หลุยส์ ปาสเตอร์ กับการกำเนิด วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
วันนี้วันที่ 6 กรกฏาคม ก็ดูเหมือนวันธรรมดาทั่วๆวันหนึ่ง แต่วันนี้ในอดีตได้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติขึ้นมาอย่างหนึ่ง เพราะวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศส ประสบความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นครั้งแรกของโลก โดยใช้รักษาให้กับเด็กชาย โจเซฟ เมสเตร์ (Joseph Meister) วัย 9 ขวบ ในสมัยนั้น โรคพิษสุนัขบ้าแม้ว่าจะไม่ใช่โรคระบาดที่ร้ายแรงแต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนมาก เพราะเมื่อผู้ใดที่ถูกสุนัขบ้ากัดแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็จะต้องตายโดยไม่มีวิธีรักษาหรือป้องกันได้เลย จากการค้นคว้าปาสเตอร์พบว่าเชื้อสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลาย ดังนั้นเมื่อถูกน้ำลายของสุนัขที่มีเชื้อโรคอยู่ไม่ว่าจะถูกเลียหรือถูกกัด เชื้อโรคในน้ำลายก็จะซึมเข้าไปทางแผลสู่ร่างกายได้ ปาสเตอร์ได้นำเชื้อมาเพาะวัคซีน แล้วนำไปทดลองกับสัตว์ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี แต่เขาก็ยังไม่กล้านำมาทดลองกับคน จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กชายเมสเตร์ถูกสุนัขบ้ากัด ไหนๆก็จะต้องตายอยู่แล้ว พ่อแม่จึงได้นำบุตรชายมาให้ปาสเตอร์ทดลองรักษา ปรากฏว่าเด็กน้อยไม่ป่วยเป็นโรคสุนัขบ้า การค้นพบครั้งนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากนั้นในปี 2431 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้ง สถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ขยายสถาบันปาสเตอร์ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า สถานเสาวภา ก่อตั้งในปี 2455 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปัจจุบันเป็นหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทยนั่นเอง