก รองเท้า เครื่องสำอาง น้ำหอม ร่ม ผ้าห่ม มีอัตราภาษีนำเข้า 20 - 30%
- กระเป๋า มีอัตราภาษีนำเข้า 20%
- อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ซีดี ดีวีดี เพาเวอร์แบงค์ หูฟังทุกประเภท อัลบั้มเพลง อัลบั้มคอนเสิร์ต ตุ๊กตา มีอัตราภาษีนำเข้า 10%
- แว่นกัดแดด แว่นตา นาฬิกา มีอัตราภาษีนำเข้า 5%
- กลุ่ม Photobook, นิตยสาร คีย์บอร์ด เมาส์คอมพิวเตอร์ ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่ยังคงต้องจ่าย VAT 7% เช่นเดิม
- รถยนต์ มีอัตราภาษีนำเข้า 30 - 80% ขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของรถยนต์
- อาหาร จะมีอัตราภาษีนำเข้าแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร เช่น อาหารแปรรูป อาหารสด
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าบางรายการที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า รวมถึงได้รับการยกเว้นด้วย เช่น
- สินค้าที่ใช้เพื่อการกุศล เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่บริจาคให้โรงพยาบาล
- สินค้าที่ใช้ในการวิจัย เช่น อุปกรณ์วิทยาศาสตร์
- สินค้าที่นำเข้าเพื่อการผลิต เช่น วัตถุดิบที่นำเข้ามาเพื่อผลิตสินค้าส่งออก
- สินค้าทั่วไปที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท
- ของใช้ส่วนตัวที่นำมาจากต่างประเทศ มูลค่ารวมต่ำกว่า 10,000 บาท
- สินค้าปลอดภาษี (Duty Free) มูลค่ารวมต่ำกว่า 20,000 บาท
- บุหรี่ต่ำกว่า 200 มวน หรือ ยาสูบน้ำหนักน้อยกว่า 250 กรัม
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีปริมาณน้อยกว่า 1 ลิตร
วิธีการคำนวณภาษีนำเข้า ควรทำอย่างไร
แล้วภาษีนำเข้า คิดยังไง โดยจะคำนวณภาษีนำเข้าด้วยสูตร CIF ซึ่ง CIF ย่อมาจาก Cost, Insurance, and Freight หมายถึง มูลค่ารวมของสินค้า ค่าประกัน และค่าขนส่งที่ผู้ส่งสินค้าชำระจนถึงท่าเรือปลายทางในประเทศนำเข้า เป็นฐานที่ใช้ในการคำนวณภาษีนำเข้า โดยมีสูตรคำนวณภาษีนำเข้า คือ
- หาค่า CIF จาก CIF = ราคาสินค้า (Cost) + ค่าประกัน (Insurance) + ค่าขนส่ง (Freight)
- คำนวณอากรขาเข้า จาก อากรขาเข้า = CIF x อัตราอากรขาเข้า (%)
- คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก VAT = (CIF + อากรขาเข้า) x อัตรา VAT (%) โดยปกติในประเทศไทยคือ 7%
- คำนวณภาษีนำเข้าทั้งหมด จาก ภาษีนำเข้าทั้งหมด = อากรขาเข้า + VAT
ตัวอย่างการคิดภาษีนำเข้า เช่น นำเข้าสินค้าจากประเทศจีน มูลค่าสินค้า (Cost) 100,000 บาท ค่าประกัน (Insurance) 1,000 บาท ค่าขนส่ง (Freight) 5,000 บาท อัตราอากรขาเข้าของสินค้าชนิดนี้ คือ 20% และอัตรา VAT คือ 7%
- หาค่า CIF จาก CIF = 100,000 + 1,000 + 5,000 = 106,000 บาท
- คำนวณอากรขาเข้า จาก อากรขาเข้า = 106,000 x 20% = 21,200 บาท
- คำนวณ VAT จาก VAT = (106,000 + 21,200) x 7% = 8,894 บาท
- คำนวณภาษีนำเข้าทั้งหมด จาก ภาษีนำเข้าทั้งหมด = 21,200 + 8,894 = 30,094 บาท
ดังนั้น ภาษีนำเข้าทั้งหมดที่ต้องชำระสำหรับสินค้านี้ คือ 30,094 บาท แต่ทั้งนี้ อัตราภาษีนำเข้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของรัฐบาล ควรตรวจสอบอัตราภาษีที่ถูกต้องกับกรมศุลกากรก่อนทำการนำเข้า
แนะนำเทคนิคการนำเข้าสินค้าให้เสียภาษีนำเข้าน้อยที่สุด
การนำเข้าสินค้าโดยไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยที่สุดเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลายท่านต้องการ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การนำเข้าสินค้าโดยไม่เสียภาษีเลยนั้นเป็นไปได้ยาก และอาจมีความเสี่ยงทางกฎหมาย หากกระทำผิดกฎหมายศุลกากร อย่างไรก็ตาม มีเทคนิคบางประการที่สามารถช่วยลดภาระภาษีในการนำเข้าได้ ดังนี้
- ให้ส่งสินค้าผ่านไปรษณีย์แบบลงทะเบียน เพราะในแต่ละวัน จะมีการนำเข้าด้วยรูปแบบนี้ค่อนข้างมาก กรมศุลกากรจึงอาจจะตรวจได้ไม่เข้มงวดนัก อีกทั้งยังมีค่าส่งถูกกว่าอีกด้วย แต่อาจจะเวลาในการรอของค่อนข้างนาน
- ระบุว่า สินค้าชิ้นนั้น เป็นของฝากหรือของขวัญ (Gift) แต่จะต้องมีขนาดไม่ใหญ่และน้ำหนักไม่มากจนเกินไป
- ระบุว่า No Commercial Value เพื่อแจ้งว่า สินค้าชิ้นนี้ ไม่ได้นำเข้ามาเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์
- ให้แยกสินค้าออกเป็นหมวดหมู่ชัดเจน ก่อนจะรวมใส่กล่องใหญ่ทีเดียว เพราะจะไม่ทำให้กรมศุลกากรเหมารวมแล้วต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราที่เท่ากันหมด
- สั่งสินค้าให้มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งจะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจ่ายภาษีอากรขาเข้า
- สั่งสินค้าผ่านบริการ Shipping หรือที่เรียกว่า ตัวแทนออกของ ที่จะเข้ามาดูแลส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะ เพียงแค่ชำระค่าขนส่งและรอรับของเท่านั้น
สรุปเกี่ยวกับภาษีนำเข้า
ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาษีนำเข้าให้ละเอียด ว่า สินค้าที่ต้องการนำเข้านั้น จะต้องเสียภาษีนำเข้าและมีอัตราภาษีนำเข้าเท่าใด โดยสามารถคำนวณได้จากสูตร CIF เพื่อรวบรวมข้อมูลมาวางแผนและตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง