อาการเบื่ออาหาร
อาการเบื่ออาหาร คือ อาการที่ความอยากอาหารน้อยลงกว่าปกติ หรือไม่อยากรับประทานอาหารใด ๆ เลย อาจเกิดจากภาวะผิดปกติทางสุขภาพอื่นๆ อย่างเช่น อ่อนเพลีย หมดแรง คลื่นไส้เมื่อเห็นหรือได้กลิ่นอาหาร อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผมร่วง เล็บเปราะ และน้ำหนักตัวลดลงหากรับประทานอาหารไม่เพียงพอ
สาเหตุของการเบื่ออาหาร
ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต
เกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ความไม่สบายใจ ความเศร้า ความเครียด และความกังวล ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงชั่วคราว ส่วนผู้ที่เป็นโรคจิตเวช อย่างเช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล จะเกิดความผิดปกติทางอารมณ์และร่างกายหลายด้าน ทำให้ไม่สนใจอาหาร หรือลืมรับประทานอาหารให้ตรงมื้อ ส่งผลให้น้ำหนักลดลง ซูบผอม และขาดสารอาหาร
นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร อย่างเช่น อะนอเร็กเซีย และบูลิเมีย ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร เนื่องจากความวิตกกังวลอย่างรุนแรงเกี่ยวกับน้ำหนักตัวและรูปร่าง จึงพยายามลดปริมาณการรับประทานอาหาร หรือรับประทานแล้วล้วงคอให้อาเจียน อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้
การติดเชื้อ
การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิตในร่างกายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร อย่างเช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ได้กลิ่นและรับรสอาหารได้น้อยลง และอ่อนเพลีย อาหารเป็นพิษ และโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis) ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน และมีอาการเบื่ออาหาร
ท้องผูก
ผู้ที่ท้องผูกจะถ่ายอุจจาระแข็ง ขับถ่ายยาก รู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย และบางครั้งอาจมีเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งการขับถ่ายน้อยกว่าปกติจะทำให้มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง และมีอาการเบื่ออาหารตามมา
อายุที่เพิ่มมากขึ้น
อาการเบื่ออาหารพบบ่อยในผู้สูงอายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อย่างเช่น ระบบย่อยอาหารทำงานแย่ลง การรับรสและได้กลิ่นอาหารลดน้อยลง ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง การไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟันซึ่งทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก การใช้ยา และโรคประจำตัวในผู้สูงอายุ จึงทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง
กรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนคือภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดที่ปลายหลอดอาหารหย่อนตัวลง ทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง เรอเปรี้ยว แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ และมีอาการเบื่ออาหาร
โรคเรื้อรังเกี่ยวกับทางเดินอาหารและลำไส้
โรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารอาจเป็นสาเหตุของอาการเบื่ออาหารได้เช่นกัน รวมถึงอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย อ่อนเพลีย และถ่ายเป็นเลือด ได้แก่ ลำไส้แปรปรวน โรคเซลิแอค โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคโครห์น โรคลำไส้อักเสบ โรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการอักเสบเฉียบพลัน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ และโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
การตั้งครรภ์
ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจมีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ทำให้รับประทานอาหารน้อยลง หรือไม่สามารถรับประทานอาหารบางชนิดได้ เนื่องจากอาการแพ้ท้อง
โรคเรื้อรังอื่น ๆ
โรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร อย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคไทรอยด์ ความจำเสื่อม โรคเอดส์ และมะเร็ง
การใช้ยา
อาการเบื่ออาหารอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด อย่างเช่น ยานอนหลับ ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด ยาต้านเศร้า ยาควบคุมความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ และยาระงับปวด
ดูแลตัวเองในเบื้องต้นเมื่อมีอาการเบื่ออาหาร
ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
- จดจำเวลาคุณรู้สึกหิวมากที่สุดและรับประทานซ้ำในเวลานั้นทุกวัน
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ และถั่ว รับประทานผักและผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแรธาตุที่จำเป็นอย่างครบถ้วน
- หากเบื่ออาหารและมีอาการท้องอืด หรือท้องเสีย ควรรับประทานอาหารที่มีรสอ่อนและย่อยง่าย เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม กล้วยหอม ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
- แบ่งการรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ 5-6 มื้อต่อวัน แทนการรับประทาน 3มื้อต่อวัน และเสริมด้วยการรับประทานผลไม้ ผลไม้แห้ง ถั่ว นม และโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลต่ำในระหว่างมื้ออาหาร
- ทำอาหารรับประทานกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน การมีเพื่อนคุยขณะรับประทานอาหารด้วยกัน อาจช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น
- ใส่เครื่องเทศ หรือเพิ่มซอสในเมนูอาหาร เพื่อให้น่ารับประทานและเพิ่มพลังงานมากขึ้น
- ดื่มชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของขิง เปปเปอร์มินต์ และผลไม้รสเปรี้ยว ช่วยให้รับประทานอาหารได้ดีขึ้น
- หากมีอาการท้องผูก ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง
พักผ่อนให้เพียงพอ และจัดการกับความเครียด
อาการเบื่ออาหารที่เกิดจากโรคติดเชื้อ อย่างเช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ อาหารเป็นพิษ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการอ่อนเพลีย ไข้ และท้องเสียได้เร็วขึ้น ควรทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด อย่างเช่น ฟังเพลง การอาบน้ำอุ่น การอ่านหนังสือ นั่งสมาธิ และเล่นโยคะ
ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาทีจ ะช่วยกระตุ้นการอัตราเผาผลาญและระบบย่อยอาหาร ช่วยให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น บรรเทาอาการคลื่นไส้ ช่วยผ่อนคลายความเครียด และทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นอีกด้วย
ปรึกษาแพทย์
ผู้สูงอายุที่มีอาการเบื่ออาหารเป็นเวลานาน ผู้ตั้งครรภ์ที่แพ้ท้องอย่างรุนแรง และผู้ที่มีโรคประจำตัวใด ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร อย่างเช่น โรคจิตเวช โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างเหมาะสม