ท่องโลกดึกดำบรรพ์: ดินแดนแห่งหยกและซาฟารี
หมวดหินอเกต สปริงส์ (Agate Springs Fossil Bed) เป็นแอ่งฟอสซิลชั้นหินที่ประกอบด้วยอัญมณีอย่างอเกต (Agate) มีลักษณะสวยงามเกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์และตกผลึกกลายเป็นอเกต ตั้งอยู่ในรัฐเนบราสก้า สหรัฐอเมริกา เมื่อ 20 ล้านปีก่อน เป็นช่วงเวลาสุดท้ายของยุคโอลิโกซีนที่ใกล้จะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่แล้ว ในสถานที่แห่งนี้ เราสามารถเรียนรู้ได้จากบรรดาสิ่งมีชีวิตที่ถูกพบในหมวดหินเหล่านี้ได้ ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย
ย้อนไปในรัฐเนบราสก้า สมัย 20 ล้านปีที่แล้ว ช่วงเปลี่ยนผ่านของทวีปอเมริกาเหนือที่โลกเริ่มเย็นตัวลง ทุ่งหญ้าซะวันน่าแบบที่ทวีปแอฟริกาสามารถพบเห็นได้มากที่สุด สลับกันกับป่าโปร่งที่มีพื้นที่ให้พืชต่างๆ ขึ้นมาได้ ถึงแม้ส่วนอื่นๆ ของโลกจะยังแห้งแล้ง ที่แห่งนี้ยังได้รับอิธิพลจากดินภูเขาไฟที่มีธาตุอาหารมาก โป่งน้ำพุร้อนก็อุดมด้วยเกลือแร่ และยังมีลมและฝนที่จะหอบมาเป็นฤดูทำให้พืชเติบโตดี พืชจำพวกหญ้าตีนกาที่ใช้เมล็ดและต้นทานตะวันเริ่มมีการปรากฏชัดเจนขึ้นมาตามทุ่งหญ้าแล้ว
(มอโรปัส)
คุณเดินทางตามทุ่งหญ้าเข้ามาในผืนป่าโปร่ง ต้นเบิร์ชและโอ๊กปกคลุมป่าพร้อมกับผลไม้ที่สุกงอม ช่วงฤดูใบไม้ผลิจะมีสัตว์อพยพมาออกลูกมากมาย ในราวป่า มีร่างขนาดใหญ่บางอย่างกำลังยืนสูงเขย่าต้นไม้เพื่อกินพืชบนยอด สัตว์ประหลาดหัวคล้ายม้าแต่มีแขนยาวคล้ายกอริลล่าที่สูง 3 เมตร กำลังค่อยๆ ใช้ลิ้นยาวตวัดกินพืชและโน้มกิ่งไม้ลง นั่นคือ มอโรปัส (Moropus) เป็นสัตว์ในวงศ์คาลิโคเธียร์ (Chalicothere) ซึ่งเป็นสัตว์กีบคี่ที่วิวัฒนาการได้แปลกประหลาด มันสามารถเดินสี่ขาด้วยการใช้หลังมือเดิน และยกตัวสูงใช้เล็บจับหรือยึดเกาะลำต้นของต้นไม้เพื่อขย่มและกินพืช สัตว์ในวงศ์คาลิโคเธียร์มีการกระจายพันธุ์กว้างมาก พวกมันเจอได้ในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ และแม้แต่ในบางส่วนของแอฟริกา
มอโรปัสตัวผู้ตัวนี้ขณะที่กำลังกินใบไม้ มีมอโรปัสอีกตัวเดินเข้ามาหาใกล้ๆ ตัวนี้เป็นตัวผู้อีกตัวที่มาท้าทายมันอย่างแน่นอน ทั้งสองหยุดกินพืชและมองหน้ากันก่อนจะเริ่มชูตัวสูงคล้ายหมี เมื่อมีจังหวะ สัตว์ทั้งสองตบตีกันใช้ร่างกายกระแทกกันไปมา แขนที่มีเล็บยาวสามนิ้วที่ตวัดฟาดอีกฝ่ายคล้ายการใช้มีดสั้นเพื่อแทงคู่ต่อสู้ ในไม่ช้า เจ้าตัวผู้เจ้าถิ่นก็ฟาดอีกฝ่ายได้หนึ่งหมัดวาดกรงเล็บลงไปที่หน้าอกของอีกตัวนึง เจ้าผู้บุกรุกก็ต้องหยุดต่อสู้และเปลี่ยนใจเดินหันหลังหนีไปในที่สุด
(ไดเซราเธอเรี่ยม)
