ปริศนาธรรม “กาลามสูตร” และ “โยนิโสมนสิการ” จุดร่วมของพุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์
พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเหตุและผล ทุกสิ่งไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หรือเป็นเรื่องบังเอิญ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น สิ่งที่ยอมรับกันทั่ว ๆ ไปในคำสอนศาสนาพุทธก็คือ ผลต้องเกิดจากเหตุ เริ่มตั้งแต่ปฐมเทศนาคือธัมมจักกัปปวัตนสูตรเป็นต้นไป พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายความจริงของสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นเหตุและผล เช่น ความทุกข์และโทมนัสที่มีอยู่ในคนใดคนหนึ่ง ล้วนแต่มาจากเหตุ วิธีการหนึ่งที่จะอธิบายมรรคมีองค์แปดก็คือ การหันเข้าหาความจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน และทำความเข้าใจความจริงนั้นโดยประจักษ์
หลักการใช้สติปัญญาในการไตร่ตรองที่สำคัญได้แก่ “กาลามสูตร” ซึ่งหมายถึง พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ โดยความหมายคือหลักแห่งความเชื่อ ไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย โดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดี ก่อนที่จะเชื่อที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่ออะไรโดยง่าย และ “โยนิโสมนสิการ” ” ซึ่งหมายถึง การคิดพิจารณาอย่างละเอียด ถี่ถ้วนและลึกซึ้ง หรือการคิดที่ถูกวิธี มีระเบียบและสร้างสรรค์ หลักในการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบและแยบคาย ซึ่งทั้งวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนามีหลักความเชื่อเช่นเดียวกัน ในเรื่องของการพิสูจน์ทุกครั้งก่อนจะเชื่อในเรื่องใด ดังหลักคำสอนที่ปรากฏในกาลามสูตร พระพุทธเจ้าทรงให้หลักการในการพิจารณาว่าไม่ควรรีบด่วนเชื่อสิ่งที่ได้รับรู้มา 10 ประการ ดังนี้
- อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการฟังตามกันมา
- อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการนับถือสืบกันมา พินิจพิเคราะห์เสียก่อน เพราะคำสอนคนรุ่นเก่าบางอย่างก็เป็นโบราณอุบาย ที่เป็นการสอนทางอ้อม จึงต้องสืบหาเหตุผลให้กระจ่างด้วย
- อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการเล่าลือต่อกันมา ระมัดระวังและพิจารณาให้ดีเพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถตกแต่งภาพหรือบิดเบือนข้อมูลได้สมจริงยิ่งขึ้น ทำให้ข่าวลือ ข่าวลวงแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
- อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการอ้างคัมภีร์ เพราะตำรา คัมภีร อาจจะไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้แต่งด้วยว่าจะโน้มน้าวผู้อ่านไปในทิศทางเดียวกับตน
- อย่าเพิ่งเชื่อเพราะตรรกะ เพราะเหตุผลบางอย่างก็ใช่ว่าจะถูกหรือเป็นไปตามข้อสันนิษฐานเสมอไป
- อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการคาดคะเน เห็นข่าววัยรุ่นขับรถชนคนแก่ตาย แต่ยังไม่รู้สาเหตุ เราก็เดาไปล่วงหน้า
- อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการตรึกตรองตามเหตุและผล ซึ่งอาจจะเกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้ เช่น เห็นเพื่อนกลุ่มที่ไม่ถูกกับเราคุยกันอยู่ แล้วหัวเราะคิกคักตอนเราเดินผ่าน ก็คิดว่าเขากำลังนินทาเรา แต่จริงๆ แล้วเขากำลังเล่าเรื่องขำขันและหัวเราะตอนเราผ่านไปพอดี
- อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะตรงกับความเห็นของตน เพราะสิ่งนั้นเราเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอสอดคล้องกับความคิดเรา จึงยิ่งเชื่อเข้าไปใหญ่
- อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะรูปลักษณะน่าเชื่อ อย่างนี้ เราก็มักจะเชื่อตาม เพราะคิดว่าคนดังขนาดนี้ไม่น่าโกหก แต่จริงๆ แล้ว เราควรพิสูจน์ด้วยการดูคุณภาพของสินค้า มิใช่เชื่อเพราะเป็นคนดังพูด
- อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะท่านเป็นครูของเรา โดยความเป็นจริง ก็คือให้เชื่ออย่างมีวิจารณญาณ มีเหตุมีผล
นอกจากนี้แล้ว กระบวนการคิดตามนัยพระพุทธศาสนา ก็มีความคล้ายคลึงกับกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ การคิดเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Thinking) เป็นความคิดที่ใช้ในการพิสูจน์และสำรวจ ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีการใช้ความรู้วิทยาศาสตร์และกระบวนการวิทยาศาสตร์มาช่วยในการ วางแผน ตรวจสอบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 ตั้งปัญหา ขั้นที่ 2 เก็บรวบรวมข้อมูล หรือข้อเท็จจริง ขั้นที่ 3 สร้างสมมติฐาน ขั้นที่ 4 ทดลองพิสูจน์ และขั้นที่ 5 สรุปผล จนกระทั่งสามารถอธิบายด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า คิดแบบเหตุผล หรือคิดแบบอริยสัจ ซึ่งเป็นเพียงวิธีหนึ่งใน 10 วิธีคิดตามแนวทางโยนิโสมนสิการ มีดังนี้
- วิธีคิดแบบสาวหาเหตุปัจจัย 2. วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ
- วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา 4. วิธีคิดแบบอริยสัจ
- วิธีคิดเชื่อมโยงหลักการและความมุ่งหมายให้สัมพันธ์กัน
- วิธีคิดแบบคุณ โทษ และทางออก 7. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
- วิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม 9. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน
- วิธีคิดแบบจำแนกประเด็นและแง่มุมต่างๆ หรือการมองหลายๆ มุม
ดังนั้น กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรม “กาลามสูตร” และ โยนิโสมนสิการ ของศาสนาพุทธที่สอนให้มนุษย์มีความเชื่อมั่นในสติปัญญาและความสามารถของตนเอง เชื่อมั่นในความมีเหตุผล และนำไปสู่การค้นหาความจริงของสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกโดยไตร่ตรองดีแล้ว
รูปภาพ : เครดิตบนภาพ






