ปรับเปลี่ยนชีวิต ด้วยวิถี Slow Living ชีวิตแช่มช้า ที่เรียบง่าย
ปัจจุบันคนเราเป็น โรคทนรอไม่ได้ หรือโรคความเร่งรีบ (Hurry sickness syndrome) จนรู้สึกหายใจหอบ หัวใจเต้นเร็ว แขนขาหมดแรง ไม่ค่อยมีแรง ใจหวิว ๆ แล้วโรคต่าง ๆ ก็ตามมา ความเร็วไม่ใช่ไม่ดี แต่ปัจจุบันนี้เป็นความเร็วที่สับสน การปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวิตอย่างแช่มช้า Slow Living คือ การทำให้คลื่นสมองช้าลง มีงานวิจัยพบว่าคลื่นสมองที่ช้าลงมีประโยชน์ ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมากขึ้น
วิถีชีวิตแช่มช้า Slow Living
1.ตื่นให้เร็วขึ้น แต่หายใจให้ช้า ตื่นเช้าขึ้นกว่าเดิม แล้วค่อย ๆ ล้างหน้า แปรงฟัง อาบน้ำ และถ้าใครไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางไปทำงานนานนัก อาจไปตักบาตร หรือรดน้ำต้นไม้ สำรวจว่าต้นไม้แต่ละต้นไม้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง อย่าลืมสูดอากาศยามเช้าให้เต็มปอด เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ เพียงเท่านี้ก็สามารถเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสุขใจ และไม่เร่งรีบ หายใจให้ช้าลง โดยอยู่กับลมหายใจให้เต็มทั้งเข้าและออก พยายามไม่ให้มีจุดบอดในลมหายใจ ภาวนาอย่างมีสติ
2.ปฏิบัติการเพื่อความเงียบ ลองหามุมเงียบ ๆ ให้ใจได้พักบ้าง สักสัปดาห์ละครั้งก็ยังดี เพียงแค่อยู่กับตัวเองเงียบ ๆ สักวัน ปิดโทรศัพท์มือถือ เลิกดูโทรทัศน์ ไม่ฟังวิทยุ งดใช้งานอินเทอร์เน็ต และการแชตชั่วคราว หันกลับมาฟังเสียงธรรมชาติดูบ้าง การอยู่เงียบ ๆ คนเดียว ทำให้ได้ยินเสียงลมหายใจเข้า-ออก และเสียงของหัวใจตัวเองชัดเจนขึ้น อย่ากลัวที่จะปิดโทรศัพท์มือถือในช่วงวันหยุด เพื่อให้กาย และใจได้พักผ่อนอย่างแท้จริง หลังจากทำงานอย่างหนัก
3.ทำงานช้าลง การทำงานด้วยความรอบคอบ และมีสติ แต่ได้ผลเต็มร้อย ทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพ
เทคนิคง่าย ๆ ของการทำงานให้ช้าลง แต่ได้ผลเต็มร้อย
- ทำให้คลื่นสมองช้าลง ลองผ่อนคลายด้วยการนั่งหลับตา ผ่อนคลายใบหน้า วางมือ และเท้าในท่าที่สบาย จินตนาการถึงภาพที่สวยงาม เพื่อให้คลื่นสมองทำงานช้าลง รู้สึกเบาสบาย และสามารถคิดสร้างสรรค์งานได้ดีขึ้น
- รอบคอบ แต่ไม่คิดมาก หัวใจของการทำงานแบบเชื่องช้า คือ การคิด และ ทำอย่างรอบคอบ แต่ไม่ใช่การคิดมาก เพราะการคิดมากจะทำให้กลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ โดยไม่ได้พบทางออกของปัญหา
- ใส่ใจกับปัจจุบัน ฝึกตัวเองไม่ให้กังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เลิกวิตกกับกำหนดเวลา มีสมาธิอยู่กับปัจจุบันอย่างผ่อนคลาย
- รับมือกับความเครียดด้วยสติ ด้วยการเตือนตัวเอง ให้ค่อย ๆ คิดทบทวนอย่างช้า ๆ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา วิธีนี้จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และสามารถหาทางแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ถูกต้องตรงจุดยิ่งขึ้น
