ปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์นและปลาหมอไตรมาคู: ภัยเงียบในท่อระบายน้ำเมืองกรุง
หลังจากมีการได้กล่าวถึงปลาหมอสีไปแล้วสองชนิดด้วยกัน วันนี้ เราจะพาทุกท่านมาดูปลาหมอสีอีกชนิดที่เป็นหนึ่งในปลาที่ทำกำไรสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย มีสีสันสวยงาม หัวโต ฟอร์มสวย เป็นที่นิยม และมีความอึดอดทนมากๆ วันนี้ เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับมัน ไม่แน่ บางคนอาจจะมีมันอยู่ในบ้านแล้วก็ได้
ประวัติของปลาหมอสีฟลาวเวอร์ฮอร์นและปลาหมอสีไตรมาคู
ปลาหมอสีไตรมาคู ชื่อวิทยาศาตร์: (Cichlasoma trimaculatum) เป็นปลาหมอสีขนาดกลางถึงใหญ่ มีขนาดตัว 15-30 เซนติเมตร มีรูปร่างแบนข้าง หัวกลมปากแหลม ตัวผู้จะมีโหนกเล็กๆ ส่วนตัวเมียจะไม่มี มีลายสีดำพาดทับไปที่ลำตัวสีเขียวมะกอก เหลือง เทา หรือชมพูอ่อน ส่วนท้องมีสีขาวหรือชมพูอ่อน เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในบึง แม่น้ำ ทะเลสาบ หนองน้ำ ธารน้ำในทวีปอเมริกากลาง มักหากินสัตว์น้ำขนาดเล็กตามพืชน้ำ บางครั้งก็จะกินพืชน้ำด้วยแต่น้อย ชาวพื้นเมืองอเมริกากลางรู้จักพวกมันดีและนำปลาหมอสีชนิดนี้มาบริโภคแต่สมัยโบราณแล้ว
ปลาหมอไตรมาคู ถูกนำเข้ามายังประเทศไทยครั้งแรกๆ ในปี 2537 โดยนำเข้ามาเพาะพันธุ์สร้างปลาหมอสีลูกผสมโดยอาจจะใช้ปลาหมอสีในสกุลใกล้ๆ กันมาผสมพันธุ์อีกที โดยผ่านการคัดเลือกตัวที่มีโหนกใหญ่สะดุดตา สีสันโทนต่างๆ ตามแต่ผู้เพาะพันธุ์ต้องการ โดยเมื่อผสมไปเรื่อยๆ ก็สร้างลักษณะทางพันธุกรรมมากมายหลายๆ แบบ และปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์นบางกลุ่มที่มีลายคล้ายอักษรจีน ก็ถือว่าเป็นปลามงคลนิยมนำมาเลี้ยงเสริมบารมีอีกด้วย
ปลาหมอไตรมาคู มีพฤติกรรมตีแปลงขุดรูวางไข่หรือวางไข่ตามวัสดุใต้น้ำเช่นเดียวกับปลาหมอสีชนิดอื่นๆ และยังดูแลลูกจนกว่าจะเติบโตได้ถึงอายุที่สมควร โดยระยะฟักไข่มีระยะประมาณ 25 วัน และปลาหมอสีไตรมาคูจะพร้อมผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 1 ปีขึ้นไป และด้วยการอาศัยตามช่องโพรง จึงเป็นปลาที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวดุร้ายโดยจะทำร้ายหรือกัดขับไล่สัตว์อื่นที่เข้ามาใกล้รังมาก อีกทั้งยังหวงถิ่นนอกเวลาผสมพันธุ์อีกด้วย โดยปลาตัวผู้สองตัวไม่สามารถเลี้ยงรวมกันได้ เพราะจะมีการกัดทำร้ายกันจนถึงตาย
การระบาด
ปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์นและปลาหมอไตรมาคู จัดเป็นเอเลี่ยนสปีชี่สที่พบได้ในแหล่งน้ำของไทยเช่นกันปลาหมอสีชนิดอื่นๆ แต่เจอน้อยและระบาดไม่ได้กว้างนัก มักพบตามท่อระบายน้ำ บึง คลอง รางน้ำ ท่อส่งน้ำ หรือแหล่งน้ำสาธารณะในสวนสาธารณะเสียมาก พวกมันมีความดุร้าย และปลาที่ตกเกรดไม่ได้ขนาดหรือสี จะมีลักษณะดั้งเดิมที่ไม่เด่นของบรรพบุรุษกลับคืนมาทำให้มีสีสันไม่ค่อยสวย โดยพวกมันจะกินทั้งไข่ปลา แมลงน้ำ ปลาขนาดเล็ก และแย่งอาหารปลาท้องถิ่นอีกด้วย กระนั้น สีสันฉูดฉาดของพวกมันก็ทำให้เป็นเป้าหมายของสัตว์นักล่าในท้องถิ่นของไทยหลายๆ ชนิด เช่น ปลาชะโด ปลาช่อน ปลากราย ปลาดุก ปลาบู่ทราย ปลาหมอนา ตัวเงินตัวทอง นกน้ำ งูกินปลา เต่าน้ำจืดต่าง ๆลๆ จึงยังต้องคอยแก้ปัญหาด้านนี้กันต่อไป สำหรับผู้ที่มีปลาหมอสีฟลาวเวอร์ฮอร์นในการครอบครอง เมื่อเบื่อที่จะเลี้ยง ควรขายต่อ ส่งมอบให้ผู้ที่อยากได้รับไปดูแลต่อจะดีกว่า
การเลี้ยงจัดตู้ปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์น
ปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์นนั้นเลี้ยงง่าย แต่ต้องมีอุปกรณ์พื้นฐานดังนี้
1. ตู้ปลา ควรมีขนาดตั้งแต่ 24-48 นิ้วขึ้นไปสำหรับปลาหนึ่งตัว เราจะสามารถเลี้ยงปลาได้มากขึ้นเมื่อตู้มีพื้นที่มากขึ้น
2. ที่หลบซ่อน เป็นถ้ำหรือกระถางเนื่องจากตามธรรมชาติในเวลากลางคืน ปลาหมอสีฟลาวเวอร์ฮอร์นชอบนอนในถ้ำเพื่อหลบสัตว์นักล่า
3. น้ำ น้ำควรมีความสะอาด ปลอดจากแอมโมเนียและสารพิษ โดยควรมีค่าความเป็นกรดด่างของน้ำอยู่ที่ 6-8 PH
4. เครื่องกรอง เนื่องจากปลาหมอสีเป็นปลาขนาดใหญ่ที่มีการขับถ่ายของเสียมาก เครื่องกรองที่มีขนาดใหญ่ มีคุณภาพและมีระบบการกรองดีจะช่วยให้ปลามีสุขภาพที่ดีได้
6. ปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์นชอบอยู่ตัวเดียวโดยมาก แต่หากมีตู้ใหญ่พอ ก็สามารถเลี้ยงรวมกับปลาอื่นๆ เช่น ปลาเสือตอ ปลาหมอสีชนิดอื่นๆ ที่ขนาดใกล้เคียงกัน ปลาตะเพียนที่ว่ายเร็ว ปลาซัคเกอร์ ปลาอะโรวาน่า และอาจจะเลี้ยงได้รวมกับเต่าน้ำจืดบางชนิดอีกด้วย กระนั้นต้องดูนิสัยของปลาหมอสีที่จะนำไปไว้กับปลาอื่นอีกด้วยว่าดุร้ายไหม เข้ากันกับปลาอีกชนิดโดยไม่โดนรังแกได้หรือเปล่า
โดยปลาหมอสีครอสบรีดมอร์ฟที่นิยม มีดังนี้
1. มุกแดง/มุกเขียว
2. ไหมไทย
3. กัมฟา
4. สีทองหรือไตรทอง
5. ฮก ลก ซิ่ว





















