จากการปล้นครั้งใหญ่ในสวีเดน ทำให้เกิด สตอกโฮล์ม ซินโดรม ที่ตัวประกันหลงรักคนร้าย
เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักโรค สตอกโฮล์ม ซินโดรม กันมาบ้าง ว่ามันคืออาการของคนที่ตกเป็นตัวประกัน แต่กลับมีความรู้สึกดีกับคนร้ายหลังจากใช้เวลาด้วยกันระยะหนึ่ง บ้างก็ถึงกับหลงรักคนร้ายก็มี ที่มาของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1973 แยน-เอริก โอลส์ซัน นักโทษแหกคุกได้เข้าไปในธนาคาร Sveriges Kreditbanken ในย่านนอร์มัล์มสตอร์ย พร้อมด้วยอาวุธครบมือ เขากราดยิงปืนกลมือขึ้นบนเพดานก่อนที่จะจับพนักงานธนาคาร 4 คนเป็นตัวประกัน โอลส์ซัน ได้เรียกร้องเงิน 3 ล้านโครนสวีเดน กับทางตำรวจ รวมถึงให้ปล่อยตัว คลาร์ก โอลอฟซัน เพื่อนร่วมห้องขังของเขาให้มาที่ธนาคาร รวมถึงขอรถเพื่อหลบหนี ในช่วงเวลานั้นเอง ตัวประกันทั้งหมดถูกขังอยู่ในห้องนิรภัยของธนาคาร แถมยังได้รับการปฏิบัติที่ดีมากจากคนร้าย แม้จะฟังดูแปลก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนร้ายกับตัวประกันกลับกลายเป็นแง่บวก แถมทุกคนยังรู้สึกว่าถูกตำรวจคุกคามมากกว่าคนร้ายอีกด้วย มีอยู่ช่วงหนึ่ง ตัวประกันคนหนึ่งได้โทรหานายกรัฐมนตรีของสวีเดน เพื่อขอร้องให้คนร้ายทั้งสองพาเธอไปกับพวกเขาด้วย ในที่สุด หลังจากผ่านไป 5 วัน ตำรวจได้ปล่อยแก๊สน้ำตาเข้าไปในห้องนิรภัย จึงทำให้คนร้ายทั้ง 2 ต้องยอมมอบตัว ตำรวจเรียกได้ตัวประกันทั้ง 4 คน หนีออกมาก่อน แต่ทั้งหมดกลับปฏิเสธ แถมยังเข้าไปปกป้องคนร้าย โดยขอให้ตำรวจไม่ทำร้ายพวกเขา ที่ทางเข้าห้องนิรภัย คนร้ายกับตัวประกันโอบกอดและจูบลากันก่อนจะแยกย้ายกันไป แม้ว่าโอลส์ซันและโอลอฟซันจะถูกนำตัวกลับเข้าเรือนจำ แต่ตัวประกันก็ยังคงมาเยี่ยมพวกเขา โอลอฟซันถูกตัดสินให้พ้นข้อกล่าวหา ส่วนโอลส์ซันถูกตัดสินให้จำคุก 10 ปี จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในปี 1980 จริงๆแล้ว ในช่วงที่ติดคุก โอลส์ซันได้กลายเป็นคนดังแถมยังมีแฟนคลับคอยส่งจดหมายหาเขาในเรือนจำอีกเป็นจำนวนมาก หลังจากเขาออกมาก็ได้แต่งงานกับหนึ่งในแฟนคลับที่ส่งจดหมายหาเขา ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทยในปี 2009 และตีพิมพ์อัตชีวประวัติของเขาที่มีชื่อว่า Stockholms-syndromet