“ปฏิภาคผกผัน...รางวัลออสการ์กับรายได้ของภาพยนตร์” สะท้อนอะไรในสังคมปัจจุบัน
รางวัลภาพยนตร์ออสการ์ (Oscars) หรือรางวัลอะคาเดมี (Academy Awards) เป็นรางวัลที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 90 ปี ถือเป็นรางวัลทางวงการภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ในโลก เปรียบได้กับรางวัลระดับโลกของวงการอื่น ๆ เช่น รางวัลกีฬาฟุตบอลโลก รางวัลกีฬาโอลิมปิก รางวัลวิชาการโนเบล รางวัลดนตรีแกรมมี่ รางวัลละครเอ็มมี่
อวอร์ด รางวัลละครเวทีโทนี่อวอร์ด หรือ รางวัลนางงามจักรวาล เป็นต้น เนื่องด้วยคณะกรรมการผู้ตัดสินผลรางวัลภาพยนตร์ออสการ์ นั้นเป็นสมาชิกของสมาคมศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา (Academy of Motion Pictures and Sciences: AMPAS) ล้วนเป็นบุคลากรในแวดวงภาพยนตร์ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีชื่อเสียง เชี่ยวชาญและมีความรู้อย่างยอดเยี่ยมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จากทั่วโลก โดยกรรมการเหล่านี้จะทำการลงคะแนนในสาขาต่างๆ เพื่อคัดเลือกภาพยนตร์ ผู้กำกับ
นักแสดง ผู้เขียนบท และทีมงานเบื้องหลังต่าง ๆ ที่ได้รับการลงคะแนนมากที่สุดมารับรางวัล และในอดีตผู้ที่ได้รับรางวัลออสการ์นั้นก็เคยได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ทั้งบุคลากรในวงการภาพยนตร์และประชาชนผู้บริโภค
ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเรื่องราวของบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือไม่มีจริงก็ได้ (base on true story / base on novel) มักจะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการต่อสู้ชีวิต ครอบครัว มิตรภาพ ความรัก ความโลภ ชนชั้นสังคม อิทธิพลมืด และการเมือง แต่โครงเรื่องนั้นจะดำเนินในลักษณะเพ้อฝันคล้ายๆ กันคือ พระเอกหรือนางเอก เกิดมา ตกอับ ยากจน แล้วความมานะพยามยามที่อาศัยโชคช่วย ก็สามารถเอาชนะ ตัวผู้ร้ายขี้อิจฉาในเรื่องนั้น ๆ สำเร็จ ได้แต่งงานกับพระเอกรูปหล่อหรือนางเอกรูปงาม ที่มีคุณสมบัติครบพร้อมทั้งชาติตระกูลและฐานะที่ร่ำรวยมั่งคั่ง สุดท้ายก็มีชีวิตอย่างสุขสบาย สมหวังในตอนจบของเรื่อง ซึ่งการที่ผู้บริโภคชอบดูละครน้ำเน่าที่มีโครงเรื่องคล้ายๆ กันแบบนี้ ก็เพราะช่วยให้ลืมโลกแห่งความเป็นจริงที่มีแต่เรื่องทุกข์กังวลไปได้ชั่วคราว เพื่อไปอยู่ในโลกของความเพ้อฝันที่ตนรู้สึกมีส่วนร่วมในการแสดงบทบาทเป็นตัวพระเอกหรือนางเอกที่โชคดีในเรื่องดังกล่าว โดยแก่นของภาพยนตร์แต่ละเรื่องต้องการสร้าง"แรงบันดาลใจ" เพื่อเป็นจินตนาการที่อยากไปให้ถึงเป้าหมายด้วยการสะท้อนผ่านการดำเนินชีวิตของตัวเอกของภาพยนตร์นั้น ๆ
ในอดีตภาพยนตร์รางวัลออสการ์จะเป็นหนังทำเงิน คือเป็นภาพยนตร์ที่มีรายได้สูงและโด่งดังไปทั่วโลก ทำรายได้สูงติดอันดับ Box Office (การได้รับเงินมากจากการขายตั๋วในระหว่างเข้าฉายหรือการแสดงนั้น ๆ และเป็นตัวบ่งชี้ว่าผลงานนั้นมีความนิยมและได้รับความสนใจมากในตลาดปัจจุบัน) ซึ่งไม่เฉพาะแค่ตัวภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านชื่อเสียงและรายได้ แต่ยังรวมถึงบริษัทผู้สร้าง ผู้ผลิต ผู้กำกับ นักเขียนบท และนักแสดง อาทิเช่น Gone with the Wind (1939), The Sound of Music (1965), Titanic (1997), The Godfather (1972), Forrest Gump (1994), The Lord of the Rings (2003) Gladiator (2000 ), Slumdog Millionaire (2008) เป็นต้น
หากแต่พบว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ กลับไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูง ดูจากสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงติดอันดับ Box Office เข้าชิงรางวัลออสการ์แต่พ่ายแพ้ภาพยนตร์ชนะรางวัลออสการ์ที่รายได้ไม่สูง เช่น Frozen (2013 ) แพ้ให้กับ 12 Years a Slave (2013), The Jungle Book (2016 ) แพ้ให้กับ Moonlight (2016), Joker (2019) แพ้ให้กับ Parasite (2019), Avatar:The Way of Water (2022) แพ้ให้กับ Everything Everywhere All at Once (2022) เป็นต้น
