Sick Building Syndrome (SBS) “โรคแพ้ตึก” หรือ “โรคตึกเป็นพิษ”
เป็นภาวะผิดปกติด้านสุขภาพ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับมลภาวะภายในอาคารจากปัจจัยบางอย่าง แต่ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนชัดเจนได้ มักเกิดในสำนักงาน อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ และหายใจไม่สะดวก แต่อาการจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อออกนอกตัวอาคาร
อาการของโรคแพ้ตึก
อาการของ SBS จะปรากฏขึ้นเมื่อผู้ที่ประสบภาวะนี้อยู่ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยมีอาการเกิดขึ้นดังนี้
- เจ็บตา หรือเจ็บคอ
- แสบร้อนในจมูก มีน้ำมูก
- หนาว เป็นไข้
- ผิวแห้ง เป็นผื่น
- อ่อนเพลีย
- หงุดหงิด หรือหลงลืม
- ปวดหัว ปวดท้อง
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- มีอาการของภาวะภูมิแพ้ เช่น จาม หรือคัน เป็นต้น
- แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก
- ไม่มีสมาธิ
นอกจากนี้ ภาวะ SBS อาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจ หรือเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้วมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบจะเสี่ยงอาการกำเริบมากขึ้นเมื่ออยู่ในอาคาร เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อผู้ป่วยออกจากอาคาร อาการต่าง ๆ ก็จะหายไป
สาเหตุของโรคแพ้ตึก
แม้ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะ SBS ได้ ดังนี้
- สารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ภายในอาคาร เช่น น้ำยาถูพื้น สารฟอร์มาลดีไฮด์ สีที่ใช้ทาภายในอาคาร เป็นต้น
- อุปกรณ์สำนักงานอย่างจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่กรองแสงที่เป็นอันตรายต่อสายตา
- ควันรถ ฝุ่นภายในอาคาร หรือมลพิษอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง
- เสียงรบกวน
- อากาศที่ไม่ถ่ายเทภายในอาคาร
- ก๊าซเรดอน และแร่ใยหินในตัวอาคาร
- ไฟที่ส่องสว่างภายในอาคาร
- ความร้อนหรือความชื้นภายในอาคาร
- จุลชีพต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น
- ความเครียดจากการทำงานหรือการเรียน
- การป่วยเป็นโรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า
การป้องกันโรคแพ้ตึก
เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะ SBS ได้อย่างชัดเจน การป้องกันตนเองจากภาวะนี้จึงทำได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นสามารถป้องกันได้โดยไปพบแพทย์เพื่อรักษาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุหรือทำให้อาการของภาวะ SBS แย่ลง รวมถึงไม่อยู่ในอาคารนานจนเกินไป และปรับปรุงสถานที่ทำงานให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1.บำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ และ ระบบระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ ทำความสะอาดพื้น พรมหรือเพดาน อุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ ไม่ทิ้งขยะค้างคืนในสำนักงานเพราะอาจเป็นอาหารของแมลงสาบได้ ดูดฝุ่นหรือทำความสะอาดบริเวณที่ทำงานให้ปราศจากเชื้อโรคและฝุ่น
2.เปลี่ยนอุปกรณ์ภายในสำนักงานที่เก่าและก่อมลพิษ อย่างเช่น จอคอมพิวเตอร์ ปริ้นเตอร์ หรือหลอดไฟ เป็นต้น
3.เปิดหน้าต่างหลังจากปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อระบายอากาศที่ตกค้างในอาคาร ให้อากาศถ่ายเทสะดวก
4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ภายในสำนักงาน เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น เป็นต้น
5.ลดความเครียดโดยพักสายตาระหว่างทำงาน หรือเดินยืดเส้นยืดสายในช่วงพักเที่ยง
6.หาพืชที่ช่วยลดมลพิษในอากาศมาปลูกในห้อง อย่างเช่น ต้นว่านหางจระเข้ ต้นพลูด่าง ต้นวาสนา เป็นต้น