เมื่อเดินต่อมาอีกหน่อย มีแหล่งน้ำขนาดเล็กเป็นบ่อโคลน มีแรดโบราณไร้นออย่าง ไดเซราเธอเรี่ยม (Diceratherium) แรดดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ตัวเล็ก ไม่มีนอ และชอบแช่ปลักโคลนเหมือนกับญาติในปัจจุบัน โคลนช่วยป้องกันพวกมันจากแมลงและปรสิตดูดเลือดโดยจะทำให้ปรสิตเกาะยากหรือทำให้ปรสิตขาดอากาศหายใจจากโคลนที่พอกไปตามตัว ไดเซราเธอเรี่ยมมีขนาดตัวเล็กคล้ายหมู จึงกินพืชที่อยู่ต่ำหรือผลไม้พวกเบอร์รี่ตามพืชพุ่มเป็นอาหาร และข้างๆ กันก็มี โปรเมริโคเชรัส (Promerycocherus) ซึ่งเป็นสัตว์กีบคู่ดึกดำบรรพ์คล้ายฮิปโปที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำหรือบ่อโคลนเช่นกัน
(โปรเมริโคเชรัส)
(ไมโอฮิปปุส)
เมื่อออกมาถึงทุ่งหญ้า อันตรายก็มากขึ้นในพื้นที่แห่งนี้เช่นกัน รอบๆ ทุ่งหญ้าเต็มไปด้วยมาโบราณหลายชนิด เช่น ไมโอฮิปปุส (Miohippus) เมอริชิปปุส (Merychippus) และ พาราฮิปปุส (Parahippus) สัตว์กีบคี่กลุ่มม้าประสบความสำเร็จและกระจายพันธุ์ไปมาก ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ตัวใหญ่เท่าม้าปัจจุบันมากนัก พวกนี้คือบรรพบุรุษในสายตรงของม้าในปัจจุบัน เนื่องด้วยทุ่งหญ้ามากขึ้น ม้าทั้งหลายจึงออกวิ่งหาหญ้ากินได้อย่างง่ายขึ้น
(สเตนโนไมลัส)
นอกจากนี้ ในทุ่งก็มี สเตนโนไมลัส (Stenomylus) เป็นสัตว์กลุ่มอูฐในยุคดึกดำบรรพ์ น่าแปลกมากที่อูฐในทวีปเอเชียและแอฟริกากลับมีบรรพบุรุษอยู่ในอเมริกาเหนือ พวกมันปรับตัวเพื่ออาศัยในทุ่งหญ้าและทุ่งน้ำแข็งหนาวเย็นมาก่อน แต่อูฐในปัจจุบันก็กลับไปอาศัยในทะเลทราย สเตนโนไมลัสมีเพียงขนตาสองชั้นและขาที่ยาวกับเท้าแบนๆ ใช้ในการวิ่งที่คล้ายอูฐปัจจุบัน หากดูเผินๆ แล้ว มันคล้ายแอนทิโลปเสียมากกว่าด้วยซ้ำ
ในฤดูใบไม้ผลิ ทั้งม้าโบราณและอูฐก็ต่างพากันมาออกลูกสืบเผ่าพันธุ์และกินอาหารที่มีมาก พวกมันจะอพยพลงใต้ไปเรื่อยๆ ตามอากาศอบอุ่นและหญ้า แต่กระนั้นเอง นักล่าที่น่ากลัวที่สุดก็อาศัยช่วงเวลานี้เพื่อกินลูกสัตว์ขนาดเล็กเช่นกัน
(เดโอดอน)
ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับหญ้า ไมโอฮิปปุสตัวหนึ่งได้เดินเข้าไปใกล้พุ่มไม้ ก่อนที่จะมีสัตว์ขนาดใหญ่วิ่งออกมาแล้วกัดงับสะบัดร่างของมันในทันที เสียงดังนี้ทำให้สัตว์อื่นๆ วิ่งแตกฮือกันจำนวนมากหนีไปอีกฝากของทุ่งหญ้า สัตว์ตัวนั้นคือ เดโอดอน (Daeodon) เดโอดอน เป็นสัตว์จำพวกเดียวกับเอนเทโลดอน ซึ่งใกล้ชิดกับฮิปโป รูปร่างของมันอาจจะคล้ายหมูป่า แต่มีขาเรียวยาว และฟันหลากหลายชุดในหัวโตๆ นี่คือสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ที่สุดในระบบนิเวศนี้ จนกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินเนื้ออย่างสุนัขและแมวจะปรากฏตัว เดโอดอนจะยังคงออกล่าไปอีก 1-5 ล้านปีนี้ในอเมริกาเหนือ
(เมโนเซราส)