วงการภาพยนตร์ในอดีตจะมีลักษณะเป็นปรากฎการณ์ “ปฏิภาคโดยตรง” (direct variation) หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งหรือหรือมากกว่า เมื่อสิ่งหนึ่งเพิ่ม อีกสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่ง ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างเป็นสัดส่วนกัน หรือเมื่อสิ่งหนึ่งลด อีกสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่ง ก็ลดลงตามไปด้วยอย่างเป็นสัดส่วนกัน กล่าวคือ เมื่อถึงเวลาแข่งขันชิงรางวัลออสการ์ ตัวเลือกภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงจะเป็นภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลออสการ์ หากแต่ในปัจจุบันไม่เป็นดังเช่นในอดีตแล้ว ปัจจุบันเกิดปรากฎการณ์ “ปฏิภาคผกผัน” (inverse variation) หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสองสิ่งหรือมากกว่า โดยที่สิ่งหนึ่งเปลี่ยนไป แล้วอีกสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่ง ไม่ได้เปลี่ยนแปรผันตรงไปในทิศทางเดียวกัน แต่แปรผันแบบผกผันไปในทิศทางที่สวนทางกัน กล่าวคือ เมื่อถึงเวลาแข่งขันชิงรางวัลออสการ์ ตัวเลือกภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงจะเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้รางวัลออสการ์ กลับกันภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลออสการ์เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ทำรายได้สูง
วิเคราะห์สาเหตุได้ว่า อาจมาจากกระแสสังคมและการเมืองประเทศสหรัฐอเมริกาในระยะหลังที่มีการแสดงออกทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง เรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ เช่น เพศสภาพ ชาติพันธุ์ หรือสีผิว ซึ่งทำให้ออสการ์เปลี่ยนแปลงเกณฑ์การให้รางวัลโดยภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลภาพยนต์ยอดเยี่ยมจะต้องมีพล็อตเรื่องที่ส่งเสริมประเด็นเหล่านี้ จึงทำให้ออสการ์กลายเป็นเวทีสะท้อนจุดยืนทางสังคมและการเมืองของคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับความนิยมมากในสังคมอเมริกันชน แต่ไม่ใช่กับผู้คนทั่วโลกที่จะซาบซึ้งไปกับภาพยนตร์ที่นำเสนอประเด็นดังกล่าว ซึ่งเห็นได้จากภาพยนตร์ที่ผู้คนจำนวนมากเลือกจ่ายเงินดูภาพยนตร์ Box Office รายได้สูง จะเป็นหนังแนววิทยาศาตร์ แฟนตาซี ประวัติศาสตร์ ตลกคอมเมดี้ หรือรักโรแมนติก ที่ดูแล้วเข้าถึงความสนุกง่าย และมีความสุขมากกว่าภาพยนตร์แนวรางวัลออสการ์ที่ดูแล้วจะมีรู้สึกความกดดันและเคร่งเครียด
มีข้อสังเกตว่าในปีนี้งานประกาศรางวัลออสการ์ 2024 หรือ "The Academy Awards" ครั้งที่ 96 ประจำปี 2024 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2567 ปีนี้ผลปรากฏว่าภาพยนตร์ "Oppenheimer (2024) " ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นภาพยนตร์แนวระทึกขวัญชีวประวัติของ เจ.โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน โครงการ แมนฮัตตัน โปรเจกต์ การสร้างอาวุธระเบิดปรมาณูที่มีพลังทำลายล้างรุนแรงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลก และภาพยนตร์ Oppenheimer สามารถทำรายได้สูงติดอันดับ Box Office จำนวน 960 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าปีนี้เป็นการกลับมาของหนังทำเงินที่สามารถคว้าออสการ์ได้ในรอบหลายปี
สรุปได้ว่าภาพยนตร์รางวัลออสการ์มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้เข้ากับสังคมในแต่ละช่วงสมัย ในอดีตผู้ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประสบความสำเร็จทางธุรกิจในด้านชื่อเสียงและรายได้ แต่ในปัจจุบันผู้ชนะรางวัลคือภาพยนตร์ที่เชิดชูประเด็นการขับเคลื่อนตามกระแสสังคม ดังนี้แล้ว ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คือ ภาพยนตร์ยอดนิยมตามปริมาณการบริโภคของผู้ชม หรือภาพยนตร์ที่คณะกรรมการตัดสินตามเกณฑ์คุณสมบัติ...??? ประเด็นนี้ก็ยังมิอาจตัดสินได้
+++______________________________________________________________+++
รูปภาพ : เครดิตบนภาพ