ชาวยัมนายา เป็นคนกลุ่มแรกที่รู้จักการขี่ม้า
การเดินทางในยุคโบราณนั้น ส่วนใหญ่ใช้ม้าเป็นสัตว์พาหนะ เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าคนกลุ่มแรกที่ขี่ม้าคือใคร โดยจากการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์โบราณในเนินฝังศพหลายแห่งทั้งที่ฮังการี โรมาเนีย และบัลแกเรีย บ่งชี้ถึงอาการบาดเจ็บของกระดูกที่เกิดจากการขี่ม้า โดยโครงกระดูกเหล่านี้มาจากวัฒนธรรมยัมนายา (Yamnaya Culture) กลุ่มชนเร่ร่อนที่เคยอาศัยอยู่ในแถบยุโรปตะวันออกเฉียงใต้เมื่อราว 5,500 ปีที่แล้ว จากโครงกระดูกจำนวน 5 ร่าง แสดงถึงอาการบาดเจ็บบนกระดูก ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน รวมถึงกระดูกโคนขา
ลักษณะอาการเหล่านี้ยังปรากฏอยู่ในโครงกระดูกอีก 4 ร่าง ที่สัณนิษฐานว่า เป็นคนในวัฒนธรรมที่ได้อิทธิพลจากชาวยัมนายาอีกทีนึง ถึงแม้การค้นพบนี้จะสามารถชี้ได้ว่า ชาวยัมนายาเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ของโลกที่เริ่มต้นขี่ม้า แต่โวลเกอร์ ไฮด์ (Volker Heyd) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ก็ให้ความคิดเห็นว่า หลักฐานดังกล่าวไม่ได้บอกชัดเจนว่า ชาวยัมนายาเป็นคนกลุ่มแรกจริง แต่ก็เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดเท่าที่มีในตอนนี้
สำหรับชาวยัมนายา พวกเขาเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษที่พูดภาษาโปรโตอินโด-ยูโรเปียน (Proto-Indo-European หรือ PIE) และด้วยการที่พวกเขาขี่ม้าเป็น จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน ที่วิวัฒนาการต่อจากนั้น สามารถแพร่กระจายตั้งแต่ยุโรปไปจนถึงเอเชียใต้ได้ การขี่ม้าของชาวยัมนายากลายเป็นชุดข้อมูลใหม่ ที่เชื่อมตรงกลางระหว่างชุดข้อมูลเดิมสองชุดที่มีอยู่ก่อน เพราะก่อนหน้านั้นนักโบราณคดีค้นพบว่า คนกลุ่มแรกที่เริ่มต้นเลี้ยงม้า คือกลุ่มคนในพื้นที่คาซัคสถานตั้งแต่เมื่อ 5,500 ปีที่แล้ว ส่วนการนำม้ามาใช้ในการสงคราม ก็เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 4,500 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามการใช้ม้าของชาวยัมนายานั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ในสงคราม เนื่องจากม้าของพวกเขาไม่ค่อยแข็งแรงและตื่นกลัว ส่วนม้าที่ใช้ในสงครามจะเป็นม้าที่ผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์มาแล้วนั่นเอง