หาว หาวบ่อยเสี่ยงโรค วิธีแก้อาการหาวบ่อย
การหาว คือ ปฏิกิริยาที่ร่างกายมีการอ้าปากและสูดหายใจเข้าลึก ซึ่งอาจถูกกระตุ้นด้วยความเหนื่อย ความง่วง หรือเมื่อยล้า เป็นกลไกหนึ่งของร่างกาย ที่ต้องการจะรับเอาออกซิเจนจากอากาศเข้าสู่กระแสเลือด พร้อมกันนั้นก็ช่วยขับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดออกไป ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความสมดุลของร่างกาย
อาการหาวมากผิดปกติ คือ มีการหาวมากกว่าหนึ่งครั้งในหนึ่งนาที ซึ่งอาจเกิดจากความง่วง หรืออาจถูกกระตุ้นจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ ก็เป็นได้
หาวบ่อยเกิดจากอะไร สาเหตุของการหาวมากผิดปกติ
ความง่วง เหนื่อยล้าจากการนอนหลับไม่เพียงพอ
การนอนหลับไม่เพียงพอเกิดได้จากระยะเวลาการนอนหลับที่สั้นเกินไป หรืออาจเกิดจากการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ อย่างเช่น ความเครียด ความกังวล หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในขณะที่นอนหลับ การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถส่งผลอื่น ๆ ต่อร่างกายได้ อย่างเช่น ไม่มีสมาธิ ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้า รู้สึกอยู่ไม่สุข เซื่องซึม ไม่ต้องการทำอะไร รู้สึกเหนื่อยเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย รวมถึงยังก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายอย่างโรคอ้วน โรคหัวใจ หรือโรคซึมเศร้า เช่นนั้นควรปรับพฤติกรรมการนอนและจัดตารางการนอนใหม่ โดย 1 วันควรนอนให้ได้อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงจะดีที่สุด
ผลข้างเคียงจากยา เช่น กลุ่มยานอนหลับ ยาช่วยคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้ปวดบางชนิด อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียง มีอาการง่วงซึม นอนไม่หลับได้
การหาวมากผิดปกติยังอาจเกิดจากโรคทางกายอื่น ๆ ได้ อย่างเช่น
- ภาวะเลือดออกบริเวณในหรือรอบ ๆ หัวใจ หรือโรคหัวใจ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หากมีอาการหาวบ่อย ร่วมกับอาการเจ็บแน่นหน้าอก ปวดร้าวไปแขนหรือคอ หายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้ วิงเวียน หน้ามืด ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังมีอาการ เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้
- มะเร็งหรือก้อนเนื้อในสมอง เกิดการกดเบียดทำให้เนื้อสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงต้องการการหาวเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้ร่างกาย ผู้ป่วยอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ชาหรืออ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปัญหาด้านการมองเห็น ปัญหาด้านความจำ เป็นต้น
- โรคหลอดเลือดสมอง คือภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน และเหตุนี้อาจทำให้เกิดอาการหาวบ่อยได้ โรคนี้อาจมีหลายอาการร่วมกัน จะมีอาการชา อ่อนแรง ใบหน้าเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินเซ มีการมองเห็นผิดปกติ หรือวิงเวียนร่วมด้วย
- โรคลมชัก เกิดการนำกระแสประสาทผิดปกติในหลายส่วนหรือทั้งหมดของสมอง ทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ในบางครั้งกระแสประสาทผิดปกตินี้เกิดในสมองส่วนที่ควบคุมการหาว อาการหาวบ่อยก็เป็นหนึ่งในความผิดปกติของผู้ป่วยโรคนี้
- โรคปลอกประสาทอักเสบ (multiple sclerosis) ทำให้เส้นประสาทในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเสียหาย ไม่สามารถควบคุมร่างกายบางส่วนได้ เนื่องจากการนำสัญญาณของเส้นประสาทจากสมองส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เสียไป จึงส่งผลให้เกิดอาการหาวบ่อยได้
- ภาวะตับวาย เป็นภาวะที่เกิดจากตับสูญเสียการทำงานจนส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาการหาวบ่อยมักพบได้ในผู้ป่วยโรคตับวายในระยะที่อาการเริ่มรุนแรงแล้ว เพราะเนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่ค่อยหลับ จึงเกิดอาการหาวบ่อย ๆ ได้
- ภาวะร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าการหาวเป็นวิธีหนึ่งที่ร่างกายใช้เพื่อควบคุมอุณหภูมิ หากร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ เช่น มีโรคประจำตัวบางชนิด การใช้ยาบางชนิด ในผู้สูงอายุ อาจเกิดการหาวผิดปกติเพื่อเป็นการช่วยในการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย
วิธีแก้ไขอาการหาวบ่อย
- หายใจลึก ๆ จะช่วยเพิ่มออกซิเจนในร่างกาย สามารถลดการหาวได้
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า การเคลื่อนไหว ขยับร่างกาย สามารถกระตุ้นระบบประสาทและสมองได้ สามารถลดการหาวในผู้ที่การหาวเกิดจากความเหนื่อยล้า เบื่อ หรือความเครียดได้
- เพิ่มความเย็นในร่างกาย อย่างเช่น การเดินไปยังบริเวณที่อากาศเย็นและอากาศถ่ายเท ดื่มน้ำเย็น หรือกินอาหารว่างเย็น ๆ เช่น ผลไม้แช่เย็น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยหลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เพราะการรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากจนเกินไป เป็นตัวการที่ทำให้ร่างกายง่วงซึมได้ เพราะตับอ่อนจะส่งอินซูลินออกมาเพื่อย่อยน้ำตาลเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ก่อให้เกิดอาการง่วงนอนตามมานั่นเอง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและเป็นเวลา ให้ได้อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
- ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย
- หากใครที่ต้องนั่งทำงานแต่หน้าคอมพิวเตอร์ ให้หาเวลาเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อผ่อนคลายบ้าง
- งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มคาเฟอีน