4.รักษ์โลก และร่างกาย ด้วย Slow Food ไม่เพียงการปฏิเสธอาหาร fast food เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ความสำคัญกับศิลปะในการปรุงอาหาร การทำอาหารกินเอง สามารถเลือกวัตถุดิบที่ชอบ และมีคุณภาพเองได้ ตั้งแต่การเตรียมส่วนผสม การคัดสรรวัตถุดิบ การปรุงอาหารแต่ละจานด้วยความใส่ใจ ไปจนถึงการค่อย ๆ เคี้ยวอาหารแต่ละคำ เพื่อให้ได้รับรสของอาหารอย่างแท้จริง
เทคนิคการบริโภคแบบ slow food
- ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อให้ได้ของสดใหม่ รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่ง
- กินตามฤดูกาล เพื่อลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ย และสารเคมีในการเร่งดอกออกผล
- สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ แบบไม่ใช้สารเคมี
- ปรุงด้วยการนึ่ง ต้ม ตุ๋น แทนการผัด และทอดที่อุณหภูมิสูง เพื่อรักษาคุณค่าของสารอาหาร และลดการปล่อยความร้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม
- เคี้ยวอย่างเชื่องช้า เพื่อช่วยระบบการย่อมอาหาร และทำให้ได้สัมผัสถึงรสชาติของอาหารอย่างแท้จริง
5.ชีวิต Slow Shopping การสนับสนุนสินค้าในท้องถิ่น สินค้าแฮนด์เมดที่ต้องใช้เวลาในการผลิต รวมทั้งการซื้อผัก ผลไม้ตามฤดูกาล เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ และได้รับประทานอาหารสดใหม่ ยังช่วยลดปรากฏการณ์เรือนกระจก เพราะมลพิษจากการขนส่งสินค้าทางไกลอีกด้วย ซื้อสินค้าจากร้านค้า และตลาดใกล้บ้าน แวะซื้อจากร้านค้าที่เป็นทางผ่าน แทนการขับรถไปห้างสรรพสินค้าไกล ๆ เพื่อซื้อของเพียงไม่กี่ชิ้น
6.ชีวิตไร้มลพิษกับ Slow Travel เปลี่ยนการเดินทางด้วยเครื่องบิน มาเป็น รถไฟ เรือ จักรยาน หรือการเดิน เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่โลก และใช้เวลาต่อหนึ่งทริปให้นานขึ้น ให้ความสำคัญกับกิจกรรมระหว่างทาง อย่างเช่น แวะไปเที่ยวตลาดสดกลางหมู่บ้าน ทักทายผู้คนสองข้างทาง เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยการเลือกไปพักแบบโฮมสเตย์ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเดินทางให้เต็มที่
7.ออกกำลังกายสร้างสมาธิ การออกกำลังกายในแบบที่แช่มช้า อย่างเช่น โยคะ ไทเก๊ก ชี่กง และการออกกำลังกายตามแบบเต๋า จะทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงจากความเครียดผ่อนคลายลง ช่วยให้มีสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจ และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่งผลให้สติ และสมาธิที่กระเจิงไปเพราะความรีบเร่งกลับมาอีกครั้ง
“เมื่อคุณวิ่งอย่างรวดเร็วเพื่อจะไปสู่จุดหมาย ความสนุกย่อมหล่นหายไประหว่างทาง
เมื่อคุณพะวงและรีบร้อนให้แต่ละวันผ่านพ้น ก็เท่ากับคุณได้โยนของขวัญที่ยังไม่ได้เปิดทิ้งไป
ชีวิตไม่ใช่การแข่งขัน จงปล่อยให้มันดำเนินไปอย่างช้า ๆ หยุดฟังเสียงดนตรีอันมีค่า ก่อนหมดเวลาของเสียงเพลง”