กระนั้นเอง ไม่ใช่ว่าสัตว์ทุกชนิดจะยอมเป็นเหยื่อง่ายๆ มีแรดขนาดเล็กที่ตัวใหญ่ไม่เกินม้าแกลบกำลังกินหญ้า นอสองข้างของมันนั้นดูแปลกตามาก นี่คือ เมโนเซราส (Menoceras) เมโนเซราส มีนอขนาดเล็กสองชิ้นที่สั้นและคม อาวุธนี้ทำให้สัตว์กินเนื้อไม่อยากเข้าใกล้ หากถูกชนอาจจะตายได้ แม่เมโนเซราสและลูกของมันกำลังกินหญ้า โดยไม่ทันสังเกต มีนักล่าเดินเข้ามาในดงหญ้าข้างๆ รูปร่างของมันคล้ายหมาที่ตัวยาว นี่คือ ดาฟิโนดอน (Daphoenodon) เป็นสัตว์กลุ่มสุนัขและหมี อยู่ในวงศ์แอมฟิซิออนนิด (Amphicyonidae) ซึ่งอยู่กึ่งกลางในสายวิวัฒนาการของสุนัขและหมี มีเท้าที่ยืดหดสำหรับปินต้นไม้ แต่ก็มีสรีระเพรียวสำหรับการวิ่งระยะสั้นเพื่อตะปบเหยื่อ ขณะที่ลูกเมโนเซราสเดินเตร่ออกมา ดาฟิโนดอนพุ่งตัวออกมาในทันที แต่กลับถูกนอสองข้างชนกระแทกเข้าที่ซี่โครงอย่างจัง แม่ของเมโนเซราสตัวน้อยเข้ามาช่วยไว้ได้ทันและโจมตีนักล่าไปหนึ่งดอก ดาฟิโนดอนที่ตัวเล็กกว่าและอ่อนแอได้รับบาดเจ็บจากการกระแทกเมื่อครู่ มันหันหลังวิ่งหนีออกไปในทันทีอย่างไม่คิดชีวิต
(ดาฟิโนดอน)
(ซินไดโอเซราส)
ดูสิ! มีสัตว์กีบคู่หน้าตาประหลาดด้วย เขารูปตัววายที่จมูกและหน้าผากนั้นสะดุดตามาก นี่คือ ซินไดโอเซราส (Syndyoceras) เขาของมันมีเฉพาะในตัวผู้ และจะเด่นชัดเมื่อมีอายุ 2 ปีขึ้นไป พวกมันใช้เขาในการจีบตัวเมีย ตัวเมียจะไม่มีเขาและดูมีหน้ายาว คล้ายกับแอนทิโลปในปัจจุบัน พวกมันเองก็วิ่งไวและต่อสู้ไม่เก่ง ดาฟิโนดอนและเดโอดอนจึงล่าพวกมันกินได้อีกด้วย
ช่วงเวลาของยุคโอลิโกซีน สภาพแวดล้อมของโลกเย็นตัวลงอย่างช้าๆ และเริ่มเข้าสู่ยุคไมโอซีน ที่ทวีปต่างๆ ในโลกจะเริ่มเกิดระบบนิเวศใหม่ๆ และสิ่งมีชีวิตในยุคใหม่ปรากฏตัวขึ้นมาอย่างแน่นอน เดโอดอนและดาฟิโนดอนจะเริ่มค่อยๆ หมดลง เมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มสุนัขและแมวที่ช่ำชองการล่าพัฒนามากขึ้นเริ่มปรับตัวให้ล่าเหยื่อที่วิ่งเร็วมากขึ้นได้ และสัตว์กินพืชก็ไม่น้อยหน้า วิวัฒนาการให้วิ่งไวขึ้น พวกสัตว์นักล่าที่เชื่องช้าจะสูญพันธุ์ไปอย่างช้าๆ ในที่สุด
ตอนต่อไป ขอต้อนรับสู่อเมริกาใต้ ทวีปที่สาบสูญเต็มไปด้วยสัตว์พิลึกพิลั่นมากมาย ช่วงเวลาของยุคไมโอซีน ยุคเฟื่องฟูของสัตว์ยักษ์ได้เริ่มต้นขึ้น จะมีอะไรรอเราอยู่กันแน่ โปรดติดตามใน ท่องโลกดึกดำบรรพ์!
อ้างอิงจาก: https://npshistory.com/publications/agfo/nrr-2009-080.pdf
https://www.nps.gov/agfo/learn/nature/mammalfossils.htmhttps://www.google.com/search?sca_esv=0e526ec8824269be&rlz=1C1CHZN_thTH1016TH1016&sxsrf=ADLYWIK7kx1eVryKqtGqryKrxEzietzzvg:1722935524466&q=agate fossil beds paleofauna&source=lnms&fbs=AEQNm0DPvcmG_nCbmwtBO9j6YBzMGI-rIah7qbGvoUnQw8TFIqi9o0uuHszM7QNHgmvvC6aevVBV3e0BT034Sv-niXNm9EW5qkkxkD0W2Vu1mteaKmXR3D6gF9lJolVy1ajEHo1xW6MG4cpgc4moyWAvUUxwCHimCECknLx3koj325UaTUFwXJpy7PpVwtJ8NF6HjSGvEyHEKXPQPR5gBSiVLEg9scOfrA&sa=X&ved=2ahUKEwjxmaD_guCHAxWE2TgGHS7ZBHgQ0pQJegQIExAB&biw=1260&bih=713&dpr=2